
การส่งถ่ายยีนโดยการใช้เครื่องยิงอนุภาคเป็นวิธีการส่งถ่ายยีนเข้าสู่พืชด้วยวิธียิงยีนเข้าสู่เซลล์ ยีนที่ใช้จะนำมาเคลือบไว้บนอนุภาคโลหะขนาดเล็ก เช่น อนุภาคทองคำ หรืออนุภาคทังสเตน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำยีนเข้าสู่เซลล์โดยใช้แรงผลักดันจาก แหล่งต่างๆ เช่น แรงขับจากดินปืน แรงขับจากกระแสไฟฟ้า หรือแรงดันของก๊าซ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวผลักดันอนุภาคโลหะเข้าสู่เนื้อเยื่อเป้าหมายผ่านผนังเยื่อหุ้มเซลล์ภายใต้สภาวะสุญญากาศ และเกิดการเชื่อมต่อระหว่างยีนที่ต้องการกับโครโมโซมของเซลล์เป้าหมาย วิธีการส่งถ่ายยีนโดยการใช้เครื่องยิงอนุภาคเป็นวิธีที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการส่งถ่ายยีนเข้าสู่พืชสำคัญบางชนิด เช่น กลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่ไม่ตอบสนองต่อการส่งถ่าย ยีนด้วยแบคทีเรียAgrobacterium
การพัฒนาพันธุ์สัตว์ด้วยวิธีการส่งถ่ายยีนนั้นได้รับการพัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับการส่งถ่ายยีนเข้าสู่พืช โดยมีการพัฒนาทั้งใน ปศุสัตว์ที่สำคัญและในสัตว์น้ำ ยีนที่ทำการส่งถ่ายมีทั้งยีนที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของการผลิตสัตว์ เช่น ยีนเร่งการเจริญเติบโต ยีนต้านทานการเกิดโรค และยีนปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต การส่งถ่ายยีนในสัตว์มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเป้าหมายที่นำมาใช้ในการส่งถ่ายยีนซึ่งแตกต่างกับการส่งถ่ายยีนในพืช เพราะเซลล์ของสัตว์นั้นเมื่อทำการแยกมาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ จะไม่มีความสามารถพัฒนากลับไปเป็นตัวสมบูรณ์ได้เหมือนในเซลล์พืช ชนิดของเนื้อเยื่อเป้าหมายในการส่งถ่ายยีนเข้าสู่เซลล์ของเซลล์สัตว์จึงมีน้อยกว่าเซลล์พืช ได้มีการพัฒนาวิธีการส่งถ่ายยีนจากภายนอกเข้าสู่เซลล์สัตว์ในหลากหลายวิธี วิธีที่ประสบผลสำเร็จและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ วิธีฉีดดีเอ็นเอเข้าไปในไข่ของสัตว์ก่อนได้รับการผสม หรือเพิ่งได้รับการผสมที่อยู่ในระยะ ๑ - ๒ เซลล์ของการพัฒนา แล้วนำไข่ที่ทำการส่งถ่ายยีนเข้าเพาะเลี้ยงเพื่อพัฒนาเป็นตัวสมบูรณ์ในสัตว์ที่ใช้เป็นตัวแม่ต่อไป เทคนิคนี้เรียกว่า เทคนิคการส่งถ่ายยีนโดยการใช้เข็มฉีด (microinjection) งานวิจัยเริ่มแรกทำในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต่อมาได้พัฒนาวิธีการนำมาใช้ส่งถ่ายยีนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ สัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย และปศุสัตว์ เช่น หมู วัว แพะ แกะ จนถึงการส่งถ่ายยีนเข้าสู่สัตว์ปีก เช่น ไก่ และสัตว์น้ำ เช่น ปลา