ศาสนาพุทธในประเทศไทย เป็นโครงสร้างสำคัญของสังคม เพราะรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ รวมถึงงานจิตรกรรมของไทย อาศัยความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของพุทธศาสนาเป็นหลักในการสร้างสรรค์ การสั่งสอนพุทธปรัชญาและธรรมะแก่ประชาชนอาศัยสื่อกลางในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น อาศัยพระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอดในรูปของการแสดงธรรม อาศัยครูเป็นผู้ถ่ายทอดในโรงเรียน และอาศัยบุคคลทั่วๆ ไปเล่าสืบต่อกันไปในรูปแบบของเรื่องราว
ตามลักษณะพื้นฐานของสังคมไทย ซึ่งมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกัน มีการพบปะและช่วยเหลือกันเป็นหมู่เป็นคณะ วัดจะเป็นศูนย์รวมในการพบปะแทบทุกประเภท เพราะวัดในความรู้สึกของสังคมไทยเป็นศูนย์กลางในด้านศาสนา งานประเพณีต่างๆ รวมทั้งการศึกษาเบื้องต้นของเด็กไทย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า งานจิตรกรรมซึ่งเป็นสื่อของการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ให้แก่สังคมแทนการสอนด้วยวาจา จะอยู่ที่วัดทั้งสิ้น
จิตรกรรมหรือภาพเขียนฝาผนังที่อยู่ในโบสถ์และวิหาร มักจะแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆ ซึ่งต้องการถ่ายทอดออกสู่สังคม นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเป็นคณะอย่างมีระบบ กล่าวคือ ในการสร้างโบสถ์วิหารของวัดใดวัดหนึ่ง ผู้ที่ทำงานประสานกันจะประกอบด้วยช่างฝีมือแขนงต่างๆ เช่น สถาปนิก ผู้ออกแบบโบสถ์ นายช่างตกแต่งภายในโบสถ์ ช่างปั้น และช่างเขียน เป็นต้น พระประธานนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของโบสถ์ ดังนั้นงานประติมากรรมซึ่งประกอบด้วยการปั้นและสร้างพระประธานในโบสถ์ จึงถือเป็นงานที่สำคัญที่สุด การออกแบบและปั้นฐานพระประธานจะเป็นงานรองจากการสร้างพระประธาน เพราะต้องออกแบบฐานซึ่งประดิษฐานองค์พระประธาน ตามลักษณะและขนาดของพระประธาน ขนาดของโบสถ์และพระประธานต้องมีความสมดุลกัน ช่างเขียนซึ่งทำงานจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์จะต้องสร้างงานในลักษณะส่งเสริมองค์พระประธาน ส่วนมากพระประธานในโบสถ์จะมีขนาดใหญ่มาก เพราะฉะนั้นช่างเขียนที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังจะต้องรู้จักประมาณตน จะต้องไม่แสดงความอวดเก่งเพื่อแสดงความสำคัญเฉพาะงานของตน การวางเค้าโครงเรื่องราวของภาพจิตรกรรมก็ดี การวางโครงสร้างของสี และขนาดสัดส่วนของคน สัตว์ และสิ่งของต่างๆ ซึ่งประกอบเป็นเรื่องราวก็ดี ต้องวางเค้าโครงในลักษณะที่ส่งเสริมองค์พระประธานให้มีลักษณะเด่น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าภาพเขียนฝาผนังในโบสถ์วิหารต่างๆ ทำให้เราเกิดความรู้สึกสงบร่มเย็น ทั้งนี้เพราะมีการวางเค้าโครงของการใช้สี เส้น รูปทรงต่างๆ ของภาพจิตรกรรมแวดล้อมพระประธานอย่างถูกต้อง
การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นงานที่ใช้เวลามาก งานบางแห่งใช้เวลาหลายสิบปี ครูช่างซึ่งเป็นนายงานของการเขียนภาพ เป็นผู้วางโครงการของงานทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็มีช่างเขียนที่เป็นลูกมือช่วยอยู่เป็นจำนวนมาก ครูช่างจะต้องสอนลูกศิษย์ เพื่อสืบทอดวิชาความรู้ให้สามารถทำงานแทนตนได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ ดังนั้น การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังแต่ละครั้ง จึงเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนศิลปะของตระกูลช่างต่างๆ โดยลูกศิษย์จะเริ่มต้นด้วยการคอยปรนนิบัติรับใช้ครู ครูจะใช้งานทุกประเภทและสอนเทคนิคต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละสกุลช่างซึ่งแตกต่างกัน เช่น เทคนิคการบดสี ผสมสี การเตรียมพื้น จนศิษย์มีความรู้ความสามารถ ศรัทธา และมีฝีมือช่างที่ใช้การได้ ต่อไปครูช่างจึงจะอนุญาตให้เริ่มเขียน เริ่มจับพู่กันได้ การสอนเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน จนศิษย์มีความรู้ความชำนาญ จึงให้แสดงฝีมือในบางส่วนของภาพเขียนฝาผนังได้ การสืบทอดตระกูลช่างของไทยแต่โบราณ ใช้กระบวนการนี้ทั้งสิ้น จึงเห็นได้ชัดว่า ช่างเขียนไทยโบราณซึ่งเขียนภาพแบบประเพณี มีความเคารพนับถือครูของตนมาก เพราะนอกจากศิษย์จะได้เรียนวิชาความรู้จากครูแล้ว ยังต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและคุณธรรมจากครูอีกด้วย
ชื่อและเรื่องราวของช่างเขียนไทยในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ค้นคว้าหาเรื่องราวได้ยาก เพราะในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามลักษณะไทยแบบประเพณีสมัยโบราณไม่นิยมที่จะแสดงความสำคัญของช่าง ไม่มีการเขียนชื่อของผู้เขียนหรือแสดงหลักฐานใดๆ ไว้ในภาพเขียน ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยเป็นการทำงานทางช่างเพื่อเรื่องราวทางศาสนา ถือเสมือนเป็นการอุทิศตนโดยไม่ต้องการผลตอบแทนใดๆ ถือว่าผลงานช่างและเรื่องราวที่บันทึกไว้ในภาพจิตรกรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าตัวช่างเขียน ซึ่งแตกต่างไปจากช่างเขียนยุโรปซึ่งจะต้องแสดงชื่อผู้เขียนไว้ในภาพเขียนเสมอ
เรื่องราวของช่างไทยนั้น จะรู้ได้ก็แต่เพียงการบอกเล่าต่อๆ กันมา พอจับความได้ว่าช่างเขียนของไทยเรานั้นอาศัยอยู่ในวัดเป็นส่วนใหญ่ บางท่านเป็นพระสงฆ์ ศึกษาความรู้ต่างๆ อยู่ในวัด แต่ด้วยความชอบและศรัทธาในทางช่างก็ได้ฝีกฝนกับครูช่าง เรียนการช่างจนมีความรู้ดี
งานจิตรกรรมของไทยในสมัยโบราณนั้นเป็นจิตรกรรมแบบประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังของโบสถ์หรือวิหารแล้ว ยังมีการเขียนภาพจิตรกรรมกระดาษอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นการเขียนภาพด้วยสีฝุ่นบนกระดาษสมุดไทยหรือสมุดข่อย การเขียนภาพบนสมุดข่อยเป็นการเขียนภาพเพื่อขยายความตามบันทึกในสมุดข่อย เช่น ไตรภูมิพระร่วง หรือเรื่องราวทางช่างเอง เช่น ตำราการปลูกสร้างบ้านเรือน ตำรายา ตำราการจับเส้นตามแบบแพทย์แผนโบราณ เป็นต้น การเขียนภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อยเท่าที่ยังค้นพบในปัจจุบัน มีทั้งฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นไปจนถึงช่างฝีมือซึ่งแสดงรูปแบบเส้นและสีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกระบวนการเขียนภาพจิตรกรรม
จิตรกรรมไทยแบบประเพณีซึ่งในสมัยโบราณเขียนบนผนังโบสถ์หรือวิหารนั้นเป็นภาพจิตรกรรมในลักษณะ ๒ มิติ ระบายสีและตัดเส้น ลักษณะของการใช้สีโดยส่วนรวมของจิตรกรรมฝาผนังเป็นไปตามยุคสมัย เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยสมัยอยุธยาจะใช้สีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่สีโดยส่วนรวมออกสีแดง ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์จะใช้สีมากขึ้น เพราะมีสีซึ่งได้รับมาจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้โครงสร้างของสีในภาพมีลักษณะสดใส และมีจำนวนสีที่ใช้มากขึ้น และยังนิยมปิดทองคำเปลวในส่วนต่างๆ ของภาพให้แลดูแวววาวและสวยงาม
การแสดงออกทางอารมณ์ของเรื่องราวในภาพ นอกจากจะแสดงด้วยสีสันต่างๆ ประกอบกันแล้ว ยังสามารถแสดงออกด้วยท่าทางขององค์ประกอบในภาพ เช่น คน สัตว์ หรือลักษณะการวางองค์ประกอบของกลุ่มคนหรือสัตว์ เช่น กองทัพช้าง ม้า หรือลักษณะของนางฟ้า เทวดา นางรำต่างๆ ลักษณะการแสดงท่าทางของคนหรือสัตว์ช่วยทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกไปตามเรื่องราวได้ ช่างเขียนไทยมีความพยายามที่จะถ่ายทอดอารมณ์ของช่างและลีลาของภาพให้แสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์
การเขียนภาพจิตรกรรมโดยใช้สีน้ำมันเขียนบนไม้หรือผ้าใบ เท่าที่ค้นพบหลักฐานสมัยรัชกาลที่ ๖ พระสรลักษณ์ลิขิต (หลักฐานปีเกิดตายไม่แน่ชัด) เป็นผู้เขียน และในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (หลักฐานปีเกิดตายไม่แน่ชัด) เป็นผู้เขียน
จิตรกรรมและศาสนา
จิตรกรรมและศาสนา, จิตรกรรมและศาสนา หมายถึง, จิตรกรรมและศาสนา คือ, จิตรกรรมและศาสนา ความหมาย, จิตรกรรมและศาสนา คืออะไร
จิตรกรรมและศาสนา, จิตรกรรมและศาสนา หมายถึง, จิตรกรรมและศาสนา คือ, จิตรกรรมและศาสนา ความหมาย, จิตรกรรมและศาสนา คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!