ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หมายถึง, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความหมาย, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

          พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญยิ่งสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข เพราะเป็นการเชิดชูเฉลิมพระเกียรติว่า เป็นพระราชาธิบดีของประเทศนั้นโดยสมบูรณ์แล้ว หรือจะกล่าวทางสังคมวิทยาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็คือ การแสดงการยอมรับนับถือประมุขของสังคมนั่นเอง ดังนั้นตามโบราณราชประเพณีของไทย  พระนามของผู้ได้รับการเลือกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ยังคงใช้ขานพระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า  “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน”  ต่อท้ายพระนามเครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตรมีเพียง ๗ ชั้น มิใช่  ๙  ชั้น  คำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า  พระบรมราชโองการ จนกว่าจะได้ทรงรับการบรมราชาภิเษก จึงถวายพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์

          พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของประเทศไทยที่ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ  ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัยกล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการประกอบพระราชพิธีว่ามีขั้นตอนอย่างใด จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ  ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขปเมื่อพุทธศักราช  ๒๓๒๕ ครั้งหนึ่งก่อน แล้วทรงตั้งคณะกรรมการ  โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วนตั้งขึ้นเป็นตำรา แล้วทรงทำบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่งเมื่อพุทธศักราช  ๒๓๒๘ และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลต่อๆ  มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาลก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยให้เหมาะสมกับกาลสมัย ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์และโบราณราชประเพณีได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูลของพราหมณ์และราชบัณฑิตตอนถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์  กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลีและคำแปลเป็นภาษาไทย  ทั้งนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระราชพิธีนี้มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา  ส่วนบทมนต์ต่างๆ ของพราหมณ์  ท่านผู้รู้ทางภาษาตะวันออกโบราณวินิจฉัยว่า เป็นภาษาทมิฬโบราณ

         ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบัน  เมื่อพุทธศักราช  ๒๔๙๓  นั้น ทางราชสำนักได้ยึดงานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗  เป็นหลักแต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย          ได้ดำเนินตามโบราณราชประเพณีทุกประการ เป็นแต่ได้ปรับปรุงพิธีการบางอย่าง ให้เหมาะสมกับกาลสมัยและภาวะของบ้านเมือง  โดยมีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย  ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะดวงตราพระราชลัญจกร ณ  พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช๒๔๙๓ ตามเวลาอันเป็นพระมงคลฤกษ์

          วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช  ๒๔๙๓  เป็นวันเริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ตัดทอนพิธีเบื้องต้นลงให้พอเหมาะแก่กาลสมัย คือ ไม่มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตั้งน้ำวงด้ายสายสิญจน์รอบพระแท่นมณฑลพิธี  การเจริญพระพุทธมนต์ บรมราชาภิเษก ๓ วันก็กระทำเพียงวันเดียวพิธีจุดเทียนชัยบูชาพระสยามเทวาธิราช พระมหาเศวตฉัตร ๕ แห่ง  และสถานที่เคารพอีก๑๓  แห่ง  กระทำในตอนเย็น  ก่อนพิธีประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเจริญพระพุทธมนต์ระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พราหมณ์ประกอบพิธีถวายใบสมิตตามลัทธิพราหมณ์  คือ  ถวายใบมะม่วง ใบทอง และใบตะขบ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปัดพระองค์ แล้วนำใบไม้นั้นไปทำพิธีศาสตรปุณยา  ชุบโหมเพลิง  เป็นการปัดเป่าผองภยันตรายทั้งปวงให้พ้นจากพระองค์พระมหากษัตริย์

          วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓  เวลา ๑๑.๒๑ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงพระมูรธาภิเษกจากสหัสธารา พระสงฆ์ในมณฑลพระราชพิธีเจริญชัยมงคลคาถา  ชาวพนักงานประโคมสังข์  แตร  มโหระทึก  และเครื่องดุริยางค์ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ยิงปืนเฉลิมพระเกียรติ ๒๑ นัด

          ต่อจากนั้น  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ  ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้พระบวรมหาเศวตฉัตรแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพาเป็นปฐม  เพื่อทรงรับน้ำอภิเษก โดยเปลี่ยนจากราชบัณฑิตเป็นสมาชิกรัฐสภา พิธีถวายน้ำอภิเษกนี้มีความหมายว่าเพื่ออัญเชิญสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงแผ่พระราชอาณา ปกครองประชาชนทั้งหลายทั่วทิศทั้ง  ๘ เมื่อทรงผันพระองค์เวียนมาสู่ทิศบูรพาแล้ว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร (จิตร ณ  สงขลา)  ประธานวุฒิสภา  กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลด้วยภาษามคธ  นายเพียรราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย

          เมื่อเสร็จพิธีถวายน้ำอภิเษกแล้ว พระราชคูรวามเทพมุนี (สวาสดิ์ พราหมณกุล) ทำหน้าที่พระมหาราชครู  กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลด้วยภาษามคธและภาษาไทย  แล้วน้อมเกล้าฯ  ถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตอนนี้ชาวประโคมประโคมสังข์ แตร  เครื่องดุริยางค์อีกครั้งหนึ่ง

          ต่อจากนั้น  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ  ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรพระราชครูวามเทพมุนีร่ายเวทสรรเสริญ ศิวาลัยไกรลาส  จบแล้วกราบบังคมทูลถวาย เครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นภาษามคธแล้วทูลเกล้าฯ  ถวายพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์เครื่องราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธพระสงฆ์เจริญชัยบงคลคาถา  ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร ฯลฯ  กองทหารถวายความเคารพบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารยิงปืนกองแก้วจินดาตามกำลังวันศุกร์  ๒๑ นัด ทหารบกทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๑๐๑ นัด  พระสงฆ์ในพระอารามทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังถวายชัยมงคล

          เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์แล้ว พระราชครูวามเทพมุนีกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลด้วยภาษามคธและภาษาไทย  จากนั้นจึงมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระราชครูวามเทพมุนีรับสนองพระปฐมบรมราชโองการ แล้วทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน จะทรงปฏิบัติพระราชกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจรรยา  ดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้

          เวลา ๑๔.๐๐ น. เสด็จพระราชดำเนินออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ คณะรัฐมนตรี  ทูตานทูต  สมาชิกรัฐสภาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคล

          เวลา ๑๔.๔๐ น.  มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์พระอัครมเหสี ให้ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

          วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เวลา ๑๙.๕๔ น. มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินี  ประทับแรมในพระบรมมหาราชวังรุ่งเช้าจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

          วันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓  เสด็จออกท้องพระโรงกลาง  พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  คณะทูตานุทูตและกงสุลเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายชัยมงคล

           เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท คณะบุคคลและสมาคมต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคล จากนั้นเสด็จออกสีหบัญชรพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลในนามประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ

          เวลา ๑๗.๐๐ น. เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ในพิธีเฉลิมพระนาม  สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์  สมเด็จพระสังฆราช และทรงตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ แล้วทรงสดับพระธรรมเทศนา  ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ญานวโร)  ถวายพระธรรมเทศนามงคลสูตรรัตนสูตร  และเมตตสูตร รวมหนึ่งกัณฑ์

          วันที่  ๘  พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓  เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ในพิธีสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์  ได้แก่  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระชัยนาทนเรนทรพระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้านักขัตรมงคล  จากนั้นทรงสดับพระธรรมเทศนา  ซึ่งสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์  สมเด็จพระสังฆราช  ถวายพระธรรมเทศนาเทวตาทิสนกถา  ทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร รวมหนึ่งกัณฑ์  การถวายพระธรรมเทศนาทั้งสองวันนี้ลือว่าเป็นการสำคัญมาก พระภิกษุที่ถวายเทศน์ขึ้นนั่งบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร มิใช่นั่งเทศน์บนธรรมาสน์เทศน์ธรรมดาเช่นการพระราชพิธีอื่น  การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พุทธศักราช  ๒๔๙๓ จึงเป็นอันสิ้นสุดลง  ส่วนการเสด็จเลียบพระนครเป็นการไม่สะดวกในขณะนั้น แต่ได้ยกมากระทำการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคในพระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบพระนักษัตร เมื่อพุทธศักราช  ๒๕๐๖

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรฌ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช  ๒๕๐๓ ทรงกล่าวถึงความสำคัญของประเพณีไว้ว่า

          “ประเพณีนั้น หมายถึง แบบแผน หรือขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา การสิ่งใดที่ริเริ่มขึ้นแล้วได้รับความนิยมถือปฏิบัติตามกันต่อไปจัดว่าเป็นประเพณี  คนเราจะดำเนินชีวิตก็ต้องมีแบบแผนเป็นหลัก  เราจึงต้องมีประเพณีเป็นแนวปฏิบัติ ชาติไทยเราได้มีประเพณีที่ดีงามมาแต่โบราณกาล  บรรพบุรุษของเราได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาหลายชั่วคน  เมื่อตกทอดมาถึงเราเช่นนี้ เราควรจะรับไว้ด้วยความเคารพ...”

          พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีที่สำคัญยิ่ง เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ สง่างามและแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนงดงาม และเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทรงพระเกียรติอันสูงส่ง สมกับที่เป็นหลักชัยเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยไปตลอดกาลนาน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หมายถึง, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความหมาย, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu