ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

แมลงครั่ง, แมลงครั่ง หมายถึง, แมลงครั่ง คือ, แมลงครั่ง ความหมาย, แมลงครั่ง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
แมลงครั่ง

          มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  แลกซิเฟอร์ แลกคา (Laccifer  lacca Kerr.) เป็นแมลงในวงศ์แลกซิเฟอริดี (Lacciferidae) ในสมัยก่อนมีชื่อเรียกว่า แทกคาร์เดีย แลกคา (Tachardialacca) ตามชื่อผู้ค้นพบคนแรกเมื่อ  พ.ศ.  ๒๒๕๒ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ค็อกคัส แลกคา (Coccus  lacca) และแลกซิเฟอร์แลกคา ตามลำดับ  มีนักกีฏวิทยาหลายท่านได้ค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับแมลงชนิดนี้ทั้งในประเทศไทย และประเทศอินเดียแมลงในวงศ์แลกซิเฟอริดีนี้  มีพบกระจัดกระจายทั่วไปในโลกแต่เฉพาะที่ให้ครั่งมีค่าเป็นสินค้านั้นมีอยู่ในเขตท้องถิ่นจำกัด ที่พบคือประเทศอินเดีย ไทย  ลาว  พม่า  จีน  จะพบแมลงครั่งอยู่ตามต้นไม้ในที่ต่างๆ กัน มีทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม ในประเทศอื่นๆ ก็ได้เคยพบครั่งจับทำรัง แต่รังครั่งบางจนไม่คุ้มค่าในการใช้เพาะเลี้ยงเป็นสินค้า ประเทศที่พบครั่งจับอยู่ตามธรรมชาติบนต้นไม้  ได้แก่  มาเลเซีย  ฟอร์โมซา  ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ  อเมริกาใต้  ออสเตรเลีย  แอฟริกา  และเวียดนาม          แมลงครั่งออกลูกเป็นไข่ก่อน แล้วจึงฟักเป็นตัวอ่อน มีการเจริญเติบโตที่เรียกว่า แบบครบ ๔ ขั้น (complete metamorphosis) เป็นไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวแก่ ตามลำดับ ตัวเมียมีอายุครอกละประมาณ ๖ เดือน ปีหนึ่งจึงสืบพันธุ์ได้  ๒  ครอก การแพร่พันธุ์นั้นเกิดจากตัวอ่อน (larva) ซึ่งฟักออกจากไข่ เมื่อแข็งแรงแล้วก็จะออกจากรังตัวเมีย เพื่อหาอาหารคือน้ำเลี้ยงต้นไม้ดำรงชีวิตต่อไป ครั่งตัวเมียที่สมบูรณ์ให้ลูกครอกละ ๒๐๐-๕๐๐ ตัว ตัวอ่อนมีลักษณะเป็นจุดโตเท่าปลายเข็มหมุด  สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า มันจะเคลื่อนไหวได้ช้าๆ  ลูกครั่งเมื่อออกจากซากรังแม่ครั่งแล้วก็จะไต่คลานสับสนไปมาตามกิ่งไม้ เพื่อหาบริเวณกิ่งตอนที่เปลือกนิ่มและบางอ่อนนุ่ม จะพบตัวอ่อนอาศัยอยู่ประมาณ ๒-๓ วัน ตัวอ่อนที่เห็นว่าบริเวณตอนใดมีกิ่งเหมาะสม ก็เอางวงไชลงไปในท่ออาหารของเปลือกไม้จนถึงทางเดินน้ำเลี้ยง แล้วก็อาศัยดูดกินเป็นอาหารโดยไม่เคลื่อนย้ายต่อไปอีก

          ตัวอ่อนจะเกาะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มๆตามกิ่งไม้  เป็นหมู่ๆ ลำตัวเบียดชิดกัน ความยาว ๑ ฟุต เกาะเรียงกันอยู่ประ-มาณ ๑๐๐-๕๐๐ ตัว ครั่งจะจับที่กิ่งสด นิ่มอวบอ่อนดีเสียก่อนบริเวณด้านล่างของกิ่งทางทิศตะวันออกครั่งชอบจับมาก  ส่วนบริเวณอื่นๆ  นอกจากนี้ ครั่งจะจับทำรังภายหลัง แล้วแมลงครั่งจึงเริ่มขับระบายยางครั่ง (lac resin) แมลงครั่งดูดกินน้ำเลี้ยงต้นไม้แล้วจะกลั่นยางครั่งออกมาทำรังห่อหุ้มเป็นเกราะป้องกันอัน-ตรายแก่ตัวเอง ยางครั่งที่ขับระบายออกมาจากต่อมมีลักษณะเหนียว  เป็นสีเหลืองทอง  เมื่อถูกอากาศก็จะแข็งและมีน้ำตาลทับถมซ้อนกันภายในทุกวันจนหนา ตัวอ่อนที่อยู่ภายในเจริญเติบโตขึ้น รูปร่างลักษณะที่เป็นแมลงจะเปลี่ยนแปลงไป และรังมีลักษณะกลมๆ  ส่วนยางครั่งที่ขับระบายนั้นพอกพูนหนา และเชื่อมติดกันกับผนังครั่งอื่นๆ  และหุ้มกันยาวออกไป  บางทีวนจนรอบกิ่งไม้ ต่อมาประมาณ ๒  เดือน รังครั่งจะแตกต่างกันเป็นลักษณะของรังตัวผู้กับรังตัวเมีย รังตัวเมียจะกลม  รังตัวผู้จะยาวรูปบุหรี่ซิการ์  อัตราส่วนครั่งตัวผู้กับครั่งตัวเมียประมาณ๓๐ : ๗๐

          ด้านบนของรังครั่งตัวเมีย   ประกอบด้วยช่องผสมพันธุ์และใช้เป็นช่องขับถ่ายด้วย (anal tubercular pore) และอีก ๒ ช่องซึ่งเล็กกว่าเป็นช่องใช้หายใจ  อยู่ทางด้านข้าง ที่ช่องทั้ง  ๓  นี้จะมีขนขี้ผึ้งสีขาว (waxy white  filament) ยื่นออกมารวมกันเป็นกระจุกๆ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า  ช่องทั้ง ๓ นี้เปิดไม่มียางครั่งมาอุดปิดเลย ฉะนั้นเมื่อมองดูรังครั่งที่จับตามกิ่งไม้ จึงเห็นเป็นสีขาวอยู่ ซึ่งใช้สังเกตว่าครั่งยังมีชีวิตอยู่

          ด้านบนของรังครั่งตัวผู้จะมีช่องกลมๆ  ๑  ช่อง เป็นทางสำหรับให้แมลงครั่งตัวผู้ที่ถึงวัยผสมพันธุ์ ออกไปผสมพันธุ์กับแมลงครั่งตัวเมียที่อยู่ในรัง

          ตัวอ่อนเมื่อมีอายุ  ๖-๘ สัปดาห์ รูปร่างจะเปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะเดิมมาเข้าเป็นวัยตัวแก่สมบูรณ์ต่อไป ปริมาณยางครั่งระยะนี้ยังมีน้อย

          แมลงครั่งตัวผู้เมื่อแก่ถึงวัยผสมพันธุ์  จะออกไปผสมพันธุ์  ฤดูผสมพันธุ์ของครั่งมีประมาณ  ๑  เดือนเศษ  ครั่งตัวผู้เมื่อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ก็จะคลานออกมาจากรังทางด้านบนที่มียางครั่งบางๆปิดอยู่  (trap  door) ขนาดของครั่งตัวผู้ที่แก่สมบูรณ์มีสีแดงขนาดโตเป็น ๒ เท่าของลูกครั่ง จะมีได้ทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีกอยู่ปะปนกัน   ครั่งตัวผู้จะไต่ไปที่รังครั่งตัวเมียแล้วผสมพันธุ์  โดยใช้อวัยวะสืบพันธุ์สอดเข้าไปตามช่องผสมพันธุ์ พวกครั่งตัวผู้ที่มีปีกสามารถบินไปผสมพันธุ์กับครั่งตัวเมียตามกิ่งไม้อื่น  หรือต้นไม้อื่นๆ ได้ เมื่อครั่งตัวผู้ผสมพันธุ์แล้วจะตายไปภายใน ๒-๓ วันต่อมาเท่านั้น

          บางครั้งจะพบว่าครั่งตัวเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์จะมีลูกสืบพันธุ์ได้เอง และลูกหลานที่เกิดมาก็สามารถให้ยางครั่งได้ดีไม่แตกต่างกันจากลูกครั่งที่เกิดจากการผสมพันธุ์  และยังมีปริ-มาณลูกครั่งที่เกิดมีทั้งตัวเมียและตัวผู้เป็นอย่างปกติอีกด้วย ครั่งตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์  แล้วระบายยางครั่งมาพอกพูนทำรังอย่างขนาดใหญ่ รังครั่งจะหนาและโตอย่างรวดเร็วจนผนังรังเชื่อมติดกัน และรังครั่งจะมีลักษณะสีเหลืองแก่คล้ำ บางทีกลับหุ้มทับรังตัวผู้ตายไปแล้วด้วย ส่วนขนขี้ผึ้งนั้นยังคงเจริญเติบโตยาวออกไปข้างนอกรังมากขึ้น เมื่อนำรังครั่งมาผ่าจะเห็นครั่งตัวเมียมีลักษณะเปลี่ยนแปลงจากแมลงทั่วไปคือ ตา  ๒  ตา จะหายไป ลำตัวจะสั้นและกลมคล้ายไข่ ส่วนอวัยวะภายในร่างกายยังคงทำหน้าที่ย่อยอาหารซึ่งได้แก่ น้ำเลี้ยงของต้นไม้ที่งวงของครั่งดูดมาจากต้นไม้ ให้เป็นอาหารสำเร็จรูป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกรรมวิธีเคมี (biochemical process) ยางครั่งใช้ห่อหุ้มตัวครั่ง ส่วนวัตถุในตัวครั่งเป็นของเหลวมีสีแดงสามารถละลายน้ำได้   ซึ่งจะได้สีแดง ส่วนถุงหนังรูปไข่ที่เป็นผิวตัวครั่งเป็นไคทิน(chitin) มีสีแดง ไม่ค่อยละลายในน้ำ เนื้อครั่งที่เป็นรังห่อหุ้มตัวครั่งประกอบด้วยสารหลายชนิดผสมกันเกิดเป็นยางครั่งซึ่งไม่แข็งแต่คงรูปร่างได้ดี  ยืดขยายตัวได้ตามขนาดตัวครั่ง  ยางครั่งที่ระบายจากครั่งจะพอกพูนซ้อนทับกันเป็นชั้นๆจากภายใน ส่วนที่ระบายมาก่อนอยู่ชั้นบน  และชั้นที่อยู่ผิวภายนอกจะแข็งเป็นเกราะป้องกันความร้อนจากแสงแดด ป้องกันศัตรู และรักษาอุณหภูมิให้คงที่ เพื่อให้ไข่ฟักเป็นตัวขนขี้ผึ้งจะงอกออกเป็นเส้นอย่างเส้นไหมยาวออกมาตามอายุครั่งที่เจริญ บางเส้นก็ถูกยางครั่งห่อหุ้มปะปนกันเป็นรังครั่งไปด้วยก็มี นอกจากนี้ตัวครั่งยังขับน้ำหวานเหนียวข้นอย่างน้ำเชื่อมออกมา เป็นหยดทางช่องผสมพันธุ์ตกเรี่ยราดหมักหมกตามกิ่ง   ใบไม้ และบนพื้นดินเกิดเป็นราดำ (black  fungi) พวกมดจะพากันไต่ตอมไปตามรังครั่งเพื่อกินน้ำหวานเป็นอาหาร ต้นไม้ใดที่มีสีดำตามใบ ตามลำต้นและตามกิ่ง มองดูแล้วมีสีขาว แสดงว่าเป็นต้นไม้ที่มีรังครั่งจับทำรังอยู่

          ครั่งตัวเมียที่แก่เต็มที่  เมื่อตรวจดูผิวภายนอกของรังครั่ง จะพบจุดสีเหลืองส้มอยู่ที่ช่องผสมพันธุ์ระหว่างช่องขับถ่าย  จุดนี้จะขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน เพราะเหตุว่าตัวครั่งที่อยู่ภายในรังหดตัวเล็กลง มีช่องว่างเกิดระหว่างตัวครั่ง กับผนังรังครั่งสำหรับให้อากาศถ่ายเทความร้อน รักษาอุณหภูมิให้พอเหมาะสำหรับไข่ฟักตัวเป็นตัวอ่อน เมื่อตัวอ่อนคลานออกมาทางช่องสืบพันธุ์เป็นหมู่ๆ เป็นการย้ายรังใหม่  ใช้เวลาประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ แต่จะมีเพียง ๓-๔ วัน เท่านั้นที่ลูกครั่งคลานออกมามากที่สุด การตัดเก็บครั่งลงจากกิ่งไม้เพื่อทำพันธุ์ ควรตัดก่อนที่ตัวอ่อนจะฟักเป็นตัวออกมาประมาณ  ๗ วัน ถ้าหากนานกว่านี้ ตัวอ่อนจะตายในซากรังเก่าหรืออ่อนแอ  แต่ถ้าตัดเมื่อตัวอ่อนออกจากรังไปแล้วก็จะได้ตัวอ่อนจำนวนน้อย

แมลงครั่ง, แมลงครั่ง หมายถึง, แมลงครั่ง คือ, แมลงครั่ง ความหมาย, แมลงครั่ง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu