ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ หมายถึง, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ คือ, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ความหมาย, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

          พระมหากษัตริย์ไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ทรงใช้เรือทั้งในราชการสงครามเพื่อป้องกันพระราชอาณาจักรในยามศึกและในราชการทั่วไปในยามบ้านเมืองสงบ ยามใดที่บ้านเมืองว่างเว้นจากศึกสงคราม ก็โปรดให้จัดริ้วกระบวนเรือในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำในโอกาสต่างๆ  แต่ยังคงใช้เรือรบเช่นเดิมและยึดรูปแบบการจัดเรือหลวงสำหรับกองทัพไว้  เพื่อประโยชน์ในการฝึกความพร้อม  ต่อมาได้โปรดให้มีการตกแต่งเรือ  เช่น  ลงรักปิดทองประดับกระจก  ตลอดจนตั้งแต่งบุษบก หรือบัลลังก์กัญญา เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้เป็นเรือพระที่นั่ง เป็นการประกาศพระเกียรติยศ และให้ประชาชนได้เฝ้าชมพระบารมี  ด้วยเหตุนี้การจัดริ้วกระบวนเรือจึงมีระเบียบแบบแผน งดงามอลังการยิ่งขึ้น ดังเช่นที่มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาริ้วกระบวนเรือที่เคยใช้ในราชการสงคราม ได้ผ่านกระบวนการเลือกสรรให้มีความสมบูรณ์แบบทั้งในเชิงช่างศิลป์ และเชิงความคิดอย่างลงตัวแล้วนับเป็นต้นแบบของ  “กระบวนพยุหยาตราชลมารค”  ที่ยังคงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าตกทอดมาจนทุกวันนี้

          ธรรมเนียมการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ดำเนินสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  เช่น  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  มีการจัดสร้างเรือพระที่นั่งเพิ่มเติมในริ้วกระบวนให้ครบสมบูรณ์ตามแบบแผนที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและได้โปรดให้จัดริ้วกระบวนพยุหยาตรานี้ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร อันเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากการจัดสร้างเรือเพิ่มเติมแล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียบเรียงตำราว่าด้วยการจัดริ้วกระบวนขึ้น เรียกว่า “ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง” เพื่อรักษาโบราณราชประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไปอีกด้วย ในรัชสมัยต่อมาถือเป็นแบบแผนว่า โดยส่วนใหญ่จะโปรดเกล้าฯ ให้มีกระบวนพยุหยาตราชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครอย่างหนึ่ง และในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินอีกอย่างหนึ่ง  บางครั้งก็จัดเป็นริ้วกระบวนใหญ่บางครั้งก็จัดเพียงกระบวนน้อย  ตามสภาพเศรษฐกิจ  สังคม  และความเหมาะสม พร้อมทั้งได้โปรดเกล้าฯ  ให้มีการซ่อมแซมเรือพระที่นั่งที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา หรือในกรณีที่มีความเสียหายมากเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นมาใหม่ตามลำดับด้วยเช่น การซ่อมแซมเรือพระที่นั่งครั้งสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งกระบวนใหญ่และกระบวนน้อยมาแล้วหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวง เช่น วัดอรุณราชวราราม เป็นต้นมีบางครั้งที่เป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่เป็นมหามงคลพิเศษ เช่น การฉลอง ๒๕  พุทธศตวรรษ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ และการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์  ๒๐๐  ปี เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๕๒๕ โดยในการฉลองพระนครครั้งนั้นรัฐบาลได้ดำเนินการซ่อมแซมเรือพระที่นั่งและเรือหลวงที่ชำรุดอยู่ให้มีสภาพดีอีกครั้งหนึ่ง

           การซ่อมแซมเรือพระที่นั่งเมื่อครั้งฉลองพระนครนั้น แม้จะทำเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่ได้จัดสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ขึ้นเพิ่มเติมเพื่อใช้ในราชการ  ในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ รัฐบาลโดยกองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลนี้ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพเรือดำเนินการจัดสร้าง และพระราชทานชื่อเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙”

           ต้นแบบของเรือพระที่นั่งลำใหม่ที่กองทัพเรือดำริจัดสร้างนี้  คือ  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ  ซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเรือทำเป็นรูปพระครุฑพ่าห์พระราชทานชื่อว่า “เรือมงคลสุบรรณ” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทำองค์พระนารายณ์เพิ่มเข้าไปพร้อมกับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ” กลางเรือทอดบัลลังก์กัญญา ใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หมายความว่า ใช้สำรองไปในริ้วกระบวนเพื่อใช้แทนเรือพระที่นั่งทรง ในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารกใช้เรือพระที่นั่งทรงต่อไปได้  ในปัจจุบันเรือพระที่นั่งลำนี้มีสภาพตัวเรือที่ชำรุดทรุดโทรมไปเป็นอันมาก คงเหลือแต่โขนเรือซึ่งแกะเป็นรูปพระนารายณ์นารายณ์ประทับยืนเหนือเทพพาหนะ  คือ  พญาสุบรรณ หรือพญาครุฑเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในสภาพดี เวลานี้เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

           สำหรับขั้นตอนการจัดสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่  ๙  นี้  ในส่วนของแบบเรือได้คงขนาดและลักษณะของลวดลายแกะสลักทั้งหลายไว้ตามแบบเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำเก่า แต่ได้ปรับปรุงให้โขนเรือมีความสูงเพิ่มขึ้น และส่วนที่เป็นรูปพระครุฑพ่าห์ก็ออกแบบให้มีความงดงามยิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับส่วนท้ายคือ พร้อมทั้งได้ขยายพื้นที่ของลำเรือให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ทอดบัลลังก์กัญญาและประดับเครื่องสูงทั้งหลาย

          เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙  มีความยาว  ๔๔.๓๐  เมตร กว้าง  ๓.๒๐ เมตร  ลึก  ๑.๑  เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่  ๒๐  ตัน  ใช้ฝีพาย  ๕๐  ฝีพาย โขนเรือสร้างด้วยไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และมงกุฎยอดชัยมี  ๔  กร  ทรงเทพศาสตรา  คือ  ตรี  คทาจักร  และสังข์  ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณลำเรือเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำเรือ  มีลวดลายเป็นลายพุดตาน พื้นเรือทาสีแดงชาด ท้ายเรือส่วนเหนือมาลัยทำเป็นสร้อยหางครุฑ ส่วนปลายสุดทำเป็นกระหนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางทำเป็นขนครุฑ กัญญาเรือทำลวดลายลงรักปิดทองประดับกระจก แผงพนักพิงแกะสลักลวดลายเป็นรูปครุฑยุดนาคลงรักปิดทองประดับกระจกเสาทาสีดำ ฝ้าดาดหลังคากัญญาเรือเป็นทองแผ่ลาด ลายโคมแย่ง ลงรักปิดทองประดับกระจกพื้นแดงลาย จั่วและผ้าม่านโดยรอบประดับด้วยทองแผ่ลวด  พายกับฉากลงรักปิดทอง  วางฉัตรเว้น  ๒  กระทงต่อฉัตรหนึ่งคัน

          เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่  ๙  เริ่มดำเนินการสร้างตั้งแต่ วันที่  ๑  มิถุนายน  พุทธศักราช  ๒๕๓๗  กองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือรับเป็นผู้จัดสร้างตัวเรือ  พาย  และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลการออกแบบแกะสลักลวดลาย  ตลอดจนการลงรักปิดทองประดับกระจก ซึ่งเป็นงานทางด้านศิลปกรรมของเรือทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่  ๕  กันยายน พุทธศักราช  ๒๕๓๗ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่  ๙ ลงน้ำเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช  ๒๕๓๙  กองทัพเรือได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่  ๙  ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิฐ  เมื่อวันที่  ๙  พฤษภาคม  พุทธศักราช  ๒๕๓๙  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่  ๙  นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดเข้าไว้ในริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน  ณ  วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่  ๗  พฤศจิกายน พุทธศักราช  ๒๕๓๙  ตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณาของรัฐบาล ให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีกาญจนาภิเษก

         เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ  รัชกาลที่  ๙  ที่จัดสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ  ๕๐  ปีนี้ย่อมเป็นประจักษ์พยานแห่งความจงรักภักดีของชาวไทยทั้งแผ่นดิน ที่พร้อมใจกันร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้  นับเป็นนิมิตหมายอันดีว่าด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมชาติไทยของเราจะสามารถบำรุงรักษาขนบธรรมเนียมการจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีอันวิจิตรงดงามตลอดจนฝีมือช่างชั้นสูงนี้ไว้ได้ต่อไป เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลกถึงความเป็นชาติเก่าแก่และมีวัฒนธรรมของไทยเราตราบชั่วกาลนาน

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ หมายถึง, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ คือ, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ความหมาย, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu