วิธีติดตาต่อกิ่ง
วิธีติดตาต่อกิ่ง, วิธีติดตาต่อกิ่ง หมายถึง, วิธีติดตาต่อกิ่ง คือ, วิธีติดตาต่อกิ่ง ความหมาย, วิธีติดตาต่อกิ่ง คืออะไร
ในการติดตาต่อกิ่งต้นพืช มีวิธีการต่างๆ ที่จะทำได้หลายวิธี แต่พอจะแบ่งเป็นวิธีใหญ่ๆ ได้ ๓ วิธี คือ
๑. การติดตา (bud grafting or budding)
๒. การต่อกิ่ง (grafting)
๓. การทาบกิ่ง (inarching or approach grafting)
การต่อกิ่ง คือ การต่อต้นพืชโดยใช้กิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า ๑ ตาขึ้นไป แบ่งประเภทของการต่อกิ่งตามตำแหน่งที่ทำการต่อออกเป็น ๓ แบบ คือ
๑. การต่อราก (root grafting) คือ การนำเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อกับรากของต้นพืชโดยตรง ซึ่งรากที่นำมาต่อนั้น อาจจะเป็นรากทั้งหมด (whole root) หรืออาจเป็นท่อนราก (piece root) ก็ได้ เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในการต่อไม้ผลเมืองหนาว เช่น แอปเปิ้ล และแพร์ และโดยทั่วๆ ไปมักจะใช้รากต้นพืชที่เพาะจากเมล็ด และเมื่อจะต่อมักจะขุดรากที่กำลังอยู่ในระยะพักตัวมาต่อในโรงเรือน เรียกการต่อ กิ่งแบบนี้ว่า เบนซ์กราฟท์ (bench graft)
๒. การต่อต้นตอคอดิน (crown grafting) คือ การนำกิ่งพันธุ์ดีมาต่อบนต้นตอในระดับคอดิน (crown) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการเปลี่ยนพันธุ์องุ่นที่มี อายุมากๆ ให้เป็นพันธุ์ใหม่ที่ต้องการ
๓. การต่อยอด (top grafting) คือการนำกิ่งพันธุ์ดีมาต่อบนต้นตอเหนือระดับผิวดิน รวมทั้งการต่อต้นพืชเหนือระดับผิวดินมากๆ และเป็นต้นพืชที่มีขนาดโต ซึ่งมักจะให้ผลแล้ว เรียกการต่อเช่นนี้ว่าการต่อเปลี่ยนยอด (top working)
สำหรับวิธีต่อกิ่งโดยทั่วไป ส่วนใหญ่มักเป็นการต่อกิ่งแบบต่อยอด ฉะนั้นวิธีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จึงเน้นหนักเฉพาะวิธีต่อแบบต่อยอดเท่านั้น ซึ่งมีวิธีที่ควรทราบดังนี้
๑. การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม (cleft grafting)
เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการต่อแบบต่อยอดเป็นส่วนใหญ่ สามารถต่อได้ตั้งแต่กิ่งขนาด ๑ นิ้ว ถึง ๔ นิ้ว ใช้กับพันธุ์พืชที่มีเสี้ยนเนื้อไม้ตรง กิ่งพันธุ์ดีควรเป็นกิ่งแก่ และควรต่อขณะที่พืชชะงัก หรือหยุดการเจริญซึ่งเป็นระยะที่เปลือกไม่ล่อนจากเนื้อไม้หรือเปลือกติด โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
การเตรียมต้นตอ
๑. ตัดต้นตอให้มีบริเวณที่จะต่อเป็นส่วนของปล้องที่ตรง
๒. ผ่าต้นตอให้เป็นแผลลึก ๒-๓ นิ้ว แล้วแต่ขนาดของกิ่งการเตรียมกิ่งพันธุ์ดีเฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเฉียงลงให้เป็นปากฉลามทั้งสองด้าน โดยเฉือนให้มีสันด้านหนึ่งหนากว่าอีกด้านหนึ่ง
การสอดกิ่งพันธุ์ดี
๑. เผยอรอยผ่าบนต้นตอ โดยใช้ใบมีดหรือที่เผยอรอยแผลสอดเข้าไปในรอยผ่า แล้วบิดใบมีดให้รอยผ่าเผยอออก
๒. สอดโคนกิ่งพันธุ์ดี โดยเอาด้านสันหนาไว้ริมนอก แล้วจัดให้แนวเยื่อเจริญของรอยเฉือนบนต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีทับกันด้านใดด้านหนึ่ง
๓. พันด้วยผ้าพลาสติก หรือเชือกปอแล้วอุดรอยต่อด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง และควบคุมกิ่งตาด้วยถุงพลาสติกหรือก้านกล้วย
๒. การต่อกิ่งแบบเสียบข้าง (side grafting)
การต่อกิ่งแบบนี้ มักนิยมใช้กับต้นพืชขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่มักจะปลูกอยู่ในกระถาง เป็นการต่อขณะที่เปลือกยังไม่ล่อนเช่นเดียวกัน และไม่ตัดยอดต้นตอจนกว่ากิ่งที่ต่อติดเรียบร้อยแล้ว จึงตัดต้นตอและบังคับให้กิ่งพันธุ์ดีแตกตา โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
การเตรียมต้นตอ
๑. เลือกต้นตอที่มีขนาดประมาณ ๑ ซม.หรือขนาดดินสอดำ
๒. เฉือนต้นตอเฉียงลงเป็นมุมราว ๓๐° ให้รอยเฉือนยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว และลึกเข้าในเนื้อไม้ประมาณ ๑/๓ ของเส้นผ่านศูนย์กลางของต้น
การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
๑. เลือกกิ่งพันธุ์ดีขนาด ๑/๒ ซม. ยาวประมาณ ๒-๓ นิ้ว (๕-๗ ซม.) และมีตาอยู่บนกิ่ง ๒-๓ ตา
๒. เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มให้มีแผลยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว แล้วแต่แผลบนต้นตอ
การสอดกิ่งพันธุ์ดี
๑. สอดกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลของต้นตอ โดยโน้มต้นตอไปทางด้านตรงข้ามรอยเฉือนเล็กน้อยแล้วจึงสอดกิ่งพันธุ์ดี จัดรอยเฉือนให้แนวเยื่อเจริญทับกันด้านใดด้านหนึ่ง แล้วจึงปล่อยให้ต้นตอกลับที่เดิม
๒. พันด้วยพลาสติกหรือเชือก แล้วหุ้มรอยต่อด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง
๓. การต่อกิ่งแบบเสียบเปลือก
เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในการต่อยอดไม้ผลที่กิ่งมีขนาดโตประมาณ ๑/๒ - ๔ นิ้ว เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีทั้งพืชที่มีเปลือกหนาและเปลือกบาง ข้อดีของการต่อกิ่งวิธีนี้ก็คือ เนื้อไม้จะไม่ถูกผ่าออกจากกันโอกาสที่รอยต่อจะเน่าหรือถูกทำลายจากเชื้อโรคจึงมีน้อย ข้อเสียเปรียบของการต่อกิ่งวิธีนี้ก็คือจะต้องต่อขณะที่ต้นตอมีเปลือกล่อน ซึ่งจะเป็นระยะที่ต้นพืชมีการเจริญเติบโตดีเท่านั้น สำหรับวิธีต่ออาจทำได้ ๒ แบบดังนี้
๑. แบบตัดยอดต้นตอ
การเตรียมต้นตอ
๑. เลือกต้นตอที่มีเปลือกล่อน แล้วกะดูบริเวณที่จะต่อซึ่งจะต้องเรียบและตรง โดยเฉพาะได้รอยตัดตรงบริเวณที่จะต่อ ระยะ ๑-๒ นิ้ว จะต้องไม่มีข้อ
๒. ตัดต้นตอให้ตั้งฉากกับกิ่งหรือต้น แล้วกรีดเปลือกต้นตอจากหัวรอยตัดลงมาด้านโคนกิ่งให้ยาว ๑-๒ นิ้ว แล้วเผยอเปลือกต้นตอที่หัวรอยตัดเล็กน้อย การเตรียมกิ่งพันธุ์ดีเฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นปากฉลาม ให้ยาว ๑-๒ นิ้ว แล้วเฉือนด้านหลังของปลายรอยเฉือนเล็กน้อย
การสอดกิ่งพันธุ์ดี
๑. สอดปลายรอยเฉือนของกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลของต้นตอให้ด้านรอยเฉือนด้านยาวหันเข้าหาต้นตอ
๒. กดกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลและรอยเฉือนจนโคนของรอยเฉือนเสมอกับหัวรอยตัดของต้นตอพอดี
๓. พันด้วยพลาสติก หรือเชือก แล้วหุ้มด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง
๒. แบบไม่ตัดยอดต้นตอ
๑. เลือกต้นตอที่เปลือกล่อน และมีขนาดค่อนข้างโต
๒. กรีดเปลือกต้นตอบนบริเวณที่จะต่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานเปิด คล้ายการติดตาแบบเพลทแต่ให้มีขนาดของรอยแผลโตกว่าขนาดกิ่งพันธุ์ดีเล็กน้อย
๓. เผยอและลอกเปลือกลงมาประมาณ ๑ ๑/๒-๒ นิ้ว
๔. เฉือนแผ่นเปลือกเหนือหัวรอยเฉือนเฉียงลงให้จดหัวรอยกรีดพอดี
การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นปากฉลาม และปาดปลายด้านหลังรอยเฉือนออกเล็กน้อย เช่นเดียวกับ วิธีแรก
การสอดกิ่งพันธุ์ดี
๑. ดึงแผ่นเปลือกของต้นตอที่ลอกลงมาให้เผยอออก
๒. สอดกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลของต้นตอจนโคนรอยเฉือนเสมอกับหัวรอยเฉือนบนต้นตอพอดี
๓. พับแผ่นเปลือกต้นตอทับบนกิ่งพันธุ์ดีแล้วพันพลาสติกหรือเชือกและอุดด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง
วิธีติดตาต่อกิ่ง, วิธีติดตาต่อกิ่ง หมายถึง, วิธีติดตาต่อกิ่ง คือ, วิธีติดตาต่อกิ่ง ความหมาย, วิธีติดตาต่อกิ่ง คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!