ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ หมายถึง, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ คือ, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ ความหมาย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้

          บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยนั้นนับเนื่องตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปเป็นบริเวณที่คาบสมุทรไปจนจดเขตแดนประเทศมาเลเซียลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยบริเวณชายทะเลทั้งสองด้านคือด้านตะวันออกและตะวันตกมีเทือกเขาผ่ากลางเป็นกระดูกสันหลัง บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกซึ่งติดกับอ่าวไทยนั้นมีลักษณะเป็นแผ่นดินงอกทางด้านตะวันออกอันเกิดจากการกระทำของคลื่นลม และลำน้ำสายสั้นๆที่ไหลลงจากภูเขาทางทิศตะวันตก เป็นเหตุให้เกิดบริเวณที่เป็นสันรายยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเลและบริเวณที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเล็กๆ ตามปากแม่น้ำ การตั้งหลักแหล่งของชุมชนมนุษย์ใน  แถบนี้จึงมักตั้งอยู่บนสันทรายซึ่งเป็นบริเวณที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง รูปแบบของชุมชนจึงมีลักษณะเป็นแนวยาวไปตามสันทรายซึ่งมักจะมีถนนผ่านกลางการคมนาคมจึงต้องอาศัยการติดต่อกับชุมชนต่างๆที่อยู่ติดต่อกันตามสันทราย ในขณะเดียวกันบริเวณด้านข้างของสันทรายทั้งสองด้านก็เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง เหมาะกับการเพาะปลูกข้าวอย่างยิ่ง ทำให้ในบางแห่งทางภาคใต้ เช่น บริเวณต่ำจากนครศรีธรรมราชลงมายังเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่เลี้ยงคน  ส่วนใหญ่ในภูมิภาคได้ นอกจากนั้นบรรดาเมืองสำคัญๆ เช่น นครศรีธรรมราช ไชยา ปัตตานี ก็ล้วนแต่ตั้งอยู่บนบริเวณที่เป็นสันทรายทั้งสิ้น (ศรีศักร วัลลิโภดม ๒๕๓๔: ๔๗-๕๐)

          ส่วนบริเวณที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมนั้นมักพบตามบริเวณที่มีลำน้ำไหลจากเทือกเขาทางตะวันตกมาออกทะเล ทำให้เกิดการทับถมเป็นที่ราบลุ่มและบริเวณปากน้ำตรงที่ออกทะเลก็มักกลายเป็นทะเลตมยื่นล้ำออกไป อย่างเช่นบริเวณปากแม่น้ำตาปี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นตัวอย่าง บริเวณเช่นนี้มักมีชุมชนตั้งเรียงรายอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ลึกเข้าไปตามลำแม่น้ำราว ๑๒-๑๔ กิโลเมตร จากชายฝั่งทะเล เพราะต่อจากนั้นเข้าไปก็มักจะเข้าสู่บริเวณที่เป็นป่าดงสูงไม่เหมาะกับการตั้งหลักแหล่ง อีกทั้งพื้นที่ราบลุ่มที่จะทำการเพาะปลูกก็มีน้อย โดยมากในพื้นที่ซึ่งกลายเป็นบ้านเมืองใหญ่มักจะเป็น  บริเวณที่มีทั้งสันทรายและลำน้ำอยู่ในบริเวณที่  ใกล้เคียงกัน

          หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ทราบขณะนี้ บ่งแสดงให้เห็นว่า บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย เป็นบริเวณที่ เคยมีการตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองมาแต่โบราณเพราะพบร่องรอยของชุมชนมนุษย์ในสมัยยุคต้น ประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์มากกว่าชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก บริเวณสำคัญๆ ที่พบร่องรอยของชุมชนโบราณ ได้แก่ เขตอำเภอเมืองจังหวัดชุมพร อำเภอท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง เลยไป จนถึงอำเภอพุนพิน และกาญจนดิษฐ์ จังหวัด  สุราษฎร์ธานี ต่อจากนั้นก็มีอำเภอสิชล ท่าศาลา และอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช อำเภอตะโหมด สทิงพระ และอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา รวมไป ถึงบริเวณรอบๆ ทะเลสาบในเขตจังหวัดพัทลุงด้วยเหตุที่เกิดมีชุมชนบ้านเมืองมากตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกนี้ คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ราบลุ่ม ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมากกว่าบริเวณอื่นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหากยังเป็นเพราะว่าบริเวณนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางการคมนาคมทางทะเลระหว่างบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในหมู่เกาะและพื้นแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ ปรากฏว่ามีโบราณวัตถุที่มีอายุนับแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๕ แบบที่พบในประเทศเวียดนามและประเทศจีนตอนใต้ ตาม    ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศไทยโบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า มีกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์จากภายนอกเดินทางเข้ามาหรือผ่านมาในประเทศไทย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซียและที่อื่นๆ แม้กระทั่งในยุคประวัติศาสตร์เองคือราวพุทธศตวรรษที่๑๔-๑๕ ก็ปรากฏพบร่องรอยของบรรดาเมืองท่าและสถานที่พักสินค้าในเขตอำเภอท่าชนะ ไชยานครศรีธรรมราช และสงขลา การติดต่อค้าขายกับภายนอกนี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ ทำให้หัวเมืองทางภาคใต้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราชที่เติบโตขึ้นถึงขนาดเป็นรัฐสำคัญทางภาคใต้ที่มีอำนาจทางทะเลในคาบ    สมุทรไทยและมาเลเซียทีเดียว ความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งเมืองท่าของทางภาคใต้ดังกล่าวนี้ยิ่งเน้นหนักมากขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้เกิดบ้านเมืองชายทะเลมากกว่าเดิม เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ก็กลายเป็นเมือง    ท่าที่สำคัญที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ (ศรีศักร วัลลิโภดม ๒๕๒๔: ๙๗-๑๑๒)

          ในขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเกิดเป็นแหล่งบ้านเมืองใหญ่โตมาแต่สมัยโบราณนั้น ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกยังอยู่ในสภาพที่ล้าหลังทั้งนี้เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงอีกทั้งชายฝั่งทะเลมีลักษณะถูกคลื่นลมพัดจนสึกกร่อน มีพื้นที่ราบลุ่มที่จะทำการเพาะปลูกน้อยไม่เหมาะกับการที่จะตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน อีกทั้งคลื่นลมก็พัดแรงจัด แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพัฒนาการของชุมชนมนุษย์ในบริเวณนี้เลย ขณะนี้พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งตามถ้ำและภูเขาใกล้กับทะเล เช่น ในจังหวัดกระบี่ (กรมศิลปากร ๒๕๒๕: ๙๑-๑๑๒,แอนเดอร์สัน และพรชัย สุจิตต์ ๒๕๒๒-๒๕๒๓: ๖-๑๗, Anderson ๑๙๘๘: ๔๓-๖๐) แต่บรรดามนุษย์เหล่านั้นอยู่ในสภาพที่ล้าหลังเที่ยวเร่ร่อนหาอาหารตามทะเลและชายฝั่ง ทะเลเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกจะมีพัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เป็นบ้านเมืองแล้วก็ตาม ทางชายฝั่งด้านตะวันตกยังคงอยู่ในสภาพที่ล้าหลัง ความเจริญที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นบางบริเวณ หรือบางท้องที่เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเพราะเหตุผลที่มาจากภายนอก ประการแรกก็คือในสมัยยุคต้นประวัติศาสตร์การติดต่อทางทะเลได้ขยายตัวไปเป็นการเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองทางตะวันตกอันได้แก่ อินเดีย เปอร์เซีย ลังกา กรีกและโรมัน

          การเดินทางจากบ้านเมืองทางตะวันตกเหล่านี้ผ่านไปยังทะเลจีนต้องผ่านคาบสมุทรไทยโดยเฉพาะต้องมีการขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรไทยไปยังชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกสมัยที่ยังไม่มีการเดินเรือโดยตลอด จากตะวันตกแล้วผ่านช่องแคบมะละกาไปยังจามปา เวียดนาม และจีนบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทยที่เหมาะสำหรับเป็นแหล่งจอดเรือพักถ่ายสินค้าไปทางตะวันออก และรับสินค้าจากทางตะวันออกมาลงเรือเพื่อเดินทางต่อไปยังบ้านเมืองทางตะวันตก คาดว่าคงเป็นบริเวณอ่าวพังงา ในเขตจังหวัดตรัง กระบี่ และพังงา เพราะเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการจอดเรือและขนถ่ายสินค้าผ่านช่องเขาหินปูนมายังต้นแม่น้ำตาปี แล้วเดินทางตามลำน้ำนี้ไปออกชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชทางหนึ่งกับทางอำเภอพุนพิน และอำเภอไชยาในเขตอ่าวบ้านดอนอีกทางหนึ่ง เหตุนี้จึงพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นสิ่งของของชาวอินเดียเปอร์เซีย กรีก และโรมัน นำเข้ามาในชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ในเขตอ่าวพังงาหลายแห่ง แห่งที่สำคัญคงจะเป็นบริเวณคลองท่อม ซึ่งขณะนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมายมีอายุอย่างน้อยราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๙ ซึ่งร่วมสมัยกับแคว้นฟูนันที่มีศูนย์กลางอยู่แถวปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ความรุ่งเรืองของชุมชนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ดังกล่าวนี้ คงรุ่งเรืองอยู่ไม่นาน เพราะสมัยหลังลงมา เมื่อมีการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกามายังทะเลจีนได้แล้ว การใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยก็คงหมดความสำคัญไปโดยปริยาย

          ถึงแม้ว่าการเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรจะหมดความสำคัญลง แต่ก็มีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บริเวณบางแห่ง ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของคาบสมุทรไทยนั้น มีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นในสมัยต่อมา นั่นก็คือความอุดมสมบูรณ์ของบางแห่งที่พรั่งพร้อมด้วยแร่ธาตุ รวมทั้งผลิตผลของป่าที่เลยเข้าไปถึงบริเวณเทือกเขาที่อยู่ตอนกลางของคาบสมุทรด้วยโดยเหตุนี้จึงมีชาวต่างประเทศ เช่น พวกอินเดียและอาหรับเข้ามาตั้งชุมชนอยู่ตามชายฝั่งทะเลหลายแห่ง อย่างเช่น บริเวณเกาะคงเขา ในเขต อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และตามบริเวณแม่น้ำลำคลองในเขตอำเภอนี้ แต่ว่าการเกิดของชุมชนดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้ขยายใหญ่โตจนเกิดเป็นรัฐหรือแว่นแคว้นขนาดใหญ่แต่อย่างใด มีหลักฐานทางเอกสารเป็นตำนานหรือพงศาวดารกล่าวถึงคล้ายกับว่า ความเจริญเติบโตขึ้นเป็นชุมชนบ้านเมืองขนาดใหญ่และมากมายหลายแห่งของชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ทั้งนี้เพราะว่า บริเวณชายฝั่งทะเลและเกาะมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ จึงมีผู้คนโดยเฉพาะคนจีนเป็นจำนวนมาก อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำเหมืองแร่เกิดหัวเมืองชายฝั่งทะเลที่สำคัญขึ้นหลายแห่ง เช่น เมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่ง ท้ายเมือง กระบี่ และภูเก็ต ปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าประชาชนที่ตั้งรกรากอยู่ทางฝั่ง ทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายของชาวจีนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำเหมืองแร่ในยุคแรกๆ ซึ่งนอกจากผู้คนดังกล่าวนี้ อาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ตามเมืองต่างๆ ก็ล้วนสะท้อนให้เห็นรูปแบบอิทธิพลของจีนที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ทั้งสิ้น

          นอกจากเรื่องการทำเหมืองแร่แล้วก็มีการปลูกยางพารา ซึ่งเป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการตั้งรกรากทำมาหากินของผู้คนในภาคใต้ ทั้งทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกและตะวันออก ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำเข้ามาปลูกจากภายนอกในสมัยอาณานิคมที่ชาวตะวันตกเข้ามาปกครองบ้านเมืองในแหลมมลายู  การปลูกยางพาราทำให้มีการขยายตัวของชุมชนที่เคยตั้งหลักแหล่งอยู่ตามที่ราบลุ่ม บริเวณชายฝั่งทะเลเข้าไปยังบริเวณภายในที่เคยเป็นป่าและภูเขา เกิดการถางป่าตัดต้นไม้อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะปลูกยางพาราขึ้นแทน ทั้งการทำเหมืองแร่และการปลูกยางพาราดูเหมือนมีบทบาทสำคัญมาก ในการทำให้ผู้คนในภาคใต้ที่ต่างเผ่าพันธุ์และต่างภาษาอยู่รวมกันในลักษณะที่ต้องพึ่งพากัน อย่างเช่นบรรดาคนจีนหรือลูกหลานคนจีนที่อยู่ในสังคมเมืองเป็นเจ้าของเหมืองแร่และสวนยาง ส่วนในชนบทตามป่าและสวนยางเป็นที่อยู่ของคนมุสลิมพื้นเมือง ทำหน้าที่เป็นกรรมกรสวนยางและเหมืองแร่ยังมีชนพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พวกชาวเล มีอาชีพเป็นชาวประมง อาศัยอยู่ตามชายทะเลทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่น ในเขตจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต คนเหล่านี้แต่ก่อนเคยมีอาชีพเร่ร่อนและโยกย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันเริ่มตั้งหลักแหล่งติดที่ อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่แถวชายทะเล ในด้านวัฒนธรรมชนกลุ่มนี้ยังอยู่ในสภาพชนกลุ่มน้อย

สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ หมายถึง, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ คือ, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ ความหมาย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคใต้ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu