ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การสกัดปัสสาวะของไต, การสกัดปัสสาวะของไต หมายถึง, การสกัดปัสสาวะของไต คือ, การสกัดปัสสาวะของไต ความหมาย, การสกัดปัสสาวะของไต คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การสกัดปัสสาวะของไต

           ในปี  ค.ศ. ๑๙๔๔  นักสรีรวิทยา  ชื่อ คาร์ล   ลุดวิค  (CarlLudwig) ให้ข้อคิดเห็นว่า  โกลเมอรูลัสภายในบาวแมนแคปซูลแต่ละอันทำหน้าที่เป็นตัวกรองสารที่มีโมเลกุลเล็กๆ ในเลือดให้ผ่านบาวแมนแคปซูลเข้าไปในเนฟรอน   การกรองสารเกิดขึ้นก็เนื่องจากแรงดันไฮโดรสแตติกภายในโกลเมอรูลัสเอง  ถ้าทฤษฎีของการกรองที่ลุดวิค ตั้งถูกต้องจริงของเหลวที่ผ่านจากเลือดเข้าไปในช่องภายในเนฟรอนก็จะต้องมีปริมาณเท่าที่ตรวจพบในเลือด ยกเว้นสารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ เช่น เม็ดเลือดและโปรตีนที่ละลายอยู่ในน้ำเลือดที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่เกินกว่าที่จะซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยออกมาได้ การวัดปริมาณของสารภายในบาวแมนแคปซูลนั้นทำได้ยากมาก เพราะนอกจากจะมีปริมาณเพียง เล็กน้อยแล้วยังนำมาวิเคราะห์ได้ยากอีกด้วย เพราะหน่วยเนฟรอนแต่ละหน่วยมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  ในระยะหลังๆ ได้มีการทดลองนำเอาหลอดแก้วเล็กๆ สอดเข้าไปดูดของเหลวภายในบาวแมนแคปซูลได้สำเร็จ     และสามารถดูดเอาของเหลวปริมาณเล็กน้อยมาวิเคราะห์หาปริมาณของสารต่างๆ เปรียบเทียบกับปริมาณที่วัดได้ในน้ำเลือด และพบว่าปริมาณของสารในบาวแมนแคปซูลเหมือนกับที่ได้ตรวจพบในน้ำเลือดทุกประการ สารที่นำมาหาปริมาณได้แก่น้ำตาลกลูโคส ยูเรีย เกลือแร่ต่างๆ  กรดอะมิโน ฯลฯ  นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าขณะที่แรงดันไฮโดรสแตติกในโกลเมอรูลัสเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ปริมาตรของเหลวภายในบาวแมนแคปซูลเพิ่มสูงขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงอีกด้วย เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรของเหลวที่บาวแมนแคปซูลกรองออกมาได้จากโกลเมอรูลัสนั้นไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ออกซิเจนในไตเหมือนกับที่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าไตไม่มีเส้นเลือดทำหน้าที่ดูดสารจากโกลเมอรูลัสเข้าสู่
บาวแมนแคปซูล  หลักฐานเหล่านี้สนับสนุนทฤษฎีของ ลุดวิค  ที่กล่าวไว้ว่า ขบวนการกรองสารจากโกลเมอรูลัสเข้าสู่บาวแมนแคซูลเป็นการกรองธรรมดา  ไม่มีแอคทีฟทรานสปอร์ตนำสารจากเลือดเข้าสู่บาวแมนแคปซูลเกิดขึ้นแต่อย่างไร การกรองสารนี้จะเกิดขึ้นได้ดีขึ้นอยู่กับการเต้นของหัวใจซึ่งจะมีผลไปเพิ่มความดันไฮโดรสแตติกของเลือดในโกลเมอรูลัส ของเนฟรอน    และหากลองคิดดูว่าถ้าสารที่กรองจากโกลเมอรูลัสเข้ามาในบาวแมนแคปซูลถูกขจัดออกไปนอกร่างกายหมดแล้ว   ร่างกายก็จะสูญเสียสารที่มีคุณค่าหลายชนิดในเลือด ลำพังแต่น้ำอย่างเดียวเราจะต้องดื่มเข้าไปชดเชยกับที่จะสูญเสียไปจากไตถึงวันละประมาณ  ๑๗๐  ลิตร   ไตซึ่งทำงานเป็นปกติจะไม่ยอมปล่อยให้สารที่มีคุณค่าต่างๆ หมดไปจากร่างกายหลังจากที่ถูกกรองผ่านบาวแมนแคปซูลออกไปได้ง่ายๆ  เพราะระหว่างที่สารที่ถูกกรองผ่านมาตามหลอดเล็กๆ ของเนฟรอนนั้น  หน่วยของเนฟรอนจะดูดเอาน้ำและสารต่างๆ หลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายกลับคืนสู่เส้นเลือดฝอยที่ปกคลุมอยู่ตลอดหน่วยของเนฟรอนไตผ่าซีกตามยาวเพื่อแสดงส่วนประกอบภายใน 
           ในคนพบว่าบาวแมนแคปซูลและหลอดทั้งส่วนต้นและส่วนท้ายของไตฝังอยู่ในชั้นคอร์เทกซ์ของเนื้อไต  ส่วนห่วงเฮนเลและคอเลกติง  ทิวบูลส์ฝังอยู่ในส่วนกลางของเนื้อไต(เมดัลลา) ขณะที่สารซึ่งถูกกรองเคลื่อนที่ผ่านไปตามหลอดของเนฟรอนนั้นร้อยละ ๙๙ของน้ำที่ถูกกรองเข้ามาอาจจะถูกเซลล์ที่อยู่รอบหลอดไตดูดกลับเข้าสู่เลือดภายในหลอดเส้นเลือดฝอยที่ปกคลุมเนฟรอนเป็นผลให้ไตสามารถที่จะผลิตปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูงกว่าในเลือดมาก  ทั้งๆ  ที่ปัสสาวะที่ถูกกรองออกมาจากเลือดครั้งแรกนั้นมีความเข้มข้นเท่ากับที่พบในเลือด      เกี่ยวกับขบวนการสร้างปัสสาวะที่เข้มข้นโดยหน่วยของเนฟรอน   พบว่าการเคลื่อนที่ของโซเดียมอิออน  (Na+)  ในห่วงเฮนเล  ซึ่งฝังอยู่ในเมดุลลา  ของไตมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง
          ตัวเลขที่แสดงในรูปเป็นหน่วยเปรียบเทียบของความเข้มข้นของสารละลายภายในเนฟรอน   และน้ำเหลวรอบๆ  ซึ่งจะพบว่าระดับความเข้มข้นของสารจะสูงมากขึ้นเมื่ออยู่ลึกเข้ามาในชั้นเมดุลลา   ตามรูปจะเห็นได้ว่ามีขบวนการแอคทีฟ     ทรานสปอร์ตของ   Na+   เกิดขึ้น    ที่ส่วนวกขึ้น (ascending  loop) ของห่วงเฮนเลมีการดูดเอา Na+ ออกไปจากหลอดไตทั้งๆ  ที่มีความเข้มข้นของสารละลายน้อยกว่าของเหลวที่อาบอยู่รอบๆ  Na+  บางส่วนจากภายนอกอาจถูกดูดกลับเข้าไปในส่วนวกลง  (decending   loop)   ของห่วงเฮนเลทำให้ส่วนนี้ของห่วงเฮนเลดูดน้ำจากภายในหลอดกลับออกมาเพื่อรักษาระดับของความเข้มข้นภายในหลอดเฮนเลให้เท่ากับของเหลวที่อยู่รอบๆ  สิ่งที่น่าสังเกต  คือ  ผนังของห่วงเฮนเลส่วนวกขึ้นไม่มีการดูดน้ำออกในขณะที่ Na+  ถูกดูดออกไปโดยวิธีแอคทีฟ  ทรานสปอร์ต   แสดงว่าส่วนนี้ของเนฟรอนไม่ยอมให้น้ำซึมผ่าน  ดังนั้นของเหลวที่ผ่านเข้าไปอยู่ในหลอดขดส่วนท้ายของหน่วยเนฟรอนจึงมีความเข้มข้นเจือจางกว่าของเหลวที่อยู่รอบๆ และเจือจางกว่าที่กรองมาจากเลือดครั้งแรกมาก  เมื่อมาเปิดสู่หลอดร่วมซึ่งกลับเข้ามาอยู่ในชั้น  เมดัลลา  ของไตอันเป็นบริเวณที่เข้มข้นสูงมากกว่า  ชั้นคอร์เทกซ์ก็จะค่อยๆ  ถูกดูดเอาน้ำออกมาจากหลอดร่วมเรื่อยๆ เพราะผนังของหลอดร่วมยอมให้น้ำซึมผ่านได้จนกระทั่งความเข้มข้นของปัสสาวะในหลอดเท่ากับความเข้มข้นของของเหลวที่อยู่ด้านในสุดของเมดัลลา  ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะที่ถูกขับออกมาภายนอกไตมีความเข้มข้นกว่าสารละลายที่พบในเลือดมาก
           การที่หลอดร่วมจะสร้างปัสสาวะเข้มข้นหรือเจือจางมากน้อยเท่าไรขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นร่างกายได้รับน้ำมามากหรือน้อย  เพราะปริมาณน้ำในเลือดมีผลต่อการทำงานของศูนย์ประสาทภายในสมอง    ซึ่งควบคุมการขับฮอร์โมนแวสโซเพรสซิน   (vasopressin)  เมื่อมีน้ำมากจะไม่มีการขับฮอร์โมนนี้   แต่เมื่อร่างกายขาดน้ำ  ฮอร์โมนนี้จึงจะถูกขับออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลังและทำหน้าที่ควบคุมหลอดขดหน่วยสุดท้ายของเนฟรอน  และหลอดร่วมให้ดูดน้ำกลับได้มากขึ้น   น้ำก็จะถูกดูดกลับมาสู่เลือดได้อีก  เป็นการช่วยประหยัดน้ำแก่ร่างกาย
           อันที่จริงสารที่ถูกดูดกลับโดยหลอดของเนฟรอนไม่ใช่น้ำแต่อย่างเดียว  คนที่มีสุขภาพสมบูรณ์จะมีการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคสทั้งหมด    กรดอะมิโนเกือบทั้งหมดและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิดเข้าสู่เลือด   ขบวนการดูดกลับนี้ต้องอาศัยพลังงาน  เพราะเป็นแอคทีฟ  ทรานสปอร์ต  นำเอาสารจากที่ที่มีความเข้มข้นมากกว่าสู่ที่ที่เจือจางกว่า     เช่นเดียวกันการดูด Na+ ออกจากหลอดเฮนเลส่วนวกขึ้น  อย่างไรก็ตามแม้หลอดของเนฟรอนจะสามารถดูดสารหลายชนิดกลับเข้าสู่เลือดได้ (ยกเว้น  ยูเรีย  และกรดยูริคเล็กน้อย)แต่การดูดกลับจะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับระดับของสารเหล่านี้ในเลือดด้วย  โดยถ้าเกินจากระดับที่เรียกว่า "เทรชโฮลด์" (threshold) นี้แล้ว  ไตจะไม่สามารถดูดกลับคืนมาได้     ระดับเทรชโฮลด์ของสารแต่ละชนิดไม่เหมือนกันเช่นน้ำตาลกลูโคสมีระดับเทรชโฮลด์ค่อนข้างสูงมาก    คนปกติน้ำตาลในเลือดระดับเทรชโฮลด์ไม่เกิน ๑๐๐ มิลลิกรัมในเลือด ๑๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร    เนฟรอนของไตจึงดูดกลับคืนเข้าสู่เลือดไปให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกายใช้ประโยชน์ได้    แต่ในคนที่เป็นโรคเบาหวาน  (diabetes mellitus)   เกิดจากต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อนทำงานบกพร่อง   ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์ได้  เพราะน้ำตาลในเลือดสูงเกินระดับเทรชโฮลด์  (ประมาณ ๑๖๐ มิลลิกรัมในเลือด ๑๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร) ไตไม่สามารถดูดคืนเข้าสู่เลือดได้หมด   ทำให้ปัสสาวะของคนที่เป็นโรคเบาหวานมีน้ำตาลปนอยู่ด้วย  เมื่อตั้งทิ้งไว้มดอาจขึ้นได้
           เส้นเลือดที่อยู่รอบๆ เนฟรอนนั้น  เดิมทีเดียวนักชีววิทยาเชื่อว่ามีหน้าที่เพียงดูดสารจากหลอดไตคืนเข้าสู่เลือดเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีผู้พบว่า เส้นเลือดเหล่านี้สามารถขับสารเคมีบางอย่างจากเลือดเข้าไปในหลอดเนฟรอน แล้วถูกกำจัดออกมาเป็นปัสสาวะได้ด้วยเส้นเลือดรอบๆ เนฟรอนจึงทำหน้าที่ช่วยกลุ่มเส้นเลือดโกลเมอรูลัสกำจัดของเสียที่ไม่ต้องการออกจากเลือดได้ด้วย
           อันที่จริงไตของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังชนิดต่างๆ  มีความสามารถในการสกัดปัสสาวะเข้มข้นได้ไม่เหมือนกัน  ไตของปลาทะเลไม่สามารถสกัดปัสสาวะที่เข้มข้นจากเลือดได้ จึงมีเซลล์พิเศษบริเวณเหงือกกำจัดเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกาย  พวกนกทะเลนกเพนกวิน  และนกอัลบาทรอส  รวมทั้งเต่าทะเลต่างก็มีไตซึ่งทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก  สัตว์พวกนี้มีต่อมพิเศษที่บริเวณศรีษะใกล้ๆ  กับลูกตา   ขับเอาเกลือแร่ส่วนเกินออกมาได้ในสภาพของสารละลายที่มีความเข้มข้นสูงมาก    นักวิทยาศาสตร์เรียกชื่อต่อมของสัตว์พวกนี้ว่าต่อมเกลือ (salt  gland)
          ในพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล   เช่น   แมวน้ำ   และปลาวาฬ   มักจะไม่ดื่มน้ำเพราะได้น้ำจากปลาที่มันกินเป็นอาหารอยู่แล้ว  เนื่องจากปลามีโปรตีนประกอบอยู่มาก   สัตว์ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องถ่ายเอาของเสียออกมา  ไตของสัตว์พวกนี้จึงสามารถขับถ่ายปัสสาวะซึ่งมียูเรียประกอบอยู่มากได้ ปลาวาฬตัวโตชนิดบลูเวลซึ่งกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร   มีปริมาณของเกลือแร่ในอาหารสูงกว่าปลาซึ่งมันกินเป็นอาหาร  ไตของปลาวาฬพวกนี้จึงขับถ่ายปัสสาวะที่มีเกลือแร่สูงกว่ายูเรีย
          หนูแกงการู  (kankaroo   rat)  ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลทรายมีลักษณะแตกต่างจากหนูธรรมดา    ตรงมีขาหลังแข็งแรงคล้ายจิงโจ้กระโดดได้ไกลมาก   และมีหางยาว   หนูพวกนี้ไม่มีโอกาสที่จะหาน้ำดื่มได้เลย    แต่ก็มีชีวิตรอดอยู่ได้โดยการกินเมล็ดพืช  เช่น  เมล็ดทานตะวันข้าว  หญ้าที่ขึ้นอยู่ในทะเลทรายเป็นอาหาร     ร่างกายได้น้ำจากเมตาโบลิซึมของอาหารโดยการหายในที่ระดับเซลล์ เนื่องจากได้น้ำมาอย่างยากเย็น  หนูแกงการูจึงมีวิธีที่สงวนน้ำที่ได้มาให้สูญเสียออกไปจากร่างกายน้อยที่สุด   โดยไม่ออกไปหากินเวลากลางวันที่มีแดดร้อนจัด    แต่จะหลบซ่อนอยู่ในรูทำให้ไม่มีการสูญเสียน้ำไปกับเหงื่อ   และอุจจาระก็แห้งไม่มีน้ำปนออกมาเหมือนสัตว์อื่น  ไตของมันก็มีประสิทธิภาพในการดูดน้ำกลับได้อย่างดีเยี่ยม     ปัสสาวะของหนูชนิดนี้    มีความเข้มข้นสูงมากกว่าที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ  แทบทุกชนิดนอกจากนี้ยังพบว่า      หนูชนิดนี้มีต่อมใต้สมองพูหลังโตมากและหลั่งฮอร์โมนแวสโซเพรสซินออกมาได้มากกว่าสัตว์อื่นๆ ด้วยหนูแกงการู สัตว์ทะเลทรายที่ไม่ต้องการน้ำดื่ม  
          เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ   ไตของคนมีประสิทธิภาพในการขับยูเรียและเกลือแร่ที่มีความเข้มข้นได้ไม่ดีนัก      นอกจากนี้ร่างกายของคนยังไม่มีกลไกอื่นใดที่จะช่วยในการประหยัดน้ำเหมือนกับในพวกปลา  นก และเต่าทะเล  ถ้าคนต้องอยู่ในทะเลนานๆ อาจได้รับอันตราย  เพราะถ้าเกิดการกระหายน้ำ   แล้วดื่มน้ำทะเลเข้าไป   น้ำทะเลจะไปกระตุ้นให้ไตขับปัสสาวะออกมามากยิ่งขึ้น   มากกว่าปริมาณน้ำทะเลที่ดื่มเข้าไปเพื่อกำจัดเกลือแร่ส่วนเกินที่ได้จากน้ำทะเล  ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากยิ่งขึ้น  เป็นผลให้มีารอ่อนเพลียและสิ้นสติสัมปชัญญะได้โดยง่าย  ผิดกับนกทะเลซึ่งจะไม่พบว่ามีผลกระทบกระเทือนแต่อย่างไร   เพราะร่างกายไม่สูญเสียน้ำออกมามากเหมือนกับคน
          นอกจากการดื่มน้ำทะเลเป็นอันตรายดังกล่าวแล้ว   การจับปลาทะเลมากินก็เป็นอันตรายเช่นกัน  เพราะจะมีผลทำให้มีการสร้างยูเรียในเลือดเพิ่มมากขึ้น    ร่างกายจะสูญเสียน้ำออกไปกับยูเรีย   ซึ่งขับออกมากับปัสสาวะ  เพราะไตของคนไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในทะเลหรือชีวิตที่แห้งแล้งมากๆ  ได้   ทางแก้ก็มีอยู่ทางเดียว   คือ  จะต้องมีน้ำจืดดื่มอย่างเพียงพอจึงจะสามารถทนอยู่ในสภาพดังกล่าวได้
          อูฐเป็นสัตว์ซึ่งอยู่ในทะเลทรายและที่แห้งแล้งได้เป็นเวลานานๆ แม้ว่าร่างกายของอูฐจะสูญเสียน้ำออกไปจากตัวถึง ๑๔ ของน้ำในร่างกายทั้งหมด  ก็ยังรอดชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นอันตราย    ทั้งนี้เนื่องจากอูฐมีคุณสมบัติผิดกับสัตว์อื่น  ถึงแม้จะเสียน้ำไปจากตัวถึงร้อยละ ๒๕  แต่น้ำในเลือดจะเสียออกไปน้อยมาก  คือ  ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ทำให้เลือดยังไหลวนเวียนอยู่ในร่างกายได้เกือบปกติ  มีผู้คำนวณว่าถ้าคนอยู่ในสภาวะอย่างเดียวกับอูฐ  ร่างกายจะสูญเสียน้ำจากเลือดไปเกือบร้อยละ  ๔๐ ทำให้เลือดแห้งและตายได้  เวลาอูฐเสียน้ำจากร่างกายมักจะผอมโซ   เมื่อไปเจอน้ำมันจะกินน้ำได้เป็นโอ่งๆ จึงจะคุ้มกับปริมาณน้ำที่มันสูญเสียไป แม้ว่าอูฐจะกินหญ้าซึ่งคุณภาพต่ำอยู่ในทะเลทราย  แต่กระเพาะอาหารของสัตว์พวกนี้มีบักเตรีบางชนิดอาศัยอยู่  สามารถเปลี่ยนยูเรียให้เป็นกรดอะมิโนและโปรตีนได้
          ยูเรียส่วนน้อยเท่านั้นจะถูกไตกำจัดออกมากับปัสสาวะ  ทำให้ปัสสาวะของอูฐไม่เข้มข้นเหมือนสัตว์ทะเลทราย  เช่น  หนูแกงการู นักวิทยาศาสตร์เคยประหลาดใจอยู่เป็นเวลานานว่า       ทำไมอูฐซึ่งเป็นสัตว์ทะเลทราย คงทนต่อความแห้งแล้งได้ดีเยี่ยม  จึงมีปัสสาวะที่เจือจางและมีปริมาณยูเรียต่ำ การที่มียูเรียออกมาน้อยช่วยให้อูฐไม่ต้องสูญเสียน้ำออกมากับปัสสาวะมากขึ้น  คุณสมบัติดังกล่าวนี้ทำให้อูฐเป็นสัตว์ที่สามารถอดน้ำและอดอาหารในที่แห้งแล้งได้เป็นเวลานาน  ดังนั้นอูฐจึงเป็นสัตว์ที่ใช้งานได้ดีที่สุดในแถบทะเลทราย

การสกัดปัสสาวะของไต, การสกัดปัสสาวะของไต หมายถึง, การสกัดปัสสาวะของไต คือ, การสกัดปัสสาวะของไต ความหมาย, การสกัดปัสสาวะของไต คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu