American Bollworm, Family Noctuidae Order Lepidoptera
ถิ่นแพร่ระบาด
พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ยกเว้นอเมริกา แต่บางตำรากล่าวว่า ฮีลิโอทิส ฮีลิโคเวอร์พา (Heliothis helicoverpa) ที่ทำลายฝ้ายในอเมริกาเป็นชนิดเดียวกัน ในเมืองไทยพบระบาดทำความเสียหายทุกแห่งที่มีการปลูกฝ้าย
ลักษณะของแมลง
ไข่ มีลักษณะกลม คล้ายฝาชี มีร่องจากยอดถึงฐาน ๒๔ ร่อง ไข่ตอนแรกจะมีสีขาวอมเหลือง เลื่อมแสง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก่อนฟักตัวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๔-๐.๕ มิลลิเมตร
หนอน ตามธรรมดามี ๕ ระยะ ระยะที่ ๑ และ ๒ จะมีสีเหลือง ขาวอมเหลืองถึงสีน้ำตาลแดง มีจุดดำเห็นทั่วไป ระยะต่อไปมีรูปลวดลายสีต่าง ๆ กัน
หนอนระยะที่ ๑ ยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร และภายใน ๒๔ ชั่วโมง จะยาว ๒-๒.๕ มิลลิเมตร
หนอนระยะที่ ๒ ยาวประมาณ ๓.๕-๔.๕ มิลลิเมตร
หนอนระยะที่ ๓ ยาวประมาณ ๘-๙ มิลลิเมตร
หนอนระยะที่ ๔ ยาวประมาณ ๑๗-๑๘ มิลลิเมตร
หนอนระยะที่ ๕ ยาวประมาณ ๒๕-๓๐ มิลลิเมตร
หนอนโตเต็มที่ ยาวประมาณ ๔๐ มิลลิเมตร สีต่างกันมาก บางทีอาจเป็นสีเขียว น้ำตาล ชมพู น้ำตาลแดง จนกระทั่งดำ
ดักแด้ มีสีน้ำตาลไหม้ ผิวเรียบ หัวท้ายกลม ยาวประมาณ ๑๔-๑๘ มิลลิเมตร
ตัวแก่ รูปร่างป้อม ยาวประมาณ ๑๘ มิลลิเมตร กางปีก ๔๐ มิลลิเมตร สีต่างกัน จากสีเหลืองทึบ เทาอมเขียว จนกระทั่งสีน้ำตาล มีวงกลมสีดำเห็นชัดอยู่ตรงกึ่งกลางปีกหน้า
ชีวประวัติและนิสัย
หลังจากผีเสื้อออกจากดักแด้แล้ว ๒-๕ วัน จึงเริ่มผสมพันธุ์ ตัวเมียวางไข่ได้โดยไม่ผสมพันธุ์ แต่ไข่ไม่ฟัก ในเวลากลางวัน ผีเสื้อเกาะนิ่ง ๆ และเริ่มเคลื่อนไหวหลังจากพระอาทิตย์ตก อาหารของผีเสื้อเป็นจำพวกน้ำหวานชนิดต่างๆ ไข่ส่วนมากพบบนด้านบนของใบถึงปี้ดอก วางไข่เดี่ยว ๆ กระจัดกระจายทั่วไป ตัวเมียตัวหนึ่งวางไข่ติดต่อกัน ๔-๘ วัน ตลอดชีวิตของผีเสื้อจะวางไข่ได้ ๖๘๔-๒,๐๖๒ ฟอง
เมื่อหนอนฟักออกมา มักจะกัดกินเปลือกไข่หมดก่อนที่จะกินสมอฝ้าย มันจะแทะกินทุกหนทุกแห่งของต้นฝ้าย จนกระทั่งพบตาดอก ดอก หนอนเล็ก ๆ ไม่ค่อยจะเจาะกินสมอโต หนอนโตขึ้นชอบกินตาดอกและสมออ่อน ส่วนหนอนโตเต็มที่จะกินทุกส่วน เช่น ตาดอก ตา สมออ่อน สมอแก่ การแทะกินสมอที่โต ๆ ส่วนมากหัวของหนอนจะอยู่ในโพรงที่เจาะ ดอกและสมอที่ถูกทำลายจะพบมูลของหนอนถ่ายออกมาเต็มระหว่างกลีบรอบสมอกับสมอ หนอนเคลื่อนไหวเปลี่ยนที่กินอยู่เสมอ ถ้าอยู่รวมกันมันจะกัดกันเอง และจะกินตัวที่บาดเจ็บ ถ้าขาดอาหาร หนอนจะอพยพไปหากินไกลๆ โดยคลานไปตามพื้นดิน
หนอนตัวโตเต็มที่จะทิ้งตัวจากต้นพืชลงดิน แล้วเข้าดักแด้ในดิน หรือรอยแตกระแหงซึ่งลึกประมาณ ๑-๗ นิ้ว ผีเสื้อออกจากดักแด้จะคลานขึ้นมาบนดิน
ชีพจักร
ศึกษาที่ห้องทดลองบางเขน ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ อุณหภูมิ ๒๕-๒๗ องศาเซลเซียส
ระยะไข่ ๒ - ๓ วัน
ระยะหนอน ๑๔ - ๑๗ วัน
ระยะดักแด้ ๑๐ - ๑๒ วัน
ระยะผีเสื้อ ๑๗ - ๑๘ วัน
ระยะอายุขัย ๓๔ - ๕๐ วัน
ชีพจักรนี้ขึ้นอยู่กับ อิทธิพลของสภาพดินฟ้าอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ในแต่ละสิ่งแวดล้อม ชีพจักรอาจแตกต่างกันมาก
พืชอาศัย
ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มะเขือเทศ ยาสูบ ถั่วต่าง ๆ และยังมีพืชอื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิด เป็นอาหารให้หนอนเจาะสมออเมริกันขยายพันธุ์ตลอดปี
ศัตรูธรรมชาติ
ขณะนี้มีแมลงวันชนิดหนึ่งพบทำลายหนอนเจาะสมออเมริกัน เป็นแมลงในวงศ์แทไคนิดี (Family Tachinidae) สกุลทาชินา (Tashina sp.)
การทำลายและความเสียหาย
หนอนเจาะสมออเมริกันจะกินใบฝ้าย ถ้าอาหารที่มันชอบ เช่น ตาดอก ดอก สมออ่อน มีไม่เพียงพอ ถ้าเป็นตาดอก หนอนจะกินข้างในหมด เหลือแต่ส่วนนอก หนอนจะเคลื่อนไหวกัดกินไปเรื่อย ๆ โดยกินไม่ค่อยหมด นิสัยนี้เพิ่มความเสียหายยิ่งขึ้น เพราะสมอที่ถูกเจาะแล้ว เชื้อราและบัคเตรีจะทำลายที่รอยแผลต่อไป
ความเสียหายจะมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการระบาดและเวลาเข้าทำลาย หนอนเข้าทำลายตั้งแต่ตอนต้นฤดู และมีปริมาณการระบาดสูง ความเสียหายจะรุนแรงมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าหนอนเข้าทำลายล่า และปริมาณน้อย ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็น้อยด้วย
ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๙ หนอนชนิดนี้เกิดเพียงบางปี และเป็นเฉพาะแห่ง ความเสียหายอยู่ในระดับต่ำมาก แต่หลังจากนั้นหนอนค่อยระบาดเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง พบแทบทุกแห่งที่มีฝ้าย ทำความเสียหายอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้การส่งเสริมขยายเนื้อที่ปลูกต้องล้มเหลว ดังจะเห็นว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อที่ปลูกฝ้ายเหลือเพียงร้อยละ ๑๐ - ๒๐ ของเนื้อที่ปลูกปีก่อน ซึ่งมีเกือบถึงล้านไร่ โดยเฉพาะเขตสุโขทัยแหล่งฝ้ายใหญ่และเก่าที่สุด ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อที่ปลูกประมาณ ๒ แสนไร่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เหลือเพียงประมาณ ๔ หมื่นไร่เท่านั้น