ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย หมายถึง, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย คือ, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ความหมาย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย

          การมีที่พักอาศัยเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการอยู่รอดของมนุษย์ มนุษย์จำเป็นต้องมีที่พักอาศัย ในสมัยแรกเริ่ม มนุษย์ได้อาศัยแหล่งธรรมชาติเป็นที่พักนอนชั่วคราว เช่น ถ้ำและเพิงหิน ภายหลังก็รู้จักตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรดัดแปลงสร้างบ้านจากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติในบริเวณดินแดนของประเทศไทยปัจจุบัน นักโบราณคดีต่างก็ได้ทำการศึกษาขุดค้นแสวงหาร่องรอยของมนุษย์สมัยโบราณ และตามหลักฐานข้อมูลที่ได้มาปรากฏว่า เรามีหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่มีอายุย้อนหลังไปประมาณเกือบ ๔๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เป็นสมัยที่ มนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ภาษาเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตัวเอง

          จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย  ซึ่งมีทั้งที่ราบ ที่สูง หุบเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ และชายฝั่งทะเล ปรากฏว่าในสมัยแรกๆ มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ตามสถานที่ธรรมชาติต่างๆ เช่น เพิงหิน และถ้ำตามภูเขาที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำและอาหาร  มนุษย์ใน สมัยนั้นเลือกสถานที่พักอาศัยที่อยู่สูงจากพื้นที่ราบที่ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายนานาชนิด และสามารถหลบลมหรือฝนได้ แหล่งที่พักอาศัยนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งที่มนุษย์สามารถเก็บหาพืชผักผลไม้และจับสัตว์ทั้งบนบนและในน้ำ เช่น ปลา  และหอย มาบริโภคได้วันต่อวัน

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ การรวมตัวเป็นกลุ่มของมนุษย์ในสมัยแรกเริ่มสันนิษฐานว่าคงเริ่มเป็นกลุ่มเล็กๆ  แบบหนึ่ง "ครอบครัว" ที่มีผู้นำและผู้พึ่ง รวมทั้งเด็ก การออกไปหาอาหารก็คงเป็นกิจกรรมประจำวันเพื่อยังชีพ โดยมีการแบ่งแรงงานว่าใครทำอะไร เช่น ออกเก็บหาอาหารพวกพืชผลไม้ ล่าสัตว์ทั้งเล็กและใหญ่ และอยู่ดูแลเลี้ยงเด็ก เป็นต้น    มนุษย์ได้ประสบการณ์ที่สัมผัสกับธรรมชาติโดยใช้การสังเกต ความทรงจำ และการวิเคราะห์หาสาเหตุและเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์และ พฤติกรรมต่างๆ ของพืช สัตว์ และธรรมชาติทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้โดยมีการถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้ไปชั่วลูกหลาน

          ประสบการณ์ที่มนุษย์ได้เรียนรู้ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจพฤติกรรมของธรรมชาติได้ดีขึ้น มนุษย์ได้เรียนรู้ว่าพืชและสัตว์ประเภทใดที่อาจนำมาบริโภคเป็นอาหารได้ ในฤดูกาลและสถานที่ใดมีพืชหรือสัตว์ประเภทไหนที่จะมีให้เก็บหรือจับมาเป็นอาหารได้ เมื่อแหล่งอาหารของ มนุษย์หมดลงหรือมีไม่พอให้สมาชิกกลุ่มบริโภคก็ต้องโยกย้ายเร่ร่อนออกหาแหล่งอาหารใหม่เพื่อยังชีพ มนุษย์ในสมัยนั้นยังไม่รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร จึงต้องพึ่งอาหารที่ธรรมชาติมีให้ตามแหล่งและฤดูกาล การเร่ร่อนนี้ทำให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานแบบชั่วคราวไม่ถาวร ซึ่งเป็นรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานในสมัยแรกเริ่มของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

          หลักฐานทางโบราณคดีของการตั้งถิ่นฐานในสมัยแรกเริ่มของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมีปรากฏตามถ้ำและเพิงหินต่างๆ   เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดกระบี่ (ดู กรมศิลปากร ๒๕๓๑ : ๑-๑๒๐, นงพงา สุขวนิช ๒๕๒๗ : ๑-๑๖๐, Anderson ๑๙๘๘ : ๔๓-๖๐) ร่องรอยที่มนุษย์ในสมัยนั้นทิ้งไว้ให้นักโบราณคดีได้ศึกษา มีพวกรื่องมือใช้ที่ทำด้วยหิน เช่น ขวานหินขัด และวัตถุอินทรีย์ เช่น กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และไม้   นอกจากนี้ก็มีร่องรอยต่างๆ รวมทั้งเถ้าถ่านที่แสดงถึงการใช้ไฟ การทำอาหาร และเศษขยะ เช่น กระดูกสัตว์ ก้างปลา เปลือกหอยและเมล็ดจากพืชและผลไม้ หลักฐานเหล่านี้ทำให้เราสามารถทราบถึงสภาพแวดล้อมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ว่า มนุษย์ในสมัยแรกเริ่มนั้นออกแสวงหาและดัดแปลงทรัพยากรทางธรรมชาติและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างไรเพื่อการอยู่รอด

          มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้พัฒนาตัวเองในการใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติมาช่วยในการทุ่นแรงและยังชีพ หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงหลัง มนุษย์ได้พัฒนาตัวเองในการยังชีพ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี สังคม และวัฒนธรรม ที่เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ไปสู่ความซับซ้อนที่มีมากขึ้นตามวิวัฒนาการทางวัตถุและความคิดของมนุษย์ มนุษย์ได้เรียนรู้เรื่องการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีความสามารถในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากดิน สามารถถลุงโลหะเพื่อผลิตเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่เป็นทองแดงสัมริด และเหล็ก ความรู้เหล่านี้ทำให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัวเขาได้ดีขึ้น สามารถควบคุมสถานการณ์บางอย่างของธรรมชาติได้บ้าง   เช่น การผลิตหรือหาอาหารเพื่อบริโภคแล้วมี    เหลือพอที่จะเก็บสะสมไว้สำหรับวันอื่น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงไม่จำเป็นที่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป เขาสามารถตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างค่อนข้างถาวรได้ ส่วนขนาดของกลุ่มก็มีการขยายใหญ่ขึ้นไปตามจำนวนของสมาชิกที่มีเพิ่มขึ้นภายในชุมชนนั้น ชุมชนแบบนี้ปรากฏอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย (ดู    กรมศิลปากร ๒๕๓๑ : ๑-๑๒๐ และพิสิฐ เจริญวงศ์  ๒๕๒๕ : ๔๙-๔๑)

          หลังจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐  ปีมาแล้ว มีการบันทึกเหตุการณ์โดยสังคมภายนอก (ตะวันตกและตะวันออก) ที่เขียนเกี่ยวกับดินแดนในประเทศไทย ต่อมาจึงเริ่มมีการจารึกเหตุการณ์ในประเทศไทย ในช่วงนี้เราจะเห็นรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานนั้นได้เปลี่ยนไปจากการใช้ถ้ำและเพิงหินเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว มาเป็นการตั้งบ้านเรือนรวมเป็นชุมชนอยู่อย่างถาวรในที่ราบลุ่มบนเนินตามริมฝั่งแม่น้ำ และลำน้ำต่างๆ

          ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรและอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมซึ่งพัดผ่านเป็นประจำตามฤดูกาลทำให้มีฝนตกประจำปี ซึ่งเหมาะกับการปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ปรากฏการณ์  เช่นนี้ทำให้เกิดสังคมเกษตรกรรมขึ้นในทุกๆ ภาคโดยพืชหลักที่สำคัญและใช้เป็นอาหารหลักสำหรับสังคมในประเทศไทยก็คือข้าว การตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกษตรกรรมนี้ก็ต้องมีการเลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอย่างถาวร และการทำเกษตรกรรม บริเวณดังกล่าวนี้พบตามป่าเขา บนคาบสมุทรไทย  เรื่อยลงไปจนถึงเขตประเทศมาเลเซีย  ส่วนที่เป็นป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้ามีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัย  ผู้คนสามารถตั้งหลักแหล่งทำการเกษตรกรรมได้  รวมทั้งบริเวณตามชายทะเลที่มีที่ราบลุ่ม  และมีการติดต่อกับภายนอกทางทะเลนั้น  ก็มีมากในดินแดนประเทศไทย

สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย หมายถึง, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย คือ, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ความหมาย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu