ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ หมายถึง, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ คือ, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ ความหมาย, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์

          เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมของเอเชียอาคเนย์ทั้งหมด อาจแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ เอเชียอาคเนย์ส่วนที่อยู่บนผืนแผ่นดินของทวีปเอเชียและเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกาะ ลักษณะสัณฐานทางภูมิศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งผืนแผ่นดินและเกาะต่างๆ เหล่านี้เคยเชื่อมโยงกันและการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์บนแผ่นดินเอเชียอาคเนย์และเกาะต่างๆ ก็มีความสัมพันธ์กันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
 
          อาณาเขตของเอเชียอาคเนย์ เหนือสุดคือเทือกเขาซึ่งต่อเนื่องกับเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาย่อยๆ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้สิ้นสุดที่มหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนทางด้านตะวันตก คือ บริเวณต่อเนื่องระหว่างประเทศพม่ากับบังกลาเทศและอินเดีย ถึงแม้ว่าทางด้านการเมืองการปกครองประเทศอินเดียและบังกลาเทศจะถูกแบ่งให้อยู่ในเขตเอเชียใต้ และประเทศพม่าอยู่ในเขตเอเชียอาคเนย์ แต่ทางด้านกลุ่มชาติพันธุ์แล้วเอเชียอาคเนย์จะรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่อยู่ในรัฐอัสสัมของอินเดียและบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศด้วยเช่นเดียวกับทางด้านเหนือ ประเทศจีนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเอเชียตะวันออก แต่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน และรวมเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ด้วย
 
          ดังนั้น ผืนแผ่นดินของเอเชียอาคเนย์จึงประกอบด้วยเทือกเขา ๓ เทือก และที่ราบลุ่ม ๔ บริเวณ เทือกเขาแรกคือ เทือกเขาทางด้านตะวันตกที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัย ที่ตั้งจากด้านเหนือมาใต้ ส่วนเหนือเรียกว่า นากะ (Naga) อยู่ในรัฐอัสสัมของอินเดีย และส่วนกลางเรียกว่า อราคันโยมะ (Arakan Yoma) อยู่ในประเทศพม่า เมื่อผ่านอ่าวเบงกอลกลายเป็นหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบา เลี้ยวไปทางตะวันออกเป็นเกาะสุมาตราและเกาะชวาของประเทศอินโดนีเซีย เทือกเขาที่สองคือ เทือกเขาระหว่างประเทศพม่าและไทยทางตอนเหนือ มีลักษณะซับซ้อนครอบคลุมพื้นที่รัฐฉานของประเทศพม่าและเทือกเขาในภาคเหนือของประเทศไทย ใต้จากเทือกเขานี้คือ เทือกเขาตะนาวศรี มีอาณาบริเวณจากเหนือลงใต้ต่อเนื่องไปจนถึงแหลมมลายู และเทือกเขาที่สามทางด้านตะวันออกของเอเชียอาคเนย์คือ เทือกเขาอันนัม ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างประเทศเวียดนามและลาว จะแบ่งประเทศเวียดนามออกจากลาว กัมพูชา และไทย
           เทือกเขาเหล่านี้คือสภาพธรรมชาติที่แบ่งเอเชียอาคเนย์ออกเป็นส่วนๆ ระหว่างเทือกเขาจะมีบริเวณพื้นราบกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนหลายกลุ่ม ที่ราบลุ่มในบริเวณเอเชียอาคเนย์อาจแบ่งคร่าวๆ เป็น ๔ บริเวณ เรียงลำดับจากตะวันตกไปตะวันออกคือ (๑) ที่ราบลุ่มอัสสัม ซึ่งมีแม่น้ำพรหมบุตรไหลผ่าน มีการติดต่อกับอินเดียได้สะดวกทางด้านตะวันตกจึงได้รับอิทธิพลจากอินเดียมาก (๒) ที่ราบลุ่มในประเทศพม่า มีแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน เป็นที่ตั้งของอาณาจักรมอญและพุกามในสมัยโบราณ (๓) ที่ราบลุ่มในประเทศไทยและลาว มีแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขงไหลผ่าน (๔) ที่ราบลุ่มในประเทศเวียดนาม มีแม่น้ำแดงไหลผ่านลงสู่ทะเลจีนใต้ วัฒนธรรมจีนจึงแพร่กระจายสู่เวียดนามทางด้านตะวันออก ทำให้บริเวณนี้เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีนมากที่สุด
           ในสมัยโบราณ ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีการตั้งถิ่นฐานทั้งบนที่ราบลุ่มและบนเทือกเขา แต่จะเห็นได้ว่า ชุมชนที่อยู่บนที่ราบลุ่มจะมีการตั้งถิ่นฐานที่ถาวร มีการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ และเกิดการปรับวิถีชีวิตให้มีวัฒนธรรมที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเขา การตั้งถิ่นฐานไม่ค่อยจะถาวรนัก เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติบนเขาไม่อุดมสมบูรณ์เท่ากับบนพื้นราบ การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ทำได้ไม่เต็มที่ กลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานบนเขาจึงมีลักษณะกึ่งถาวร มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ไม่ซับซ้อนเท่าใดนักเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่อยู่บนพื้นราบการเพาะปลูกบนพื้นราบคือการปลูกข้าวซึ่งให้ผลิตผลมากพอที่จะเลี้ยงประชากรได้ทั้งหมดประชากรบางส่วนจึงมีเวลาในการคิดประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เกิดการแบ่งอาชีพ เกิดชนชั้นปกครอง เกิดเมือง และผลสุดท้ายสามารถตั้งเป็นอาณาจักรต่างๆตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของเอเชียอาคเนย์
           กลุ่มชนที่อยู่บนเขาส่วนใหญ่มีชีวิตที่ลำบากยากไร้กว่าคนบนพื้นราบการทำมาหากินได้ผลิตผลไม่ดีนัก วิถีชีวิตจึงเป็นวิถีชีวิตเพื่อยังชีพไม่สามารถผลิตส่วนเกิน ทุกคนต้องช่วยกันทำกสิกรรม ไม่มีการแบ่งอาชีพไม่สามารถสร้างฐานอำนาจและผนึกกำลังตั้งเป็นอาณาจักรได้จะเห็นได้ว่า อาณาจักรต่างๆ เกือบทั้งหมดในเอเชียอาคเนย์ตั้งอยู่บนพื้นราบ เช่น ล้านนาล้านช้าง ก็ยังถือว่าเป็นอาณาจักรบนพื้นราบตามสภาพภูมิประเทศ ส่วนไทยใหญ่ซึ่งอยู่ในรัฐฉานของประเทศพม่า ถึงแม้จะเพาะปลูกบนที่ราบลุ่มตามหุบเขา ก็สามารถปรับตัวจนจัดตั้งหมู่บ้าน และชุมชนเมืองได้ โดยมีระบบการปกครองที่ซับซ้อนพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอาณาจักร

การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ หมายถึง, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ คือ, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ ความหมาย, การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมตามสภาพภูมิศาสตร์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu