เครื่องถ้วยที่ผลิตในสมัยนี้ผลิตขึ้นจากเตาในอำเภอเมืองสุโขทัย และที่อำเภอศรีสัชนาลัยเฉพาะภาชนะขนาดใหญ่ เช่น ไห ได้พบว่ามีแหล่งเตาเผาร่วมสมัยกันอยู่อีก ๒ แหล่ง คือ ที่บ้านชีปะขาวหาย อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกกับที่เตาใกล้วัดพระปรางค์ บ้านชันสูตร ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
คำว่า "สังคโลก" เป็นคำเรียกเครื่องถ้วยเฉพาะที่ผลิตที่จังหวัดสุโขทัยในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ การเริ่มต้นการผลิตนั้นอาจจะมีการพัฒนาภายในชุมชนมาก่อน เพราะได้พบเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมืองทั้งที่เป็นภาชนะใช้สอยชนิดไม่เคลือบและชนิดเคลือบ เครื่องถ้วยชนิดเคลือบเนื้อดินปั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับพวกภาชนะที่ไม่เคลือบ คือมีเนื้อดินปั้นหยาบหนาเป็นสีเทาอมม่วง และเคลือบเฉพาะด้านใน เป็นต้นว่า จาน ไห และกระเบื้องมุงหลังคา สีที่นิยมคือ สีเขียวมะกอก เครื่องถ้วยแบบนี้ส่วนใหญ่ไม่มีลาย แต่บางใบก็มีลายขูดเป็นเส้นๆ คล้ายลายหวีใต้เคลือบ
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เข้าใจว่าทางสุโขทัยได้เริ่มมีการติดต่อกับจีน โดยเฉพาะจีนใต้และอันนัมหรือเวียดนาม ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างใกล้ชิด จึงน่าที่จะมีช่างจีนและช่างอันนัมได้เข้ามาค้าขายและตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณเตาเผา ทั้งที่เมืองสุโขทัยเก่าและที่ศรีสัชนาลัย จึงปรากฏว่าได้มีการพัฒนาการผลิตเครื่องถ้วยใหม่ โดยพยายามลอกเลียนแบบและลวดลายจากเครื่องถ้วยจีนในยุคนั้น พบเครื่องสังคโลกมีทั้งที่ใช้ลายขุดขูดใต้เคลือบเซลาดอนด้านในภาชนะเป็นลวดลายดอกบัว ลายดอกไม้ก้านขด ขอบริมของภาชนะผายออก มีทั้งขอบริมแบบเรียบและมีลายคดโค้งแบบลายกลีบบัว และด้านนอกตกแต่งเป็นลายกลีบบัว แบบนี้เป็นแบบที่จีนนิยมมากในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. ๑๘๒๓-๑๙๑๑) ซึ่งผลิตที่เตาหลงฉวน มณฑลเจ้อเจียง แต่หลังจากนั้นแล้วช่างก็ได้พัฒนาเครื่องสังคโลกให้มีความงดงามตามรสนิยมของตน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเครื่องสังคโลกที่ผลิตในระยะหลังๆ จะมีลักษณะที่เด่นเฉพาะตน แม้ว่าจะยังมีรูปแบบของจีนให้เห็นอยู่บ้างก็ตาม แหล่งเตาเผาที่สำคัญ เช่น
ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแหล่งเตาริมแม่น้ำยมนี้มีมากมายหลายรูปแบบตั้งแต่โอ่ง ไห ตุ่ม หม้อ พาน จาน ชาม คนโท คนทีตุ๊กตา เครื่องประดับอาคาร เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องเชิงชาย ครอบอกไก่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ บราลี เทพนม ตลอดจนทวารบาลนอกนั้นมีพวกตุ๊กตาเสียกบาล ตุ๊กตารูปสัตว์ รูปปั้นคู่ชายหญิง เป็นต้น ซึ่งเตาเผาที่รู้จักมานานมีเตาป่ายาง และเตายักษ์
ลักษณะเนื้อดินปั้นของเครื่องสังคโลกที่เตาศรีสัชนาลัยนี้มีคุณภาพดี เนื้อละเอียด ผลิตภัณฑ์มีฝีมือประณีตกว่าที่เตาสุโขทัย มีทั้งเคลือบสีเขียวมะกอก เขียวไข่กา (เซลาดอน) สีขาว สีน้ำตาล พื้นสีขาวเขียนลายบนเคลือบด้วยสีน้ำตาลทองหรือพื้นขาวเขียนลายใต้เคลือบสีเทาหรือดำ
วิธีการตกแต่งลวดลายประดับมีทั้งการเขียนลายใต้เคลือบ เขียนลายบนเคลือบ เขียนลายในเคลือบ ขุดขูดให้เป็นลาย ปั้นลายติดที่ตัว
ผลิตภัณฑ์แล้วเคลือบ และมีการใช้แม่พิมพ์ลวดลายที่นิยมมีลายดอกไม้โดยเฉพาะลายดอกบัวลายดอกไม้ก้านขด ลายปลาคาบสาหร่าย ลายสังข์แบบลายของจีน และลายแปลกอื่นๆ
นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคลือบด้วย เช่น ไห ตุ่ม คนโท และคนที ดินเผาที่มีการทาน้ำดินหรือสลิปแล้วจะเขียนลายด้วยสีแดงเป็นลายก้านขดหรือลายวงกลมซ้อน ลักษณะของคนโทเหล่านี้คล้ายกับผลิตภัณฑ์ที่เตาเวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่