บทเห่เรือพระราชนิพนธ์ตามหลักฐานที่ปรากฏในวงวรรณกรรมของไทย ล้วนเป็นบทเห่เรือเล่นแทบทั้งสิ้น และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ไม่ทรงพบข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุที่นำมาใช้ ในการเห่เรือพระที่นั่ง บทเห่เรือสมัยอยุธยาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันมีเพียง ๒ เรื่อง คือ บทเห่เรือชมพยุหยาตราทางชลมารค และบทเห่เรื่องกากี ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
บทเห่เรือชมพยุหยาตราทางชลมารค เริ่มเรื่องกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินทางเรือ ความว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” ต่อจากนั้นจึงชมกระบวนเรือ ต่อด้วยชมปลา ชมไม้ ชมนก เป็นทำนองนิราศ ซึ่งสำนวนในเรื่องแสดงให้เห็นว่า ทรงพระนิพนธ์สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์เอง มีความยาว ๔ ตอน
บทเห่เรื่องกากี มีลักษณะเป็นกลอนสังวาส นำเรื่องพระยาครุฑลักนางกากีมานำบท ขึ้นต้นเรื่องว่า “กางกรโอบอุ้มแก้ว เจ้างามแพร้วสบสรรพางค์” เนื้อความทั้งเรื่องแต่งเป็นกระบวนสังวาส ๗ ตอน เนื้อความในเรื่องเป็นเรื่องส่วนพระองค์ สันนิษฐานว่าจะใช้บทเห่นี้เฉพาะเวลาทรงเรือประพาสเป็นการส่วนพระองค์
ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ มีบทเห่เรือที่ไพเราะได้รับความนิยมกล่าวขวัญถึงเสมอ คือ บทเห่เรือชมเครื่องคาวหวานพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มความชมอาหารคาวว่า “มัศหมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง” ต่อด้วยเห่ชมผลไม้ เห่ชมเครื่องคาวหวาน เห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์ และเห่บทเจ้าเซ็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า บทเห่ชมเครื่องคาวหวานนั้นทรงพระราชนิพนธ์ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เล่ากันว่าพระราชนิพนธ์นี้ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ตั้งแต่ครั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เนื่องจากทรงมีฝีมือในการแต่งเครื่องเสวย ไม่มีผู้ใดจะดีเสมอได้ บทเห่เรือพระราชนิพนธ์ ๕ บทนี้ ชั้นแรกสันนิษฐานว่า ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับเห่เรือเสด็จประพาสเท่านั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำบทเห่เรือครั้งกรุงศรีอยุธยา และบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาใช้เห่เรือในราชการเป็นแบบอย่างสืบมา
บทเห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มี ๔ บท คือ บทชมสวน บทชมนก บทชมไม้ และบทชมโฉมบทเห่เรือในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มี ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือ บทเห่เรือซึ่งทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสำหรับพิมพ์ในหนังสือสมุทรสาร เพื่อทรงอุดหนุนราชนาวีสมาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ มีความยาว ๑๒ ตอน เนื้อความทรงนำเค้า เรื่องบทเห่เรือเก่ามาเปรียบเทียบกับสิ่งของและเหตุการณ์ในยุคสมัยที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ ตัวอย่างเช่น เห่เรือเก่าชมกระบวน เรือพาย ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่ง และเรือรบในสมัยนั้น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็จะทรงชมเรือพระที่นั่งและเรือรบซึ่งเป็นเรือกลไฟแทนสมเด็จพระ เจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึงบทเห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ว่า จะได้ประโยชน์ในด้านความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองตามลำดับ ทั้งด้านความนิยมและการงาน นอกจากนั้นยังจะได้อ่านหนังสือกลอนที่แต่งดีอีกด้วย
บทเห่เรืออีกเรื่องหนึ่งในรัชกาลที่ ๖ คือ บทเห่เรือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ขณะ ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระ นริศรานุวัดติวงศ์เนื่องจากจอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทูลเชิญให้ทรงพระนิพนธ์เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีงานสมโภชส่วนกระทรวงทหารเรือโดยมีการตกแต่งสถานที่ในกรมทหารเรือบริเวณท่าราชวรดิฐทั้งสองฟากแม่น้ำตลอดไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม และมีกระบวนแห่เรือในแม่น้ำ บทเห่เรือนี้ใช้เห่ในเรือพระที่นั่งกิ่ง เมื่อมาจอดเพื่อถวายชัยมงคลที่ท่าราชวรดิฐ เนื้อความกล่าวชมเรือ พระที่นั่งในกระบวนและสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตาม แบบวิธีบทเห่เรือโบราณสั้นๆ จำนวน ๑ ตอน
บทเห่เรือที่ปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบทเห่เรือที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงพระนิพนธ์ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อหาของเรื่องพรรณนาเหตุการณ์พระราชพิธีทรงเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีบทเห่เรือที่สำคัญหลายบท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมือง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นบทพระราชนิพนธ์ก็ตาม แต่ผู้นิพนธ์ก็ยังคงใช้ระเบียบวิธีการประพันธ์ตามแบบวิธีของบทเห่เรือโบราณ มาสอดแทรกเรื่องและเหตุการณ์สำคัญในการประพันธ์บทเห่เรือแต่ละบท คือ
๑. กาพย์เห่เรือฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พระพิธีพุทธประทีปบูชา และพุทธพยุหยาตราทางชลมารค บทประพันธ์ของนายฉันท์ ขำวิไล เนื้อหากล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย งานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษชมกระบวนแห่ ชมนก ชมไม้ ชมปลา และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีความยาว ๑๓ ตอน
๒. กาพย์เห่เรือฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พุทธศักราช ๒๕๐๐ บทประพันธ์ของนายหรีด เรืองฤทธิ์ เนื้อหากล่าวถึง เริ่มศตวรรษแห่กระบวนเรือพุทธพยุหยาตรา สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และยอพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ ซึ่งใช้เห่ช่วงกลางคืนในเวลา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทอดพระเนตรการเห่เรือที่ท่าราชวรดิฐ มีจำนวนความยาวเพียง ๓ ตอน
๓. กาพย์เห่เรือสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ บทประพันธ์ของนายภิญโญ ศรีจำลอง ข้าราชการกรมศิลปากร เนื้อหาตอนแรกชมกระบวนเรือ แล้วสดุดีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สดุดีพระบรมราชจักรีวงศ์ สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สดุดีพระแก้วมรกต สดุดีกรุง รัตนโกสินทร์ และสดุดีพระพุทธสิหิงค์ รวม ความยาว ๗ ตอน
๔. กาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตรา อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อมอบให้แก่กรุงเทพมหานครบทประพันธ์ของท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
๕. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษาครบ ๕ รอบ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ บทประพันธ์ของ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ มีความยาว ๒ ตอน กองทัพเรือนำไปใช้ ในการแสดงเห่เรือเฉลิมพระเกียรติ ณ ท่าราชวรดิฐ โดยร้องเห่จากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
๖. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลสมัยรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ บทประพันธ์ของ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ มีความยาว ๒ ตอน กองทัพเรือนำไปใช้ในการแสดงเห่เรือเฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ
๗. กาพย์เห่เรือชนะเลิศการประกวด โครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ บทประพันธ์ของ นาวาโท ทองย้อย แสงสินชัย เนื้อหากล่าวชมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ แล้วจึงกล่าวสรรเสริญพระเกียรติพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ ต่อเนื่องกันจำนวน ๑ ตอน ใช้สำหรับการแสดงเห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามโครงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติของกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙