การปลูกถ่ายอวัยวะ
การปลูกถ่ายอวัยวะ, การปลูกถ่ายอวัยวะ หมายถึง, การปลูกถ่ายอวัยวะ คือ, การปลูกถ่ายอวัยวะ ความหมาย, การปลูกถ่ายอวัยวะ คืออะไร
การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สำคัญมากในปัจจุบัน และทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปอย่างปกติสุข การปลูกถ่ายอวัยวะที่ทำในอดีตนั้นมักได้ผลไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ แต่ในปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในแทบทุกแขนงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้สำเร็จมากขึ้น จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดพยาธิ-สภาพในอวัยวะต่างๆ จนอาจถึงกับทำให้อวัยวะนั้นๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติหรืออาจจะไม่ทำงานเลย ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น
มีของเสียคั่ง หรือร่างกายขาดสารสำคัญต่อการดำรงชีพ หรือเสียการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ และปอด เป็นต้น ถ้าภาวะดังกล่าวเป็นไม่มากนัก แพทย์อาจให้การรักษาโดยการช่วยเสริมการทำงานของอวัยวะนั้น เช่น ใช้เครื่องไตเทียมในการช่วยขับของเสียในร่างกายของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง หรือให้ยากระตุ้นให้หัวใจของผู้ป่วยบีบตัวได้ดีขึ้น หรืออาจรักษาโดยการให้สารทดแทนส่วนที่ขาดไปเมื่ออวัยวะนั้นไม่ทำงาน เช่น การให้เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยโรคไขกระดูกที่ไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ เป็นต้นอย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นมักได้ผลไม่ดีนัก และจำเป็นต้องรักษาตลอดไปเป็นเวลานาน ดังนั้นการรักษาที่น่าจะได้ผลดีที่สุด คือ การเปลี่ยนเอาอวัยวะที่ทำงานได้ไม่ดีออกไปแล้วนำอวัยวะใหม่ที่ทำงานเป็นปกติใส่เข้าไปแทนที่ซึ่งเรียกว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ
ในทางทฤษฎีนั้น แพทย์สามารถปลูกถ่ายอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย แต่การปลูกถ่ายอวัยวะบางอย่างยังทำได้ยากและได้ผลไม่ดีนักการปลูกถ่ายอวัยวะที่สามารถทำได้ผลดีในปัจจุบันและนิยมกระทำกันอย่างแพร่หลาย คือ การปลูกถ่ายไต ตับ ไขกระดูก หัวใจ ปอด หัวใจและ ปอด ลำไส้ และตับอ่อน เป็นต้น
การปลูกถ่ายอวัยวะในอดีต มีปัญหาสำคัญมาก ๒ ประการ คือ
๑. ปัญหาการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเอาอวัยวะที่เสียออกไปแล้วนำเอาอวัยวะที่ดีใส่เข้ามาแทนที่ การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ กระทำได้ยากและจำเป็นต้องกระทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญสูง อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายนี้ อาจได้จากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ถ้าอวัยวะนั้นมีมากกว่า ๑ ข้าง เช่น ไต แต่อวัยวะใหม่ส่วนใหญ่นี้ มักได้จากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิต หรือผู้ป่วยที่สมองตาย การผ่าตัดนี้ต้องทำอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่สามารถจะเก็บรักษาอวัยวะที่ได้มานี้ไว้นอกร่างกายได้นาน นอกจากนี้มีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ มากกว่าจำนวนอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่าย ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายต้องรอรับการรักษาเป็นเวลานานผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตก่อนได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการผ่าตัด และในการเก็บรักษาอวัยวะได้นานขึ้นทำให้การผ่าตัดทำได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาอวัยวะแต่ละส่วน จากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตหนึ่งราย ไปให้ผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะหลายรายได้
๒. ปัญหาการที่ผู้ได้รับอวัยวะต่อต้านอวัยวะที่ให้เข้าไปใหม่ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยเฉพาะต่อเชื้อจุลชีพต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส รวมทั้งเซลล์แปลกปลอมอื่นๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นจะไม่ถือว่าอวัยวะของตนเองเป็นสิ่งแปลกปลอมแต่ถือว่าอวัยวะใหม่ที่ได้มาจากผู้อื่นนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงทำการต่อต้านและไม่ยอมรับอวัยวะนี้ ทำให้เกิดการทำลาย และการอักเสบของอวัยวะใหม่ จนไม่สามารถทำงานได้ เกิดอันตรายต่อตัวผู้ได้รับอวัยวะเองด้วย (graft rejection) นอกจากนี้อาจมีเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ให้อวัยวะใหม่ที่ใส่เข้าไป อาจจะถือว่าอวัยวะของร่างกายผู้รับเป็นสิ่งแปลกปลอมเช่นกัน และทำให้เกิดการพยาธิสภาพต่ออวัยวะต่างๆ ของผู้รับ (graft versus host disease)
การเข้ากันไม่ได้ระหว่างผู้รับอวัยวะกับอวัยวะใหม่ เกิดเนื่องจากการที่ผู้ได้รับอวัยวะมีสารโปรตีนบนผิวเซลล์ที่เรียกว่าแอนติเจน เอช แอล เอ (HLA antigen) แตกต่างจากผู้ให้อวัยวะแอนติเจนนี้เป็นลักษณะจำเพาะของคนแต่ละคนและแตกต่างจากคนอื่น ถ้ามีความแตกต่างของแอนติเจนนี้มากก็จะเกิดการต่อต้านมาก ถ้าผู้ให้และผู้รับอวัยวะมีแอนติเจนนี้คล้ายคลึงกันก็จะมีการต่อต้านน้อย การต่อต้านอวัยวะใหม่นี้เป็นปัญหาสำคัญที่สุด ที่ทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะไม่ได้ผล
ดังนั้นเพื่อให้สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ผลดีที่สุด จึงจำเป็นต้องตรวจก่อนทำการปลูกถ่ายอวัยวะ ว่าผู้ให้และผู้รับมีความเข้ากันได้ คือมีแอนติเจน เอช แอล เอ เหมือนกัน อย่างไรก็ตามมีโอกาสน้อยมากที่ผู้ให้และผู้รับจะมีแอนติเจน เอช แอล เอ เหมือนกันทุกประการ จึงจำเป็นต้องเลือกผู้ที่มีแอนติเจนคล้ายคลึงกันมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องให้ยากดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ได้รับอวัยวะ ไม่ให้ไปทำลายอวัยวะใหม่ เดิมใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์หรือยาเคมีบำบัด แต่การให้ยาดังกล่าวก็มีผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการหลายอย่าง เนื่องจากจะกดการทำงานทุกด้านของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ที่ได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรค จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายและเป็นอันตรายต่อผู้ได้รับอวัยวะ ในปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการพัฒนายาใหม่ๆ โดยเฉพาะยาไซโคลสปอริน (cyclosporin) ซึ่งสามารถกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพียงบางส่วน เพียงพอที่จะไม่ต่อต้านอวัยวะที่ให้เข้าไปใหม่ แต่ยังสามารถต่อต้านเชื้อก่อโรคได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มียากดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีคุณภาพดีพร้อมทุกประการ แต่ยาไซโคลสปอรินนี้ก็มีส่วนสำคัญมาก ในการพัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันในที่สุด
การพัฒนาวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นโดยการผ่าตัด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูกร่วมกับการใช้ยากดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทำให้ผู้ได้รับอวัยวะจำนวนมากหายขาดจากโรคสามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นปกติและทำให้สามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
การปลูกถ่ายอวัยวะ, การปลูกถ่ายอวัยวะ หมายถึง, การปลูกถ่ายอวัยวะ คือ, การปลูกถ่ายอวัยวะ ความหมาย, การปลูกถ่ายอวัยวะ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!