ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจ หมายถึง, เศรษฐกิจ คือ, เศรษฐกิจ ความหมาย, เศรษฐกิจ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เศรษฐกิจ

          สังคมไทยแต่ก่อนเป็นสังคมที่สบายเพราะมีประชากรน้อยแต่มีที่ทำกินมาก   อีกทั้งยังมีฝนตกเป็นประจำเมื่อถึงฤดูกาลทำให้ผู้คนกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ตามใจชอบ การทำมาหากินและอาชีพมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่โดยรอบบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้แล้วก็อาจแบ่งบรรดาชุมชนหมู่บ้านในชนบทออกเป็นสองพวกใหญ่ๆด้วยกันคือ  ชุมชนของพวกชาวนาที่ปลูกข้าวเป็นพืชหลักพวกหนึ่ง  กับชุมชนของผู้ที่ไม่มีอาชีพในการทำนา แต่ทว่าผลิตสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องในการอุปโภคบริโภคจากทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งที่ตนตั้งถิ่นฐานอยู่เพื่อมาดำรงชีวิตอย่างเช่น พวกที่อยู่ตามป่าเขาก็ต้องพึ่งผลิตผลจากป่า ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์  เลี้ยงสัตว์  หรือเก็บของป่ากิน   หรือพวกที่อยู่ทางชายทะเลก็มีอาชีพในการประมงคือจับปลา เป็นต้น ทั้งสองพวกนี้ดูแตกต่างกันแต่เพียงผลิตสิ่งของที่แตกต่างกันเท่านั้น  แต่ทว่าคล้ายคลึงในวิธีการผลิตที่เป็นแบบเกษตรกรรมขั้นพื้นฐาน  คือเป็นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย เช่น  ใช้แรงงานคนหรือสัตว์เป็นสำคัญ  ไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงมากมายเพราะทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตนั้นอาจหยิบยืมแลกเปลี่ยนและขอแรงกันได้ทั้งนี้ก็เพราะวัตถุประสงค์ในการผลิตนั้นก็เพื่อการยังชีพภายในครอบครัวและชุมชนเป็นหลักแล้วมีส่วนเกินที่จะนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิตในด้านอื่นๆโดยทั่วไปแต่ก่อนนั้นชุมชนหมู่บ้านในแต่ละท้องถิ่นมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำอะไรให้เลี้ยงตัวเองในด้านปัจจัยสี่โดยให้พึ่งพาสิ่งของจากภายนอกน้อยที่สุด  จึงมักพบว่าในฤดูกาลที่ว่างจากการประกอบอาชีพหลักเช่นการทำนาแล้ว   ชาวบ้านก็อาจจะทำไร่  ปลูกผัก  ปลูกถั่ว ปลูกมัน หรือทำสวนครัวเพื่อให้มีอาหารเสริมรวมทั้งมีการทอผ้าและจักสานเครื่องจับปลาดักสัตว์ รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยที่พอจะนำมาแลกเปลี่ยนกันเอง ในลักษณะเช่นนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินตราและมีการดำเนินการในเรื่องตลาดให้ใหญ่โตแต่เพียงอย่างใด ตลาดหรือย่านที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในสังคมหมู่บ้านแต่ก่อนนั้นจึงเป็นเพียงการที่มีผู้ผลิตสิ่งที่เป็นอาหารสด   คาว และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในตอนเช้าหรือตอนเย็นเท่านั้น  ส่วนสิ่งที่เป็นสินค้าจำเป็นอื่นๆ  ที่มาจากที่ห่างไกลภายนอกนั้นมักจะซื้อขายกันในเวลามีตลาดนัด ซึ่งจัดให้มีขึ้นในบริเวณที่คนจากหลายชุมชนพากันมาซื้อขายได้ในวันที่กำหนดไว้วันหนึ่งวันใดในสัปดาห์ไม่ได้มีการวางขายในตลาดเป็นประจำอย่างถาวร    นอกจากการมีตลาดนัดแล้วก็อาจมีกลุ่มชนที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าเร่จากเมืองหรือแหล่งผลิตสินค้าที่ห่างไกล นำสิ่งของเข้าไปจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนผลิตผลทางเกษตรหรือของที่ได้จากป่ากับชาวบ้าน เช่น พวกมอญจากปากเกร็ดและปทุมธานีเอาพวกโอ่งไหใส่เรือไปขายให้คนทางภาคเหนือ หรือคนจีนจากในเมืองเอาพวกของชำและเสื้อผ้าไปขายและแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล  เป็นต้นซึ่งการค้าขายแลกเปลี่ยนแบบนี้ก็จะมีเป็นฤดูกาลที่สะดวกแก่การคมนาคมเป็นสำคัญ  ไม่ได้มีตลอดทั้งปี ในทำนองเดียวกันก็มีพวกชาวบ้านที่เมื่อว่างจากการเพาะปลูกแล้ว หันมาประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าชั่วคราว  นำเอาผลิตผลจากชนบทเข้ามาขายและแลกเปลี่ยนสินค้าในเมืองตามฤดูกาลที่การเดินทางไปมาสะดวก ส่วนมากการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสิ่งของตามฤดูกาลเช่นนี้ มักเป็นการเกี่ยวข้องกันระหว่างชุมชนในท้องถิ่นที่เป็นชนบทกับชุมชนเมืองที่เป็นศูนย์กลางในระดับจังหวัดและภูมิภาคเป็นสำคัญ
          ในอดีตชุมชนในระดับเมืองมิได้แตกต่างไปจากชุมชนหมู่บ้าน  เป็นแต่เพียงศูนย์กลางในการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น โดยเน้นที่จวนเจ้าเมืองเป็นสำคัญ  ในส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของนั้นก็เพียงแต่อาจเป็นสถานที่เกิดตลาดนัดขึ้นเป็นประจำเท่านั้น ไม่ได้เป็นย่านตลาดที่มีพ่อค้าแม่ค้าอยู่ประจำและขายของกันตลอดเวลาการมีย่านตลาดที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสถานที่ค้าขายอย่างถาวรเช่นนี้ มักพบในเมืองใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของจังหวัดหรือภูมิภาค   เพราะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ติดต่อได้สะดวกทั้งบรรดาชุมชนหมู่บ้านและเมืองอื่นๆ  ที่อยู่ใกล้และไกลออกไป   ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าชุมชนหมู่บ้านกับเมืองใหญ่ที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยโบราณมีความแตกต่างกันทั้งในระยะทางที่ห่างไกลและความสะดวกในด้านการคมนาคมติดต่อ  จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕   สภาพการณ์จึงเปลี่ยนไป  เพราะมีการสร้างถนน  ทางรถไฟตลอดจนกิจการขนส่งทางน้ำ  เช่น เรือเมล์จากเมืองหลวงไปยังจังหวัดต่างๆ ทำให้การไปมาหาสู่ระหว่างเมืองสะดวกขึ้น  พร้อมกันนั้นก็มีชาวต่างประเทศที่มีความรู้ความชำนาญในกิจการต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขาย  เกิดห้างร้าน  บริษัท  ธนาคาร ขึ้นในเมืองหลวง  และหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดหลายแห่ง
          กลุ่มชนต่างชาติที่สำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ชนบทในระดับเมืองเล็กๆ ที่เป็นศูนย์กลางของท้องถิ่นก็คือพวกคนจีน คนจีนเข้ามาเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว  ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ทว่าตั้งหลักแหล่งจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น โดยมีอาชีพการค้าขายและรับจ้างเฉพาะบางอย่าง  เช่น งานช่างฝีมือและเจ้าหน้าที่ประจำเรือค้าขายของทางรัฐบาลไทย  ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ฯ  คนจีนเข้ามามากโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  ๓ ลงมา แพร่กระจายไปตามบ้านเล็กเมืองน้อยและท้องถิ่นต่างๆ มีอาชีพและการงานในระดับต่างๆ นับตั้งแต่การเข้ารับราชการเป็นขุนนางป็นเจ้าภาษีอากร เป็นพ่อค้าทั้งขายปลีก ขายส่งและหาบเร่ เป็นกุลีรับจ้างแบกหาม  งานช่างและงานกรรมกรแทบทุกชนิด   โดยย่อก็คือคนจีนสามารถประกอบอาชีพได้มากมายหลายอย่างในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพแต่เพียงเป็นกสิกร  เช่น ชาวนาและชาวไร่ที่ทำการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงตัวเองเท่านั้น
          คนจีนที่เข้ามาเป็นชาวสวนและชาวไร่ก็มีเป็นจำนวนมาก เช่น ทำสวนผัก  สวนผลไม้และพืชไร่ทางเศรษฐกิจ  เช่น  อ้อย  และสับปะรดเป็นต้น แต่ทว่าการเพาะปลูกของคนจีนนั้นไม่ใช่ในระดับเพื่อเลี้ยงตัวเองอย่างคนไทย  หากผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อขายให้ได้กำไรแล้วนำมาลงทุนขยายกิจการให้ใหญ่โตต่อไป ซึ่งในไม่ช้าก็เกิดอาชีพต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น เกิดการขยายตัวทางการค้าขายที่แพร่จากเมืองหลวงสู่หัวเมืองต่างๆ ในเวลาต่อมา  การขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้เห็นได้จากความเคลื่อนไหวสองอย่างด้วยกัน อย่างแรกเกิดจากพ่อค้าคนกลางที่ออกไปซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านชาวเมืองตามท้องถิ่นต่างๆ เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านผลิตหรือเสาะหาสินค้าท้องถิ่นมาตอบสนอง  ในขั้นแรกก็ไปมาหาสู่กันตามฤดูกาลต่อมาบรรดาพ่อค้าเหล่านั้นก็จะตั้งหลักแหล่งค้าขายอย่างถาวรในท้องถิ่นนั้นๆ มีการแต่งงานกันระหว่างคนจีนและคนท้องถิ่นขึ้น อย่างหลังเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้านและผู้ปกครองในท้องถิ่นที่ตอบสนองการขยายตัวทางการค้าเพราะความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น  เจ้าเมืองหรือนายอำเภอจึงชักชวน หรือสนับสนุนคนจีนให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งย่านตลาดขึ้นในบริเวณใกล้กับจวนเจ้าเมือง หรือไม่เช่นนั้นก็ในย่านที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม  จึงเป็นเหตุให้เมืองที่เคยมีสภาพเป็นชุมชนหมู่บ้านกลับกลายเป็นชุมชนเมืองที่มีผู้คนหลายกลุ่มหลายอาชีพมาอยู่ร่วมกัน  ลักษณะที่โดดเด่นของการมีย่านชุมชนที่เป็นตลาดขึ้นก็ คือ มีโรงมหรสพ  สถานที่เล่นการพนัน บ่อนเบี้ย โรงน้ำชา และสถานที่บริการอื่นๆ ซึ่งนับเป็นของแปลกใหม่ในสังคมหมู่บ้าน
          ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ได้เกิดชุมชนที่เป็นย่านตลาดถาวรขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ในระดับอำเภอเกือบทั่วทุกหนทุกแห่งในประเทศ  ชุมชนที่เป็นย่านตลาดนี้มีโครงสร้างเป็นสังคมเมืองอย่างแท้จริงเพราะประกอบด้วยผู้คนหลายอาชีพหลายรูปแบบในการดำรงชีพมาอยู่รวมกัน  กลายเป็นแหล่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและคมนาคมที่ไม่เคยมีมาก่อน  ทำให้บรรดาผู้คนที่อยู่ในชุมชนหมู่บ้านต้องมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเพราะเกิดความต้องการในสินค้าใหม่ๆ ซึ่งหลายๆ อย่างไม่ใช่สิ่งจำเป็นแก่ชีวิตในด้านปัจจัยสี่ หากเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือยเพื่อการมีหน้ามีตาและการเพลิดเพลินเท่านั้น
          ในขณะเดียวกันบรรดาพวกพ่อค้าในเมืองเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นคนกลางเข้าไปซื้อสินค้าที่ผลิตจากชาวบ้านในท้องถิ่นมาขายต่อไปยังที่อื่นอีกต่อหนึ่ง  ทำให้เกิดการค้าในระบบตลาดที่ใช้เงินตราเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง  พร้อมกันนั้นก็เกิดกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นอย่างแพร่หลายด้วย ภาพพจน์ของสังคมชนบทที่เริ่มมาในสมัยรัชกาลที่  ๕ นั้น นอกจากเห็นได้จากการเกิดย่านตลาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นแล้ว ยังเห็นได้จากการเกิดขึ้นของบรรดาโรงสีและโรงเลื่อยไม้ตามเส้นทางคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบกในที่ต่างๆ รวมทั้งการเกิดรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่หลากหลายไปจากเดิม เช่น เกิดการสร้างบ้านขนาดใหญ่ด้วยไม้จริง หลังคาทรงปั้นหยาหรือมนิลา  มีลวดลายสลักไม้ประดับตามหน้าจั่วซุ้มประตูหน้าต่าง    รวมไปถึงอาคารที่เป็นตึกด้วยแม้แต่บรรดาเรือนแบบประเพณีที่เรียกว่าเรือนไทยก็มีการสร้างด้วยไม้จริงเป็นเรือนฝาเงยบัวและฝาปะกนเพิ่มขึ้น
          ส่วนบรรดาเมืองใหญ่ในระดับนครที่เป็นศูนย์กลางของจังหวัดและภูมิภาคนั้น เศรษฐกิจทำให้ย่านตลาดขยายใหญ่โตจนแยกออกจากบริเวณที่เป็นศูนย์กลางการปกครองและที่ทำการของรัฐบาล มีลักษณะเป็นชุมชนธุรกิจการค้าที่บรรดาชนชั้นกลางอยู่อาศัยและประกอบกิจการ ลักษณะทั่วไปจะประกอบด้วยห้องแถวที่มีทั้งตึกและอาคารไม้สองฟากถนน   มีการรวมกลุ่มกันเป็นหมู่ๆ ตามประเภทสินค้าที่มีทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าจำเป็นแก่ชีวิตประจำวัน  มีย่านตลาดสด  ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงมหรสพ  เช่น โรงหนัง โรงละคร ร้านขายยาทั้งยาฝรั่งและยาสมุนไพร มีธนาคาร โรงรับจำนำ ศาลเจ้า ท่าเรือ และท่ารถ อันเป็นย่านชุมทางคมนาคมที่จะติดต่อไปยังที่อื่นๆ
          ย่านตลาดหรือชุมชนธุรกิจการค้าที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นผลิตผลอย่างแท้จริงจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ซึ่งถ้าหากมองในเรื่องพัฒนาการทางสังคมแล้วก็อาจกล่าวได้ว่าทำให้เกิดความซับซ้อนทางสังคมเพิ่มขึ้น   อย่างน้อยก็จะเห็นได้ว่าเป็นการเพิ่มชนชั้นให้มากขึ้นกว่าแต่เดิมอีกชั้นหนึ่ง   กล่าวคือแต่ก่อนสังคมไทยทั่วไปมีอยู่เพียงสองชนชั้นเท่านั้น คือ ชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง เช่น พวกไพร่ ข้าทาส ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ เป็นต้นมา ได้เกิดชนชั้นพ่อค้าหรือชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมาอีกชนชั้นหนึ่ง  นับเป็นชนชั้นทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และเป็นชนชั้นที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสังคมไทยมากที่สุดเพราะเป็นชนชั้น ที่เกิดขึ้นโดยเสรีมากกว่าชนชั้นอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของคนจากการเป็นชาวนาหรือชาวไร่มาเป็นขุนนางข้าราชการอันเป็นชนชั้นปกครองนั้นดูยากเย็นเพราะถ้าหากไม่เป็นเชื้อสายผู้ดีมีตระกูล  หรือมีความสามารถเล่าเรียนเก่งจนเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตแล้ว โอกาสที่จะเขยิบฐานะให้สูงขึ้นก็ยาก  แต่ทำนองตรงข้ามถ้าหากเป็นคนขยันหมั่นเพียร  ทำการค้าขายจนร่ำรวย ก็อาจเปลี่ยนแปลงฐานะจากชนชั้นชาวนาหรือกรรมกรมาเป็นชนชั้นกลางชั้นพ่อค้าได้โดยไม่ยาก   เหตุนี้ชนชั้นกลางจึงเติบโตและขยายตัว ออกเป็นหลายระดับตามฐานะทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจ หมายถึง, เศรษฐกิจ คือ, เศรษฐกิจ ความหมาย, เศรษฐกิจ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu