ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ หมายถึง, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ คือ, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ความหมาย, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ

          เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบพระนักษัตร คือ  ๖๐  พรรษา เป็นมหามงคลอันประเสริฐ ที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพมายืนนานโดยพร้อมด้วยทศพิธราชธรรมบารมี และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่พาชาติไทยให้สามารถดำรงอิสราธิปไตยไว้ได้ พร้อมกับความเจริญรุ่งเรืองสมกาลสมัย  พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการน้อยใหญ่  ตลอดจนพสกนิกร ต่างชื่นชมยินดีในพระราชวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระสงฆ์ ๖๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถาพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมให้พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ชาวต่างประเทศผู้มีเกียรติและพ่อค้าคหบดี เฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิมในพระบรมมหาราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเลี้ยง พระราชทานเหรียญที่ระลึกในการฉลองพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษาอาณาประชาราษฎร์ต่างก็แสดงความจงรักภักดีด้วยการประดับตกแต่งบ้านเรือนร้านค้า ตามประทีปโคมไฟทั้งทางบกทางน้ำ มีมหรสพแสดงณ สถานที่ต่างๆ เป็นการสนุกสนานครึกครื้นถวายเฉลิมพระเกียรติ

          ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบพระนักษัตร พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาลซึ่งมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน  ประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างชื่นชมโสมนัสสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชนเป็นอเนกนานัปการ จึงพร้อมใจสมัครสมานร่วมแสดงความจงรักภักดี  โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานเฉลิมพระเกียรติถวายให้ยิ่งใหญ่ เพื่อจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยสืบไป

          โดยเหตุที่ตามโบราณราชประเพณีในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกปีนั้น จะต้องมีพระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษกก่อนทุกครั้งไป แต่การพระราชพิธีนี้ได้ว่างเว้นมาตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๗๕ จนกระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบพระนักษัตรในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินออกประทับมณฑปนพปฎลมหาเศวตฉัตร สรงพระมูรธาภิเษก เพื่อเจริญพระราชสิริสวัสดิ์ตามพระราชพิธีโดยสมบูรณ์แต่ในปีต่อมาก็ว่างเว้นมีการพระราชพิธีตามปกติดังนั้น  รัฐบาลจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดรัฐพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปูชนียสถานสำคัญทั่วทุกจังหวัด อัญเชิญมาทูลเกล้าฯ  ถวายแท่นพระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษกพร้อมกับทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพเพื่อถวายสักการะแทบเบื้องพระยุคลบาท ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบตามโบราณราชประเพณี  ในการนี้ได้ขอพระบรมราชานุญาตปลูกสร้างเป็นแบบพระที่นั่ง  ที่ใช้ในการพระราชพิธีอันเป็นมหามงคล  เช่นพระที่นั่งราชฤดีในพระบรมมหาราชวัง  ประกอบด้วยพระแท่นราชอาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร  ขอพระราชทานเรียกว่า พระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก แวดล้อมด้วยราชวัติฉัตรขาว ตามโบราณราชประเพณี  และขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์  คณะรัฐมนตรี ข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน สมาชิกรัฐสภา คณะทูตานุทูต ผู้มีเกียรติ พ่อค้าคหบดีตลอดจนประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่า ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นมหาสมาคมอันยิ่งใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง แทนการเสด็จออกมหาสมาคม ณ  ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูริยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

           อนึ่ง ในรัชกาลปัจจุบันยังไม่มีการพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวารและพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา  ดังนั้น  เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ  รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทรงประกอบพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูป ๒ องค์ ดังกล่าว ตามโบราณราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์อันเป็นวันพระราชสมภพ  ขนาดความสูง ๙ นิ้ว หล่อด้วยโลหะเงินกะไหล่ทอง และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษามหามงคล ๕ รอบ แบบพระพุทธนวราชบพิตร แต่เป็นปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๑๘  นิ้ว โดยอนุโลมจากเมื่อทรงพระผนวช วัดพระกรรปุระ (ศอก) เป็นขนาดของไตรครองได้ ๑๘  นิ้ว หล่อด้วยโลหะผสมทองแดงกะไหล่ทองอย่างหนา ถวายฉัตรปรุ ๕ ชั้น

           ก่อนการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕  รอบ จึงเริ่มด้วยพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษามหามงคล ๕ รอบ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ รวม ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ แล้วลงคาถาในแผ่นโลหะทองเงินที่จะหล่อพระพุทธรูป ได้เวลาพระฤกษ์ ๑๗.๔๙  น. ถึง ๑๘.๐๙  น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรราชินีนาถจึงได้ทรงเททองหล่อพระพุทธรูป  ๒  องค์ ดังกล่าว

           ตามที่รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก ณ ท้องสนามหลวง  เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมนั้น กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบและก่อสร้าง โดยอาศัยรูปลักษณะของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่ทำเป็นพระที่นั่งโถง เป็นอาคารไม้เครื่องยอดทรงจตุรมุข องค์พระที่นั่งทาสีขาว  ภายในประดับลวดลายฉลุสีทอง ช่อฟ้าใบระกาเป็นสีทองอนุโลมตามแบบพระที่นั่งราชฤดี  ฐานกว้างและยาวด้านละ ๓๕  เมตร สูง ๓๒.๕o เมตร เมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สม เด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธียกเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก เมื่อวันที่ ๔  พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

           ส่วนรัฐพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ทุกจังหวัดประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญภายในจังหวัด รวมทั้งจากแหล่งน้ำที่เคยนำมาใช้ในพระราชพิธีสรงมูรธาภิเษกของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๙๓ โดยทำพิธีในวันพุธอันเป็นวันธงชัย วันที่ ๔ พฤศจิกายน  พุทธศักราช  ๒๕๓๐  เวลา ๐๙.๐๐ น.  แล้วนำไปพักไว้ที่วัดสำคัญของจังหวัด  ประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ทุกจังหวัดพร้อมกันในวันพุธ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน  พุทธศักราช  ๒๕๓๐  เวลา ๑๓.๓๐ น. เสร็จแล้วนำส่ง กระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่  ๒๐ พฤศจิกายน  พุทธศักราช  ๒๕๓๐

           รัฐพิธีที่กรุงเทพมหานคร ได้ประกอบเมื่อ วันพุธที่  ๒  ธันวาคม  พุทธศักราช  ๒๕๓๐  ณ  พระวิหารหลวง  วัดสุทัศนเทพวราราม นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เทน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่างๆ  ลงในขันพระสาครพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์  ๖๑  รูป มีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ แล้วหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ลงไปในขันพระสาคร ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา พร้อมกันตักน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากขันพระสาคร รินลงในพระเต้าปทุมนิมิตทอง พระเต้าปทุมนิมิตนากและพระเต้าปทุมนิมิตเงิน คนละองค์ตามลำดับเป็นอันเสร็จรัฐพิธี

           การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพุทธศักราช ๒๕๓๐ นั้น เริ่มด้วยพระราชพิธีฉลองสมโภชพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระพุทธรูปมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕  รอบซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุพระพิมพ์ผงจิตรลดาไว้ที่กลีบบัวฐานพระพุทธรูปแล้ว และในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ฉลองพระไตรปิฎกฉบับสังคายนาในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบนี้ด้วย ในวันศุกร์ที่ ๔  ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

           พระราชพิธีฉลองสมโภชพระพุทธรูปนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้ผ้าชุบน้ำพระสุคนธ์เช็ดที่แววพระเนตรพระพุทธรูปทั้งสองข้างเป็นการเบิกพระเนตร  แล้วทรงพระสุหร่ายทรงเจิม และถวายผ้าทรงสะพักกรองทอง พร้อมทั้งทรงเจิมพระไตรปิฎกฉบับสังคายนามหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ  พระสงฆ์ ๖๑ รูปมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน  เจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระพุทธรูป เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว พราหมณ์เบิกแว่นข้าราชการรับแว่นเวียนเทียนสมโภชฉลองพระพุทธรูปและพระไตรปิฎกครบ ๓ รอบ เมื่อเสร็จการพระราชพิธีนี้แล้ว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ณ ฐานชุกชีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร คู่กับพระสัมพุทธพรรณี และเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารปางห้ามญาติประดิษฐานไว้  ณ  หอพระสุราลัยพิมาน สำหรับอัญเชิญประกอบพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษาตามราชประเพณีต่อไป

          วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ตอนเช้าเป็นงานเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก เวลา ๐๗.๕๐ น. นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำขบวนเชิญพระเต้าปทุมนิมิตทอง นาก เงินขึ้นตั้งในบุษบกราชรถ ยาตราไปสู่มณฑลพิธีพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก ท้องสนามหลวง โดยมีกระบวนผู้แทนแต่ละจังหวัด เชิญพุ่มดอกไม้มาตั้งถวายที่ชั้นทักษิณรอบพระที่นั่ง

           เวลา ๑๐.๓๐  น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษกโดยมีกองทหารม้ารักษาพระองค์ แห่นำ-ตามเสด็จ เมื่อประทับพระราชอาสน์บนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลจบแล้ว  พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา และนายจำรัส เขมะจารุ  ประธานศาลฎีกา กราบบังคมทูลเฉลิมพระเกียรติและถวายชัยมงคลตามลำดับ แล้วทั้ง ๓ ท่านขึ้นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทบนพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก ถวายพานดอกไม้ธูปเทียนแพ แล้วรินหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพระเต้าปทุมนิมิตทอง  นาก  เงิน  ลงในพระครอบมูรธาภิเษกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือ โดยแต่ละท่านรินหลั่งน้ำจากพระเต้าคนละองค์ตามลำดับ แล้วลงจากพระที่นั่งไปยืนเฝ้าฯ ที่เดิม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอบใจ และทรงแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของความสามัคคี
เวลาบ่ายตั้งแต่  ๑๖.๓๐  น.  มีพระราชพิธีต่างๆ  ตามปกติของงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาประจำปี  คือเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บรรพชิตจีนและญวนถวายพระพรที่มุขหน้าพระอุโบสถ  พระสงฆ์  ๕ รูปสวดนวัคคหายุสมธัมม์  ทรงบูชาเทวดานพเคราะห์  และพระราชทานสังคหวัตถุแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน  จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ทรงสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์  ซึ่งปีนี้มีรองสมเด็จพระราชาคณะ ๓ รูป  พระราชาคณะ  ๑๙  รูป  พระราชทานฐานันดรศักดิ์แก่พราหมณ์ประจำราชสำนัก ๓  คน  พระสงฆ์  ๖๑  รูป  มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ

          วันอาทิตย์ที่  ๖  ธันวาคม  พุทธศักราช  ๒๕๓o เสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์  และสวดนวัคคหายุสมธัมม์  เสร็จแล้วทรงสดับพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถา ที่สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร  ถวายแทนสมเด็จพระสังฆราชหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว  พระราชครูอัษฎาจารย์เบิกแว่น โหรหลวงและข้าราชการรับแว่นเวียนเทียนสมโภชพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร  ดวงพระบรมราชสมภพ  พระสุพรรณบัฏ เป็นเสร็จการพระราชพิธี

           เวลา  ๑๖.๓๐  น.  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้คณะทูตานุทูตเเละกงสุล เฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  เป็นงานเต็มยศ

           วันจันทร์ที่  ๗  ธันวาคม  พุทธศักราช  ๒๕๓๐ รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาต ณ  ทำเนียบรัฐบาล  เพื่อถวายความจงรักภักดี  โดยกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน  มาเสวยพระกระยาหาร ณ  ทำเนียบรัฐบาล  เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มโหฬารสมพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ หมายถึง, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ คือ, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ความหมาย, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu