ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เครื่องไม้, เครื่องไม้ หมายถึง, เครื่องไม้ คือ, เครื่องไม้ ความหมาย, เครื่องไม้ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เครื่องไม้

          ไม้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มนุษย์มีความสัมพันธ์กับไม้มาแต่สมัยเริ่มแรกแล้ว ประการแรกมนุษย์ได้ใช้ไม้สร้างที่อยู่อาศัย เมื่อมีวิวัฒนาการต่อมามนุษย์จึงรู้จักใช้ไม้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในการดำรงชีวิต และเมื่อได้รับความสะดวกสบายอย่างเพียงพอแล้ว ก็เริ่มสนใจในเรื่องของความสวยงาม ซึ่งให้ประโยชน์ทางอารมณ์ จึงเริ่มสร้างเครื่องไม้ขึ้นไว้สำหรับชื่นชมอีกด้วย เครื่องไม้ทั้งสองประเภท คือ เครื่องไม้ประเภทเครื่องมือเครื่องใช้และประเภทสวยงามนี้ เป็นงานหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ วัสดุสำคัญที่คนไทยใช้ทำคือ ไม้สักซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมากเพราะเนื้อไม้ไม่แข็งไม่หดตัว และปลวกไม่กัดกินทำลายเนื้อไม้ นอกจากนี้แล้วก็มีไม้ชิงชัน ไม้โมกมันและไม้แดง เครื่องมือและเครื่องใช้ที่ทำจากไม้เหล่านี้คือหีบใส่ของ กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องหีบอ้อย นมไม้ กระจ่าสำหรับตักของ สาก ครกกระเดื่อง กระสวย (เครื่องบรรจุด้ายสำหรับทอผ้า) ไน (เครื่องมือปั่นฝ้าย) โปง (ที่แขวนคอสัตว์) หรือฮอก (ภาษาเหนือ) กระสม (ไม้ที่อยู่ในเครื่องทอผ้าสำหรับบิดม้วนผ้าที่ทอแล้ว) เครื่องเรือน (เตียงตั่ง) และเชี่ยนหมาก ซึ่งนิยมใช้กันในอดีตทางภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดขอนแก่น

          สำหรับเชี่ยนหมากนี้มีเรื่องเล่ามาแต่อดีตว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่จังหวัดมหาสารคาม มีครอบครัวชาวนาอยู่ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกชายและลูกสาว ลูกชายมีความพึงพอใจลูกสาวของหมอกลางบ้านในละแวกนั้น เป็นประเพณีของชาวอีสานเมื่อผู้ชายต้องการจะสู่ขอหญิงเพื่อจะแต่งงานกันนั้น จะต้องเอาเชี่ยนหมากให้กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เชี่ยนหมากที่จะให้นี้จะมีรูปลักษณะแตกต่างกันไปตามฐานะ คนมีเงินก็อาจให้เชี่ยนหมากเงิน คนพอมีฐานะก็จะให้เชี่ยนหมากทองเหลือง ส่วนคนธรรมดาก็จะให้เชี่ยนหมากไม้หรือจักสาน ซึ่งซื้อมาจากช่างไม้ชาวบ้านนั่นเองลูกชายของครอบครัวชาวนาดังกล่าวนี้เป็นคนมีฝีมือและนิสัยรักงานช่าง จึงทำเชี่ยนหมากขึ้นเอง เพื่อประสงค์จะเอาไปเป็นของกำนัลสู่ขอลูกสาวหมอกลางบ้านดังกล่าว ลูกชายได้ทำเชี่ยนหมากอย่างสวยงามจนสุดฝีมือ ใครได้เห็นก็ชมเชยจนเป็นที่เลื่องลือกันจนทั่วหมู่บ้าน จนความทราบถึงลูกสาวของหมอ ทำให้อยากเห็นเชี่ยนหมากขึ้นมาเป็นอย่างมาก ในที่สุดลูกชายชาวนาก็ได้แต่งงานกับลูกสาวของหมอสมความปรารถนา เรื่องนี้เป็นที่ประทับใจแก่พวกหนุ่มๆ ในหมู่บ้านจนพากันทำตามอย่าง

          การทำเชี่ยนหมากได้เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย โดยเฉพาะบรรดาคนหนุ่มๆ ในหมู่บ้านชนบทแถบนั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เชี่ยนหมากที่หนุ่มๆ ชาวบ้านทำขึ้นเพื่อที่จะให้แก่บรรดาสาวคนรักของตนหรือขายให้แก่ผู้ที่ต้องการหรือผู้ที่ไม่มีฝีมือที่จะทำขึ้นได้เองได้เปลี่ยนมือผู้ทำมาเป็นพระ พระภิกษุทำเชี่ยนหมากขึ้นมาก็เพื่อประสงค์ที่จะเอาไว้ให้กับชาวบ้านเป็นของตอบแทนแก่ผู้ที่มาทำบุญ ในเวลานั้นพระจึงมีบทบาทสำคัญในการทำเชี่ยนหมาก ต่อมาการกินหมากไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากทางราชการได้ห้ามกิน  มีผลกระทบทำให้การทำเชี่ยนหมากลดน้อยลงโดยปริยายและสูญหายไปในที่สุด เชี่ยนหมากมีหลายรูปแบบ มีชนิดที่ทาสี ชนิดสีธรรมชาติ ชนิดที่มีลายแกะด้านข้าง บ้างก็มีฝาเลื่อนปิดได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นงานฝีมือที่มีศิลปะทั้งสิ้น

          นอกจากเครื่องไม้ที่เป็นเครื่องใช้ภายในครัวเรือนแล้ว ชาวบ้านยังใช้ไม้ทำชิ้นส่วนของอาคารและสถานที่ ส่วนมากเป็นการประดับและตกแต่งให้งดงาม เช่น ลายฉลุไม้ประดับส่วนบนของช่องลมและประตูหน้าต่าง ไม้ค้ำยันชายหลังคา จั่วหลังคาหน้าบันโบสถ์หรือวิหาร ลูกกรง หัวเสา งานเหล่านี้ช่างชาวบ้านจะช่วยกันทำ อาคารส่วนใหญ่จะเป็นเรือนพักอาศัยภายในหมู่บ้าน รองลงมาคือ วัดและศาลพระภูมิ ชาวบ้านจะทำขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการของตนเองและเพื่อเป็นพุทธบูชา ทำด้วยฝีมือที่ประณีต และมักจะตกแต่งเพิ่มเติมให้สวยงามตามทัศนะของตนเอง การตกแต่งนั้นก็มีหลายวิธีวิธีที่นิยมกันคือ แกะสลักและฉลุ กรรมวิธีการแกะหรือการจำหลัก ซึ่งเป็นศัพท์ทางวิชาการนั้นแบ่งออกได้เป็น ๓ ลักษณะคือ แกะเป็นรูปนูนต่ำหรือภาพจำหลักแบน รูปนูนสูงหรือภาพจำหลักนูนและรูปลอยตัว ช่างชาวบ้านจะมีทั้งเด็กหนุ่มและคนแก่ ส่วนมากไม่เคยได้เล่าเรียน การแกะหรือฉลุมาจากสถาบันการศึกษาแห่งใด แต่จะเรียนรู้จากการถ่ายทอดด้วยวาจาและการปฏิบัติจากบรรพบุรุษ

          หัตถกรรมเครื่องไม้ประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เครื่องเล่น เครื่องดนตรี และเครื่องประดับตกแต่ง เช่น หมากขุม ลูกข่าง โปงลาง ซึง ตุ๊กตา โดยเฉพาะช้างไม้ การแกะช้าง ทำกันมากทางภาคเหนือ เนื่องจากช้างเป็นพาหนะสำคัญที่ใช้สำหรับขนท่อนซุงออกมาจากป่า เพื่อนำส่งยังโรงงานตัดไม้อีกทีหนึ่ง ช่างชาวบ้านได้เกิดความบันดาลใจในการทำงานของช้าง จึงนำเอาช้างในอากัปกิริยาต่างๆ มาเป็นเนื้อหาสำหรับแกะสลัก นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น ในอดีตสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงใช้ช้างเป็นพาหนะและใช้ในการออกศึกด้วย และช้างเคยเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติไทย เราจึงนิยมนำเอาช้างมาเป็นแบบในการแกะ ศิลปะแห่งการจำหลักหรือแกะไม้นั้นได้กระทำกันมาแต่โบราณกาล แต่เนื่องจากไม้เป็นวัตถุที่เกิดความเสียหายได้ง่ายด้วยสาเหตุทั่วไปและด้วยความชื้นของอากาศ งานจำหลักไม้จึงเหลือตกมาถึงยุคปัจจุบันนี้เพียงจำนวนน้อย และผลงานที่เก็บรักษาไว้ภายในอาคาร ไม่ถูกแดดเผาและถูกฝนชะเท่านั้นที่ยังคงสภาพดีอยู่จนถึงปัจจุบันนี้






เครื่องไม้, เครื่องไม้ หมายถึง, เครื่องไม้ คือ, เครื่องไม้ ความหมาย, เครื่องไม้ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu