ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย คนไทยแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยานับถือทั้งศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา โดยได้รับอิทธิพลจากขอม พุทธศาสนาเองมีทั้งนิกายมหายานและหินยาน (เถรวาท) ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชพุทธศาสนาฝ่ายหินยานลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาแพร่หลาย จนกระทั่งความนิยมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานค่อยๆ หายไป
พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมานับแต่กรุงสุโขทัยมาจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และในรัชกาลที่ ๓ ได้เกิดแบ่งแยกออกเป็นสองนิกาย คือ มหานิกาย ซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิม และธรรมยุติกนิกาย โดยผู้ก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย คือ พระวชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้ทรงลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีวัดบวรนิเวศวิหารเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุต
จำนวนพระสงฆ์สามเณรในมหานิกายมีอยู่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป และมีวัดอยู่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ แห่ง ในธรรมยุติกนิกายมีพระสงฆ์และสามเณรประมาณ ๒๑,๕๐๐ รูป มีวัดอยู่ประมาณ ๒,๒๐๐ แห่ง
แม้ว่าคณะสงฆ์จะมีสองนิกาย แต่ก็เป็นเรื่องของคณะสงฆ์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็ยังปฏิบัติศาสนาเหมือนเดิม โดยไม่มีการแบ่งสังกัด และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ก็ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก
พุทธศาสนามีบทบาทอย่างสำคัญต่อสังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประชาชนประมาณร้อยละ ๙๕ นับถือพุทธศาสนา ศาสนามีส่วนสำคัญในวิถีชีวิต การประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน ของครอบครัวและของสังคม พุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของการจัดระเบียบสังคมในสมัยก่อนกฎหมายตราสามดวงตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์ มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน วัดเป็นโรงเรียน เป็นที่ฝึกอบรมบ่มนิสัยลูกหลานของชาวบ้าน และเป็นที่พึ่งพิง ที่พบปะประชุมที่จัดงาน ที่พักคนเดินทาง ที่รื่นเริงจัดงานเทศกาลต่างๆ เป็นศูนย์กลางศิลปกรรม เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และ วรรณกรรม นอกนั้นยังเป็นที่พยาบาลคนเจ็บป่วย เพราะในวัดหลายแห่ง พระสงฆ์มีความรู้เป็นหมอยาอีกด้วย
นับแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการปฏิรูปสังคม เริ่มมีการสร้างโรงเรียนทั้งของรัฐและของราษฎร์ มีการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนวัดในอดีต โรงเรียนหลายแห่งเริ่มแยกออกมาจากวัด จนกระทั่งออกมาเกือบหมดในปัจจุบัน
บทบาทของพุทธศาสนาในสังคมไทยก็เปลี่ยนแปลงไป พระสงฆ์ทำหน้าที่หลักในการสั่งสอนชาวบ้านและพิธีกรรมต่างๆ แต่นับวันสังคมเริ่มมีสิ่งต่างๆ มาทดแทนบทบาทเดิมของวัดและพระสงฆ์
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาได้มีพระสงฆ์หลายรูปที่เริ่มช่วยงานพัฒนาสังคมเช่น ครูบาศรีวิชัย ผู้ซึ่งได้นำชาวบ้านสร้างถนนจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปดอยสุเทพ เป็นระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร โดยไม่ต้องเสียงบประมาณเลย ชาวบ้านร่วมมือร่วมแรงกันทำเมื่อมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ
ทุกวันนี้มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและชุมชน ช่วยเหลือให้ชาวบ้านสามารถรวมตัวกันและช่วยเหลือตนเอง แบ่งปันและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆประยุกต์ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เหมาะสมเช่น การทำนาร่วมกัน แล้วนำข้าวที่ได้ไปก่อตั้งสหบาลข้าวหรือธนาคารข้าว เพื่อช่วยเหลือคนยากจน
ในพุทธศาสนาเองก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ก่อนพระสงฆ์จะเทศน์โดยการอ่านจากใบลาน หลังสงครามโลกครั้งที่สองท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ริเริ่มปฐกถาธรรม เทศน์โดยใช้ภาษาธรรมดา ทำให้ผู้คนได้รับรู้พระธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนั้นท่านยังได้ก่อตั้งสวนโมกข์ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕โดยใช้วัดร้างแห่งหนึ่งให้เป็นที่สงบเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม นอกจากการใช้ภาษาธรรมดาแล้วท่านยังใช้สื่อต่างๆ เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงพระธรรมง่ายยิ่งขึ้น เช่น ภาพวาดปริศนาธรรม และศิลปกรรมต่างๆ
ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นการใช้ปัญญา ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายสำนักสงฆ์และวัดที่ริเริ่มแนวทางปฏิรูปศาสนา บ้างก็เน้นศีล โดยเน้นการปฏิบัติที่เคร่งครัด บ้างก็เน้นสมาธิโดยการฝึกสมาธิ บางแห่งก็เน้นการทำวิปัสสนากรรมฐานหรือการทำสมาธิโดยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อศาสนา การปฏิบัติศาสนาในเมืองเปลี่ยนไป วัดหลายแห่งในชนบทขาดพระสงฆ์ จำนวนพระสงฆ์ที่บวชนานหรือตลอดชีวิตมีน้อยลง แต่ผู้บวชระยะสั้นหรือระหว่างเข้าพรรษายังมีอยู่มากงานบุญประเพณีและพิธีกรรมใหญ่ๆ ซึ่งเคยมีเป็นประจำเกือบทุกเดือนก็ลดน้อยลง ผู้คนในชนบทออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมืองและในถิ่นอื่นมากขึ้น จึงไม่สามารถจัดงานได้เหมือนเมื่อก่อน ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนก็ลำบากมากขึ้น มีการใช้จ่ายเงินและเป็นหนี้เป็นสินกันมาก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตทางศาสนาของทุกศาสนาก็ว่าได้
แต่ในอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า ความยากลำบากในสังคมปัจจุบัน ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันหลังเข้าพึ่งศาสนามากยิ่งขึ้น หลายคนไปบวชเพื่อหาความสงบทางจิตใจ หลบจากความวุ่นวายเพื่อแสวงหาชีวิตที่เรียบง่ายหรือฝึกสมาธิระยะหนึ่ง เพื่อจะออกมาเผชิญกับปัญหาต่างๆ หลายคนไปทำบุญที่วัดหรือไปทำสมาธิเท่าที่เวลาและเงื่อนไขจะทำได้
พุทธศาสนา
พุทธศาสนา, พุทธศาสนา หมายถึง, พุทธศาสนา คือ, พุทธศาสนา ความหมาย, พุทธศาสนา คืออะไร
พุทธศาสนา, พุทธศาสนา หมายถึง, พุทธศาสนา คือ, พุทธศาสนา ความหมาย, พุทธศาสนา คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!