๑. เป็นเรือนยกใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดินประมาณพ้นศีรษะ รวมทั้งระเบียงและชานก็ยกสูง ด้วยการยกใต้ถุนสูงนี้มีระดับลดหลั่นกัน พื้นระเบียงลดจากพื้นห้องนอน ๔๐ เซนติเมตร พื้นชานลดจากระเบียงอีก ๔๐ เซนติเมตร และปิดด้วยไม้ระแนงตีเว้นช่องโปร่ง การลดระดับพื้น ทำให้ได้ประโยชน์ ดังนี้ คือ ช่วยให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นมาข้างบน สามารถมองลงมายังใต้ถุนชั้นล่างได้ และใช้ระดับลด ๔๐ เซนติเมตรไว้เป็นที่นั่งห้อยเท้า
การยกพื้นเรือนให้สูงขึ้นนั้นมีเหตุผลหลายประการ คือ
ก. เพื่อให้มีความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายหรือคนร้ายในเวลาค่ำคืน ภาคกลางของประเทศอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง ฝนตกชุก มีต้นไม้หนาทึบ เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น งูพิษ ตะขาบ แมงป่อง ถ้าบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ป่า ก็ต้องระวังสัตว์ป่าอีกด้วย ฉะนั้นการยกที่นอนให้สูงจากพื้นดินจึงเป็นการปลอดภัย
ข. เพื่อป้องกันน้ำท่วมถึง ในทุกภาคของประเทศจะเกิดน้ำท่วมเป็นบางเดือนเกือบทุกปี ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเกิดน้ำท่วมเพราะมีพายุฝนตกหนัก ส่วนภาคกลางนั้นน้ำท่วมเพราะน้ำเหนือไหลบ่าลงมา รวมทั้งน้ำทะเลขึ้นหนุนประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคมเกือบทุกปี ถ้าเกิดน้ำท่วมก็จะได้ย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ จากใต้ถุนขึ้นไว้บนเรือน
ค. ใช้ใต้ถุนเป็นที่เก็บของและเครื่องใช้เกี่ยวกับการเกษตร เช่น เครื่องมือทำนาทำสวน เกวียน ไม้กระดาน เรือบด คันไถ กระทะเคี่ยวน้ำตาล เป็นต้น
ง. ใช้ใต้ถุนเป็นที่ประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ ทำร่ม ทอผ้า ทอเสื่อ ปั่นฝ้าย ตำข้าว (ด้วยครกกระเดื่อง) และใช้เป็นที่พักผ่อน โดยตั้งแคร่นั่งเล่นในเวลากลางวัน ชาวบ้านบางแห่งแบ่งส่วนใต้ถุนไว้เลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย ฯลฯ การเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุนจะทำให้สกปรก ส่งกลิ่นเหม็นและเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก บางท้องที่แยกสัตว์ไว้ในคอกต่างหากซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเรือน แต่ไม่ควรอยู่เหนือลม (ทางทิศใต้) การเลี้ยงสัตว์ไว้ในคอกต่างหากนี้ดีกว่าการเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุน นอกจากนี้ยังใช้ใต้ถุนเป็นที่จัดงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานประเพณีสงกรานต์ ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีการจัดพื้นใต้ถุนตกแต่งอย่างสวยงามไว้เล่นสะบ้า ใต้ถุนยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมาก แต่ต้องเป็นฤดูที่น้ำไม่ท่วมถึง
๒. หลังคาทรงจั่วสูงชายคายื่นยาว หลังคาของเรือนไทยเป็นแบบทรงมนิลา ใช้ไม้ทำโครงและใช้จาก แฝกหรือกระเบื้องดินเผาเป็นวัสดุมุงหลังคา วัสดุเหล่านี้ต้องใช้วิธีมุงตามระดับองศาที่สูงชันมาก น้ำฝนจึงจะไหลได้เร็ว ไม่รั่ว การทำหลังคาทรงสูงนี้ มีผลช่วยบรรเทาความร้อนที่จะถ่ายเทลงมายังส่วนล่าง ทำให้ที่พักอาศัยหลับนอนเย็นสบาย สำหรับเรือนครัวทั่วไปตรงส่วนบนของหน้าจั่วทั้ง ๒ ด้าน ทำช่องระบายอากาศ โดยใช้ไม้ตีเว้นช่องหรือทำเป็นรูปรัศมีพระอาทิตย์ เพื่อถ่ายเทควันไฟออกจากเรือนครัวได้สะดวก ได้กล่าวมาแล้วว่า ดินฟ้าอากาศของภาคกลาง แดดแรงจัด อุณหภูมิบางเดือนสูงถึง ๓๙.๙ องศาเซลเซียส ฝนชุก จึงจำเป็นต้องต่อเติมกันสาดให้ยื่นออกจากตัวเรือนมาก เพื่อกันแดดส่องและฝนสาด
๓. ชานกว้าง เมื่อมองดูแปลนของเรือนไทยทั่วไปจะเห็นพื้นที่ของชานกว้างมาก มีปริมาณถึงร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ทั้งหมด (ห้องระเบียง ชาน) ถ้ารวมพื้นที่ของระเบียงเข้าไปด้วยจะมีปริมาณถึงร้อยละ ๖๐ พื้นที่นี้เป็นส่วนอาศัยภายนอก ส่วนที่อาศัยหลับนอนมีฝากั้นเป็นห้อง มีเนื้อที่เพียงร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ทั้งหมด สาเหตุที่พื้นที่อยู่อาศัยภายนอกมีปริมาณมาก เพราะดินฟ้าอากาศร้อนอบอ้าวนั่นเอง
สัดส่วนพื้นที่ของเรือน ชาน
๔๓.๘๕ %
ระเบียง๑๖.๓๔%
นอน๑๕.๙๑%
เรือนโถง อาหาร๘.๖%
ครัว๔.๓%
หอนก๓%
หอนั่ง๓%
คนใช้๒.๕%
เก็บของ๒.๕%
ชานเป็นส่วนสำคัญมากเท่ากับเรือนนอนและเรือนครัว การพักผ่อนในร่มเราอาศัยเรือนนอนแต่การพักผ่อนภายนอกนั้นเรา อาศัยชานและระเบียง ชานเป็นที่เปิดโล่งรับแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ ลมพัดผ่านได้สะดวก เหมาะสำหรับเป็นที่นั่งเล่นในเวลาเย็นและเวลาค่ำ อันแสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของสถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้นได้ดี
ชานใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง คือ ใช้พักผ่อน นั่งเล่น และจัดงานประเพณี อันเกี่ยวเนื่องมาจากคตินิยมแต่เดิม เช่น โกนจุก ทำบุญเลี้ยงพระ แต่งงาน นอกจากนี้ ชานยังมีหน้าที่เชื่อมเรือนนอน เรือนครัว และเรือนอื่น ๆ เข้าด้วยกัน แต่เป็นการเชื่อมอย่างหลวม ๆ เรือนหมู่กุฎิสงฆ์หรือเรือนใหญ่คหบดี มักมีต้นไม้ใหญ่ปลูกไว้กลางชาน ช่วยให้บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายขึ้น ทำให้อาคารกับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ต้นไม้ที่ปลูก ได้แก่ ต้นจัน ต้นจำปี ต้นขนุน และต้นมะม่วง บางมุมของชานปลูกต้นไม้ประดับไว้ดูเล่น ได้แก่ บอนชนิดต่าง ๆ ว่าน โกรต๋น ตะโกดัด บัวใส่ตุ่ม นอกจากนั้นยังมีสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เลี้ยงไว้ในกรงแขวนและในภาชนะวางไว้ที่ชานด้วย เช่น นกเขา นกดุเหว่า นกขุนทอง นกสาลิกา ปลากัด และปลาเข็ม เป็นต้น ซึ่งให้ความสำราญและความเพลิดเพลินแก่เจ้าของเรือนเป็นอย่างมาก