ประเทศไทยผลิตทุเรียนได้มากเป็นอันดับที่ ๑ ของโลก โดยมีตลาดภายในประเทศเป็นแหล่งรองรับผลผลิตส่วนใหญ่ และมีการส่งออกทุเรียนในรูปของผลไม้สดเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทุเรียนเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลถือเป็นนโยบายอันดับต้นๆ ที่จะผลิตทุเรียนเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก ทำให้เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ส่งออกขวนขวายหาแนวทางดำเนินการให้ได้ดีที่สุด ความสำเร็จในการทำสวนทุเรียนขึ้นอยู่กับความสามารถของชาวสวนทุเรียนในการควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้มากน้อยเพียงใด หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความสามารถในการ "สั่งได้" ว่าจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเมื่อใด ปริมาณเท่าไร และมีคุณภาพดีเพียงใด ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนจากการทำสวน หรือรายได้ของชาวสวนทุเรียน ขึ้นอยู่กับราคา ปริมาณ เวลา และคุณภาพของผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นหลัก การกำหนดราคาของผลผลิตทุเรียนนอกจากพิจารณาจากอุปสงค์ และอุปทาน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานทั่วๆ ไปแล้ว ก็ยังพิจารณาจากคุณภาพของผลผลิตอีกด้วย โดยมีการแบ่งผลผลิตทุเรียนออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ผลผลิตที่มีคุณค่าทางการตลาด คือ ผลผลิตที่มีคุณภาพสามารถจัดแบ่งออกตามชั้นมาตรฐานคุณภาพ และการกำหนดราคาของผลผลิตก็แตกต่างกันตามชั้นมาตรฐานคุณภาพนั้นๆ
๒. ผลผลิตที่ด้อยคุณค่าทางการตลาด คือ ผลผลิตที่เน่าเสีย เนื่องจากโรคหรือแมลงเข้าทำลาย ผลผลิตที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินกว่าชั้นมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด รูปทรงบิดเบี้ยว และมีอาการแกน เต่าเผา หรือไส้ซึม ผลผลิตที่ด้อยคุณภาพจะมีการเหมาขายกันในราคาถูก
ในการผลิตทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางการตลาดในปริมาณมาก นักวิจัยได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต อย่างครบวงจร และเผยแพร่สู่เกษตรกรให้สามารถ นำไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงปฏิบัติของเกษตรกรแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม
เกษตรกรผู้ผลิตก็มีแนวทางในการตัดสินใจเลือกการจัดการปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับระยะต่างๆ ของพัฒนาการของทุเรียน และสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ปัจจัยการผลิตทุเรียน ที่สมควรจัดการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ประกอบด้วยต้นทุเรียน ปุ๋ย น้ำ และสารเคมีที่ใช้ในการอารักขาพืช
ต้นทุเรียนเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความแปรปรวนสูง ผลที่ออกมาในรูปของผลผลิต และคุณภาพจึงแตกต่างกันมาก ระหว่างต้นต่อต้น แม้ว่าจะปลูกในสวนเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีการจัดการที่ครบวงจร เพื่อให้การผลิตเกิดความสม่ำเสมอ ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพของผลผลิต เทคโนโลยีการจัดการที่ครบวงจร เริ่มด้วยการเตรียมสภาพของต้นให้พร้อมเพื่อการออกดอก การจัดการเพื่อส่งเสริมการออกดอกและติดผล และการจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต
๑. การจัดการเพื่อส่งเสริมการออกดอก
ต้นทุเรียนที่สมบูรณ์และมีสภาพความพร้อมดีมาก เมื่อผ่านช่วงฝนแล้งที่ต่อเนื่องนานเกิน ๑๐ วัน ต้นทุเรียนจะออกดอกในปริมาณมากและเป็นดอกรุ่นเดียวกัน ซึ่งจะสะดวกและง่ายต่อการจัดการเพื่อให้มีการติดผล การตัดแต่งผล การไว้ผลเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต และการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต แต่ถ้าต้นทุเรียนมีสภาพความพร้อมไม่ดีพอ ในขณะที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม หรือต้นทุเรียนมีสภาพความพร้อมดีมาก แต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีความเหมาะสมน้อย ต้นทุเรียนก็จะออกดอกในปริมาณน้อย และเป็นดอกหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต้นทุเรียนที่มีอายุมาก กิ่งมีขนาดใหญ่ ทำให้เป็นปัญหาในด้านการจัดการ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการเสริมเพื่อ ช่วยกระตุ้นให้ต้นทุเรียนออกดอกในปริมาณมาก และเป็นดอกรุ่นเดียวกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- กรณีที่ต้นทุเรียนยังมีสภาพไม่พร้อม แต่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม เมื่อมีช่วงฝนแล้งต่อเนื่องกันมากกว่า ๑๐ วัน แต่ต้นทุเรียนยังมีสภาพไม่พร้อม กล่าวคือ ใบยังไม่แก่ ยอดยังไม่ตั้ง ให้จัดการเสริมโดยการฉีดพ่นใบด้วย "สูตรทางด่วน" ร่วมกับสาร Mepiquat chloride อัตรา ๕๐ ซีซี./น้ำ ๒๐ ลิตร "สูตรทางด่วน" จะช่วยเร่งให้ใบและยอดของทุเรียนแก่เร็วขึ้น ในขณะที่ Mepiquat chloride จะช่วยลดปริมาณจิบเบอเรลลินในต้นลงได้ระดับหนึ่ง ทำให้การเจริญเติบโตด้านกิ่งก้านสาขา ลดลง ในกรณีที่มีช่วงฝนแล้งนานผิดปกติ ต้องให้น้ำในปริมาณเล็กน้อย คือ พอให้ผิวดินเปียกวันละครั้ง การจัดการทั้งหมดจะช่วยให้ทุเรียนออกดอกในปริมาณมาก และเป็นดอกรุ่นเดียวกัน
- กรณีที่ต้นทุเรียนมีสภาพพร้อม แต่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การที่มีช่วงฝนแล้งต่อเนื่องกัน ๓-๔ วัน แล้วมีฝนตกลงมาครั้งหนึ่ง ตามด้วยช่วงฝนแล้งอีก ๓-๔ วันสลับกันไป มีผลทำให้ต้นทุเรียนมีการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้านสาขาได้อีก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุเรียนออกดอกหลายรุ่น และแต่ละรุ่นมีปริมาณดอกน้อย ปัญหาในกรณีเช่นนี้แก้ไขได้โดยการใช้โพแทสเซียมไนเทรต (KNO3) ในอัตรา ๑๕๐ กรัม ร่วมกับฟลอริเจนในอัตรา ๔๐ ซีซี. ผสมในน้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นพอเปียก สามารถกระตุ้นให้ต้นทุเรียนออกดอกในปริมาณมาก และเป็นดอกรุ่นเดียวกัน
๒. การจัดการเพื่อส่งเสริมการติดผล
การติดผลเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในการกำหนดปริมาณผลผลิตต่อต้น ดังนั้น หากต้องการที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิต จึงจำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อส่งเสริมการติดผล ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ตัดแต่งดอกให้เป็นดอกรุ่นเดียวกัน ตัดแต่งดอกรุ่นที่มีปริมาณน้อยออกให้เหลือดอกเพียงรุ่นเดียวในแต่ละกิ่ง หรือเป็นดอกรุ่นเดียวกันทั้งต้น ในกรณีที่ดอกมีปริมาณมาก ให้ตัดแต่งและเหลือดอกไว้เป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน ๒๐ ดอก แต่ละกลุ่มห่างกันพอเหมาะตามตำแหน่งที่คาดว่าจะไว้ผล ในกรณีที่มีดอกหลายรุ่น และแต่ละรุ่นมีปริมาณดอกจำนวนใกล้เคียงกัน ให้พิจารณาตัดแต่งให้เหลือเป็นดอกรุ่นเดียวกันในแต่ละกิ่ง โดยกระจายปริมาณของดอกทั่วต้นให้เหลือจำนวนพอประมาณ การตัดแต่งดอกควรดำเนินการในระยะมะเขือพวง (ประมาณ ๓๐ วัน หลังจากเกิดดอกในระยะไข่ปลา)
- จัดการน้ำเพื่อช่วยการติดผลและขึ้นลูก การจัดการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำในช่วงพัฒนาการต่างๆของดอกและผลอ่อน มีบทบาทสูงในการช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของดอกและผลอ่อนได้เป็นอย่างดี และเพิ่มการติดผลและขึ้นลูกของทุเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ดอกทุเรียนในระยะเหยียดตีนหนูต้องให้น้ำในปริมาณสูง แต่ลดปริมาณน้ำลงประมาณร้อยละ ๔๐ ในช่วงระยะดอกขาวจนถึงระยะผลอ่อนอายุ ๑ สัปดาห์ หลังดอกบาน รักษาปริมาณความชื้นในดินให้สม่ำเสมอโดยให้น้ำครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยครั้ง และเมื่อปลายยอดเกสรตัวเมียที่ติดอยู่กับผลอ่อนเริ่มไหม้และแห้งเป็นสีน้ำตาลแก่ จึงเริ่มเพิ่มปริมาณน้ำที่ให้ขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเน้นการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อผลอ่อนมีอายุประมาณ ๓ สัปดาห์หลังดอกบาน และปลายยอดเกสรตัวเมียที่ติดอยู่กับผลอ่อนมีลักษณะแห้ง เป็นสีดำ จึงเพิ่มปริมาณน้ำที่ให้มากขึ้นตามคำแนะนำ และรักษาสภาพความชื้นในดินให้สม่ำเสมอไป จนผลอ่อนมีอายุ ๕ สัปดาห์หลังดอกบาน ในกรณีที่มีฝนตกปริมาณมาก ในช่วงเวลาใกล้ดอกบาน ให้พยายามรักษาสภาพความชื้นในดินและความชื้นบรรยากาศ ภายใต้ทรงพุ่มให้สม่ำเสมอ โดยการให้น้ำทุกๆ วัน แต่ในปริมาณวันละไม่มากนัก กวาดเศษซากของดอกที่ร่วงออกให้หมดจาก บริเวณผิวดินใต้ทรงพุ่มเพื่อช่วย ในการถ่ายเทอากาศตรงบริเวณผิวดินให้ดีขึ้น จะช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของดอกและผลอ่อนได้ในระดับหนึ่ง
- การช่วยผสมเกสร การติดผลน้อยของทุเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุเรียนพันธุ์ชะนี เป็นปัญหาที่สำคัญ การช่วยผสมเกสรโดยใช้ละอองเกสรจากทุเรียนต่างพันธุ์ จึงเป็นการช่วยทำให้กระบวนการถ่ายละอองเกสรประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิสนธิ ปริมาณการติดผลจึงเพิ่มขึ้น ผลทุเรียนที่เกิดจากการช่วยผสมเกสร จะมีการเจริญเติบโตเร็ว รูปทรงดี พูเต็ม คุณภาพเนื้อดี สีเนื้อ และรสชาติไม่แตกต่างจากพันธุ์แม่ ปริมาณเนื้อที่รับประทานได้ต่อผลเพิ่มขึ้น
- ฉีดพ่นด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต การช่วยผสมเกสร เป็นสิ่งจำเป็นการปฏิบัติต้องใช้เวลาและแรงงาน จึงจะทำให้การผสมเกสรนั้นได้ผลดีตามต้องการ ในกรณีเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีพื้นที่ในการปลูกทุเรียนตั้งแต่ ๓-๑๕ ไร่ การช่วยผสมเกสรสามารถปฏิบัติได้ แต่ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ ก็จะมีปัญหาในด้านการปฏิบัติ จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการอื่น พบว่า การฉีดพ่นใบทั่วทั้งต้นด้วยสารแพกโคลบิวทราโซล ในอัตรา ๕๐๐ ส่วนต่อล้านส่วน ในช่วงที่ดอกทุเรียนอยู่ในระยะกระดุมหรือหัวกำไล จะช่วยทำให้มีการติดผลได้ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับการ ช่วยผสมเกสร และคุณภาพของผลผลิตไม่แตกต่างกัน