ภายในบริเวณวัดซึ่งมีกำแพงล้อมไว้โดยรอบนั้น ประกอบด้วยพื้นที่ ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ “เขตพุทธาวาส” สำหรับใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม และเป็นที่ตั้งสิ่งปลูกสร้างประเภทปูชนียสถานและศาสนสถานกับ “เขตสังฆาวาส” สำหรับใช้เป็นที่พำนักของภิกษุและสามเณร
ในเขตสังฆาวาสมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. กุฏิ คือ เรือนหรือตึกสำหรับเป็นที่อยู่ของพระภิกษุและสามเณร กุฏิทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับเรือนทรงไทย ปลูกเป็นหลังยาว ๆ แล้วกั้นฝาประจันแบ่งเป็นห้อง ๆ เพื่อให้พระภิกษุหรือสามเณรอยู่ห้องละองค์ตามวินัยบัญญัติ กุฏิแต่ละหลังมักปลูกขึ้นเป็นหมู่ โดยหันด้านหน้าเข้าหากัน มีชานนอกเป็นพื้นโล่งเชื่อมถึงหน้ากุฏิทุกหลังพื้นที่ตรงกลางชานนอกมักสร้างเรือนโถงขึ้นหลังหนึ่งเรียกว่า “หอฉัน” สำหรับพระภิกษุและสามเณรปฏิบัติภัตกิจในแต่ละวันกฏิที่ปลูกสร้างเป็นลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า “คณะหมู่” นิยมสร้างขึ้นให้เป็นที่อยู่สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ คือคณะสงฆ์ที่เล่าเรียนพระคัมภีร์หรือการศึกษาพระปริยัติธรรมกับกุฏิอีกลักษณะหนึ่งที่ปลูกสร้างขึ้นแบบเรือนทรงไทย เป็นหลังโดดๆ และมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ภายในกว้างพอสำหรับพระภิกษุรูปเดียวพำนักอยู่ได้ กุฏิลักษณะนี้อาจสร้างขึ้นได้หลายๆ หลัง แต่จัดให้อยู่ห่างๆ กันในบริเวณเดียวกัน หมู่กุฏิลักษณะนี้เรียกว่า “คณะกุฎิ์” นิยมสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ คณะสงฆ์ที่ศึกษาด้านการเจริญวิปัสสนา หรือ กิจการของพระศาสนาในด้านการบำเพ็ญกรรมฐาน วัดแห่งหนึ่งอาจมีทั้งคณะหมู่ และคณะกุฎิ์แต่บางวัดอาจมีเพียงคณะเดียวเท่านั้น
๒. ศาลาการเปรียญ คือ สิ่งปลูกสร้างลักษณะคล้ายเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงเสมอศีรษะคนยืน มีเฉลียงโดยรอบ กั้นฝาแต่ละด้านเป็นฝาโปร่งๆ ภายในศาลาตอนที่อยู่ชิดฝา ด้านหนึ่งทำยกพื้นเป็น “อาสน์สงฆ์” สำหรับพระสงฆ์ขึ้นนั่งเจริญพระพุทธมนต์ตรงหัวอาสน์สงฆ์ด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปและเครื่องบูชา ศาลาการเปรียญได้รับการสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับพระสงฆ์ในวันธรรมดากับบรรดาพุทธศาสนิกชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในการบำเพ็ญกุศลโนวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางพุทธศาสนา
๓. หอกลอง - หอระฆัง คือ สิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นหอสูง ประกอบด้วยเสา ๔ ต้น ตั้งขึ้นไปรับพื้นหอ มีหลังคาคลุมตัวหอเปิดโล่งทั้ง ๔ ด้าน ทำพื้นเป็นชั้นและทำบันไดขึ้นไปจนสุดชั้นบน ที่เพดานชั้นบนแขวนระฆังไว้ ๑ ลูก ส่วนชั้นล่างลงมาแขวนกลองขนาดย่อมไว้ ๑ ลูก บางวัดอาจสร้างหอขึ้นสำหรับไว้กลองโดยเฉพาะ หอกลอง - หอระฆังนี้สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่สำหรับตีระฆังและตีกลองเพื่อแจ้งเวลาแก่พระสงฆ์ให้ทราบสำหรับทำ “วัตรปฏิบัติ” ประจำวันตามปกติ ในเวลากลางวันจะตีกลอง ส่วนกลางคืนจะตีระฆัง สาเหตุที่ต้องทำเป็นหอสูงๆ ก็เพื่อที่จะให้เสียงดังไปไกล ๆ บรรดาชาวบ้านในละแวกวัดจะได้ทราบเวลาระหว่างวันและคืนด้วย
๔. ศาลาบาตร คือ สิ่งปลูกสร้างขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นแคร่ หรือฐานก่ออิฐยกพื้นมีความสูงเสมอเอว และกว้างพอตั้งบาตรได้ความยาวไม่จำกัด แต่ต้องมีหลังคาคลุมตลอด ศาลาบาตรนี้มักสร้างไว้ใกล้กับศาลาการเปรียญ สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรเรียงรายเป็นแถว เพื่อรอรับบรรดาพุทธศาสนิกชนมาตักบาตรในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
๕. เว็จกุฎี คือ สิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์และสามเณรถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ แต่เดิมสร้างขึ้นลักษณะคล้ายเรือนทรงไทย โดยทำเป็นหลังยาวๆ ขนาดเล็ก ยกพื้นสูง หน้าเรือนมีระเบียงแคบทอดไปตามยาว ภายในเรือนกั้นฝาแบ่งเป็นห้องเล็กๆ พอนั่งถ่ายทุกข์ได้เฉพาะตัว ด้านหน้าเปิดเป็นช่องประตูแต่ไม่มีบานปิด มีแต่แผงไม้ขนาดสูงเสมอหัวเข่ากั้นขวางไว้ เพื่อกันไม่ให้คนที่อยู่ภายนอกมองเห็นคนที่อยู่ภายในได้ พื้นตรงกลางห้องเจาะทำช่องกลมๆ ไว้สำหรับถ่ายอุจจาระ และมีแผ่นไม้เซาะเป็นรางรองรับปัสสาวะให้ไหลไปตามรางซึ่งยาวลอดรูฝาด้านหลังไปตกข้างนอกห้องใต้ถุนเว็จกุฎีก่ออิฐเป็นฝาล้อมไว้กันอุจาด เว็จกุฎีลักษณะที่อธิบายมานี้ ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็น เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ส้วมแบบสมัยใหม่กันเป็นส่วนมาก
วัดไทยแต่ละแห่งที่ได้สร้างขึ้นในแต่ละสมัย บางวัดอาจมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นอย่างครบถ้วน หรืออาจจะมีเฉพาะสิ่งที่สมควรแก่หน้าที่และประโยชน์ ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าแต่ละวัดต้องมีสิ่งปลูกสร้างทุกสิ่งดังที่ได้แสดงไว้
อนึ่ง วัดไทยในอดีตนั้นยังได้รับการกำหนดที่ตั้งวัดที่ต่างกันไปตามคตินิยมในพุทธศาสนา คือ วัตประเภทหนึ่งได้รับการสร้างขึ้นภายในเมือง เพื่อใช้เป็นศาสนสถานสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระได้พำนักเรียกว่า วัดประเภท “คามวาสี” คืออยู่ร่วมกับหมู่บ้าน ส่วนวัดอีกประเภทหนึ่งไปตั้งอยู่ในเขตป่านอกเมือง ซึ่งไกลออกไปประมาณ๕๐๐ ชั่วคันธนู เป็นศาสนสถานสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เรียกว่า วัดประเภท “อรัญวาสี” คืออยู่ตามป่าห่างจากชุมชน
วัดไทยสร้างขึ้นโดยพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์และกำลังกายสร้างขึ้นถวายไว้เพื่อธำรงพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่พำนักของพระสงฆ์ผู้รับภาระหน้าที่รักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเป็นสถานศึกษาสำหรับการอบรมจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ วัดจึงได้รับการจัดสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยวัดที่พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์โปรดให้สร้างขึ้นจัดเป็น พระอารามหลวง หรือวัดหลวง ตลอดจนวัดที่บรรดาขุนนางหรือคหบดีจัดสร้างขึ้น แล้วถวายพระเจ้าแผ่นดินเพื่อทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็จัดเป็นพระอารามหลวงด้วยเช่นกัน ส่วนวัดที่ราษฎรร่วมกันสร้างขึ้นโดยทั่วไปนั้นเรียกว่า วัดราษฎร์
วัดไทยจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นพุทธศาสนสถาน คือเป็นสถานที่โดยเฉพาะของบรรดาพุทธศาสนิกชนที่ควรให้ความนับถือและแสดงการคารวะนับตั้งแต่ย่างเข้าเขตของวัด แม้แต่วัดร้างที่อยู่ในสภาพปรักหักพังก็ควรนับถือว่าเป็นพุทธศาสนสถานเพราะปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่ยังคงเหลืออยู่บ้างานวัดร้างนั้น ล้วนแต่เป็น “พุทธานุสรณ์” สำหรับบรรดาพุทธศาสนิกชนได้ถือเอาเป็นอนุสติ และเห็นถึงความสำคัญของพระรัตนตรัย มิใช่จะเห็นเป็นเพียงเศษอิฐเศษปูนในลักษณะของโบราณสถานเท่านั้น
ดูเพิ่มเติมเรื่อง การศาสนา เล่ม ๔ ประติมากรรมไทย เล่ม ๑๔ การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และการอนุรักษ์ โบราณสถานและโบราณวัตถุ เล่ม ๑๖