พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร
พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร หมายถึง, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร คือ, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร ความหมาย, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร คืออะไร
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระมหากษัตริย์ไทยได้เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ตั้งแต่ยังทรงพระผนวชอยู่ ได้มีพระราชดำริว่า เมื่อคำนวณวันทางสุริยคติวันใดตรงกับวันพระราชสมภพ ก็จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องจากทรงรำลึกว่าการมีอายุจนบรรจบรอบปีไม่ตายไปก่อนนั้น เป็นลาภอันอุดมอย่างหนึ่งควรยินดี น่าที่จะบำเพ็ญกุศลอันเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น และทำใจให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ด้วยไม่สามารถจะรู้ได้ว่า จะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนบรรจบรอบปีเช่นนี้ได้อีกหรือไม่ ดังนั้น แม้เมื่อทรงลาพระผนวชมาดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ก็ยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันทางสุริยุคติที่ตรงกับวันพระราชสมภพ อันเป็นต้นเค้าของพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อ พุทธศักราช ๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร ๓๖ พรรษา เป็นมหามงคลวาระพิเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาประจำปีนั้นเป็นพิเศษ ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา การใดที่เป็นราชประเพณีแต่ยังมิได้ทรงกระทำเมื่อทรงรับบรมราชาภิเษก คือ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคและชลมารค ก็โปรดให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคขึ้นก่อนในมหามงคลวโรกาสนี้ นอกจากนั้นตามที่ทรงหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลขึ้นตามบูรพราชประเพณี เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๕๐๖ โปรดให้ประกอบการพระราชพิธีฉลองสมโภชพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้นด้วย สำนักพระราชวังจึงขอพระราชทานชื่อการพระราชพิธีขึ้นใหม่ว่า “พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร”
การหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลเป็นราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนานคือ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว จะทรงหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ขึ้นไว้สำหรับทรงสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ราชสมบัติ และรัฐสีมาอาณาจักร พระราชวงศ์และทวยนาครภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารจักได้อยู่เย็นเป็นสุข ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ก็มีการเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ไปในงานพระราชสงครามด้วย แสดงว่าอย่างน้อยก็มีพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์นี้มาตั้งแต่รัชกาลนั้นแล้ว
พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษกว่าพระพุทธรูปธรรมดาคือ เป็นแบบนั่งขัดสมาธิเพชร แต่พระหัตถ์ซ้ายจะอยู่ในลักษณะถือด้ามพัด เป็นพระพุทธรูปขนาดย่อมหรือค่อนข้างเล็ก เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปในพิธีต่าง ๆ ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จะต้องเชิญมาประดิษฐานในมณฑลพิธีเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานพระราชสงคราม ถ้าเป็นทางสถลมารคก็จะเชิญขึ้นช้าง นำหน้าช้างพระที่นั่งจึงเรียกว่า “พระชัยหลังช้าง” ทางชลมารคก็เชิญลงเรือพระที่นั่ง หน้าเรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน จนต่อมากึงแม้มิใช่งานพระราชสงคราม เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมือง ก็เชิญเข้ากระบวนเสด็จด้วยเสมอ ท่านผู้รู้ทางโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า คำว่า “ชัย” นั้น หมายถึงชัยชนะในงานสงครามนั่นเอง แม้แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็มีพระมติว่าพระชัยน่าจะมาจากพระมารวิชัย ที่ถือตาลปัตรทำให้นึกไปได้ว่าเพื่อบังอาวุธ แต่ทั้งนี้ไม่ทรงยืนยันว่าจะผิดหรือถูก เพราะเป็นการคาดคะเนเอาเท่านั้น
พระราชพิธีหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลนั้น ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญ มีขั้นตอนการดำเนินพิธีมาก ในรัชกาลก่อนๆ ใช้เวลาถึง ๕ วันก็มี พระพุทธมนต์ที่พระสงฆ์สวดในพิธีก็เป็นพระพุทธมนต์พิเศษใช้ในการนี้โดยเฉพาะ มีการสวดภาณวาร คือ นั่งปรกปลุกเสกกันทั้งวันทั้งคืนตลอดพระราชพิธี และมีพิธีพราหมณ์ประกอบด้วย ในรัชกาลปัจจุบันแม้จะได้ปรับปรุงขั้นตอนของพระราชพิธีให้กะทัดรัดเหมาะสมกับกาลสมัย ก็ยังต้องใช้เวลาถึง ๓ วัน คือ ตั้งแต่วันที่ ๒๙-๓๑ ตุลาคมพุทธศักราช ๒๕๐๖ ซึ่งโหรหลวงได้คำนวณพระฤกษ์ศุภมงคล เพื่อประกอบการพระราชพิธีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยมีพระราชพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งหล่อด้วยเงิน ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรภายใต้ฉัตร ๕ ชั้น หน้าตักกว้าง ๗ นิ้ว สูงจากทับเกษตรถึงยอดพระรัศมี ๙ นิ้ว ทรงพัดแฉก ที่ฐานจารึกอักษรไทยเป็นภาษามคธ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
ความตั้งใจมุ่งมั่น ความเพียร ความมีขันติ เป็นพลังที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จโดยแท้
ผู้บรรลุถึงความสำเร็จนั้น เป็นบัณฑิต ได้รับความชนะมาก ย่อมก่อให้เกิดความสุขยินดี
ต่อมา “เลขาธิการพระราชวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ในปีเถาะ พุทธศักราช ๒๕๐๖ นี้ เป็นสมัยที่บรรจบครบ ๓ รอบปีแห่งพระบรมราชสมภพ ทรงพระราชปรารถที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นพิเศษ ซึ่งได้ทรงหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลขึ้นไว้ตามบูรพราชประเพณี บัดนี้การแต่งพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีฉลองสมโภชพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ที่ได้ทรงหล่อไว้นั้นในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคตามโบราณราชประเพณี ไปทรงบูชาพระรัตนตรัย ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสแห่งมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบนี้ด้วย” พระราชพิธีดังกล่าวมีรายการดังนี้
วันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ เป็นพระราชพิธีฉลองสมโภชพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ทรงบรรจุดวงชาตาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานองค์พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ทรงพระสุหร่าย ถวายผ้าทรงสะพัก และทรงเจิม แล้วเจ้าพนักงานเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมหาเศวตฉัตรพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ทรงประเคนภัตตาหาร จตุปัจจัยไทยธรรม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน เวียนเทียนสมโภชพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล
วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ เวลา ๑๐.๓๐ น. เสด็จออก ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรีและข้าราชบริพาร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทน้อมเกล้าฯ ถวายชัยมงคล มีพระราชดำรัสตอบขอบใจ และพระราชทานพรให้ทุกคนประสบความสุขความเจริญ
เวลา ๑๖.๓๐ น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเทพยดานพเคราะห์ จากนั้นเสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ทรงสถาปนาสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่เลขาธิการพระราชวังและสมุหราชองครักษ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่ข้าราชการผู้ใหญ่
วันที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ มีพระราชพิธีสรงมูรธาภิเษก แล้วทรงสดับพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ
เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและผู้แทนฝ่ายกงสุลเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายชัยมงคลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหามาลา ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคตามโบราณราชประเพณี จากพระบรมมหาราชวังไปสู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงบูชาพระรัตนตรัยทดแทนการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในงานพระบรมราชาภิเษก ซึ่งเดิมเป็นการประกาศพระองค์ให้พสกนิกรได้ชมพระบารมี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแปรความหมายของพระราชพิธีนี้ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปบูชาพระรัตนตรัยยังพระอารามหลวง การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ จึงเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น ในความสง่างามและระเบียบแบบแผนอันสูงส่งของไทยเป็นอยู่อย่างยิ่ง และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชาติให้ธำรงสืบต่อไป ทำให้นานาประเทศได้รับทราบถึงความเจริญของวัฒนธรรมไทยด้วย
พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร หมายถึง, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร คือ, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร ความหมาย, พระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบพระนักษัตร คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!