๑. เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาอันบ่งบอก ถึงภูมิปัญญาของชาวสยามประเทศ มิเพียงแต่จะต้องจำกัดว่าเป็นของชาวรัตนโกสินทร์เท่านั้น หากย้อนกลับไปถึงอยุธยา ซึ่งเป็นต้นเค้าที่บ่งบอกถึงมาตรฐานการศึกษาของคนไทยแต่โบราณ วิชาการนั้นอาจแบ่งได้ดังนี้
- สาขาวิชาอักษรศาสตร์ ได้แก่ การแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานของร้อยกรองที่คนไทยพึงรู้และแต่งได้ ส่วนร้อยกรองในระดับสูงก็คือ โคลงกลบท โคลงกลบทอักษร กลอนกลบท และกลอนกลอักษร ในด้านร้อยแก้วก็มีวรรณคดีที่มีคติสอนใจทั้งทางโลกและทางธรรม
- สาขาแพทยศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบัน ถือว่าเป็นแพทยศาสตร์โบราณ ว่าด้วยตำรายาแก้โรคและตำราหมอนวด ความรู้เหล่านี้ได้ผ่านการเลือกสรร และตรวจสอบเป็นอย่างดี เพื่ออำนวยประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ การใช้ภาพเขียนหรือสาธิตประกอบ รวมทั้งรูปหล่อของฤาษี ล้วนแต่เป็นการเสริมความเข้าใจของผู้ศึกษา กล่าวกันว่า แม้กระทั่งพันธุ์ไม้ต่างๆที่มีสรรพคุณในการรักษา โรคก็มีการนำมาปลูกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ
- สาขาช่าง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งศิลปะช่างในแขนงอื่นๆ เช่น การหล่อ การปั้น การสลัก ล้วนแต่เป็นศิลปะชั้นครูทั้งสิ้น
๒. เป็นสถานศึกษาของปวงชนชาวไทย แต่เดิมการศึกษาของชาวไทยจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ผู้ใกล้ชิดกับราชสำนัก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์หรือขุนนาง อีกทั้งเนื้อหาของสรรพวิชาทั้งปวงได้บันทึกไว้ในสมุดไทยหรือใบลาน แต่เนื่องจากการเผยแพร่ สมุดไทยหรือใบลานในยุคที่การพิมพ์ยังไม่เกิดขึ้นก็คือ การคัดลอก ซึ่งเป็นวิธีที่จำกัดการ เผยแพร่ความรู้ ประกอบกับพื้นอุปนิสัยของ คนไทยโบราณมักหวงแหนความรู้ซึ่งถือว่า ได้สะสมถ่ายทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ผู้มีโอกาสเรียนรู้ก็จะเป็นบุคคลในราชสกุลเท่านั้น ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะให้วัดพระเชตุพนเป็นสถานศึกษารวมของมหาชน ซึ่งในสมัยหลังเรียกว่า มหาวิทยาลัย นั้น นับเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการศึกษาของไทย
๓. เป็นหลักฐานที่แสดงมาตรฐานการ ศึกษา และโลกทัศน์ของชาวไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชสมัยพระบาท-สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงถึงความชาญฉลาด ความรอบรู้ในวิชาการ รวมทั้งความรู้ในเรื่องชนชาติต่างๆที่เข้ามามีสัมพันธไมตรีกับคนไทยในสมัยนั้น เช่น โคลงภาพคนต่างภาษา
๔. ภาษาและอักขรวิธีที่ปรากฏในจารึก แต่ละหลักเป็นหลักฐานที่แม่นยำ ชัดเจน ที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาภาษาไทย ทั้งการสะกดคำ เครื่องหมาย ภาษาที่ใช้ รวมทั้งลายจารึก หรือนัยหนึ่งลายมือที่งดงามประณีต บ่งบอกถึงความเป็นผู้มีวัฒนธรรม และการศึกษาอย่างสูง
๕. เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงพระ-มหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยในด้านการศึกษา เพราะการศึกษาย่อมก่อเกิดให้ประชาชนได้มีพัฒนาการในด้านสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ประเทศใดที่มีประชาชนที่มีคุณภาพ ประเทศนั้นก็จะเจริญ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้บ่งบอกให้เราทราบว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในการติดต่อและมีความสัมพันธ์กับประเทศไทย และได้นำความเจริญทางด้านหนังสือและเทคโนโลยีมาเผยแพร่ให้แก่ชาวไทย ซึ่งการที่จะรู้ "เท่าทัน" ชาวต่างชาติได้นั้น ก็คงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่าการเตรียมประชาชนในประเทศ ให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด พร้อมที่จะเลือกสรรภูมิความรู้ที่เหมาะสมกับประเทศมาใช้
พระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและลึกซึ้งในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัด สมควรที่ปวงชนชาวไทยน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น
ดูเพิ่มเติมเรื่อง ศิลาจารึกและการอ่านจารึก เล่ม ๑๖ ฉันทลักษณ์ไทย เล่ม ๑๗ และวรรณคดีมรดก เล่ม ๒๔