มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ได้รับปัจจัยสี่ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย แต่ขณะเดียวกันการกระทำของมนุษย์เองได้ส่งผลกระทบต่อสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเนื่องจากความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร ได้มีผลทำให้เกิด การแก่งแย่งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฟุ่มเฟือยและไม่มีแผนการจัดการโดยมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด
แต่เพียงอย่างเดียว จึงมีผลทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการแพร่กระจายของภาวะมลพิษจากขบวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น ๆ ด้วยประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยขาดความระมัดระวังและคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอมาโดยตลอด จึงมีผลทำให้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและการแพร่กระจายของปัญหามลพิษ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จนเห็นได้อย่าง
ชัดเจนในปัจจุบัน อาทิเช่น พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุก ทำลาย จนมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับการรักษาสภาพความสมดุลของระบบธรรมชาติหรือระบบนิเวศ หรือภาวะน้ำเน่าเสียในแม่น้ำสายหลัก ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง หรือภาวะอากาศเสียในเขต กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก อันเนื่องมาจากควันพิษรถยนต์ การเกิดปฏิบัติการเรือนกระจก (โลกร้อน) เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศมีสภาพที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไปนั้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการจึงเป็นวิธีการที่จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการทั้งนี้เพื่อที่จะสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไว้ให้มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยอย่างยาวนานต่อไป รวมทั้งยังจะก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศด้วย.
การจัดการ (Management) หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบต่าง ๆทั้งด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซมการใช้อย่างประหยัด และการสงวนรักษา เพื่อให้กิจกรรมที่ดำเนินการนั้นสามารถให้ผลยั่งยืน ต่อมวลมนุษย์และธรรมชาติ โดยหลักการแล้ว "การจัดการ" จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานขบวนการ และขั้นตอน รวมทั้งจุดประสงค์ในการดำเนินงานที่ชัดเจนแน่นอนจากคำจำกัดความข้างต้น
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การดำเนินงานต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการจัดหาการเก็บรักษา การซ่อมแซม การใช้อย่างประหยัดและการสงวนรักษา เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์ได้ใช้ตลอดไปอย่างไม่ขาดแคลนหรือมีปัญหาใด ๆ หรืออาจจะหมายถึง กระบวนการจัดการ แผนงานหรือกิจกรรมในการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนองความต้องการในระดับต่าง ๆ ของมนุษย์และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ - สังคมและคุณภาพ สิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการอนุรักษ์ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาดประหยัด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ถ้าเราจะกำหนดว่าสิ่งแวดล้อมที่เรากล่าวกันทั่ว ๆ ไปนั้น เป็นเรื่องของปัญหาภาวะมลพิษอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือจากผลของความก้าวหน้าของการพัฒนาแล้วเราก็สามารถให้คำจำกัดความแยกระหว่างการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดังนี้
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตามธรรมชาติและให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งในด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซมการใช้อย่างประหยัด รวมทั้ง การสงวนเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นสามารถให้ผลได้อย่างยาวนานการจัดการสิ่งแวดล้อม หมายถึง การ ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรามีผลดีต่อคุณภาพชีวิต นั่นก็คือจะต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภาวะปลอดภัย นั่นเอง
ปัจจุบันปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาที่สำคัญ การนำสิ่งเหลือใช้มาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์ขึ้นใหม่ จะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ขยะลดน้อยลงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องยึดหลักการทางอนุรักษ์วิทยาเพื่อประกอบ การดำเนินงานในการจัดการ ดังนี้ คือ
๑) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมจะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ใช้อย่างฉลาดหรือใช้ตามความจำเป็น ไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยและไม่เกิดการสูญเปล่า หรือเกิดการสูญเปล่า น้อยที่สุด
๒) การประหยัดของที่หายากและของที่กำลังสูญพันธุ์
๓) การปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งที่เสื่อมโทรมให้คืนสภาพก่อนนำไปใช้ เพื่อให้ระบบสิ่ง แวดล้อมดีขึ้น