
ว่าด้วยการแต่งกลอนกลบทและกลอนกลอักษร ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงในการแต่งคำประพันธ์ กลอนกลบทคือ กลอนซึ่งเพิ่มเติมลักษณะพิเศษในการเล่นคำ สัมผัส หรือวรรณยุกต์ ให้แปลกจากบัญญัติเดิมโดยจินตนาการของ ผู้แต่ง ส่วนกลอนกลอักษรคือ กลอนที่มี วิธีการเขียนยักเยื้องไปต่างๆ ผู้ที่อ่านกลอนกลอักษรได้ต้องเข้าใจชั้นเชิงของผู้แต่ง จึงจะสามารถอ่านได้ถูกต้อง เพลงยาวกลบทมี ๔๐ บท ส่วนเพลงยาวกลอักษรมีจำนวนน้อยกว่า คือ มีเพียง ๑๐ บท กลบทและกลอักษรหลายบทมีลักษณะตรงกับในกลบท เรื่องศิริวิบุลยกิตต์ วรรณกรรมในรัชกาลที่ ๑ ผู้นิพนธ์ประกอบไปด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นไกรสรวิชิต หลวงลิขิตปรีชา หลวงนายชาญภูเบศร์ จ่าจิตร์นุกูล ขุนธนสิทธิ์ เพลงยาวนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นิพนธ์จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างเลิศในการสร้างสรรค์ งานนิพนธ์ ซึ่งงดงามและไพเราะทางด้านวรรณศิลป์เช่นนี้ และที่ควรสังเกตก็คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการพระราชนิพนธ์ถึง ๑๖ บท
ตัวอย่างกลบทพระราชนิพนธ์ชื่อฉัตรสามชั้น
๏ หวรสวาดิ์โหยถวิลโหยสวาดิ์หวร
ครวญคนึงนึกคะเนนึกคะนึงครวญ ใจเศร้าโศกแสนกำศรวญโศกเศร้าใจ
เอ๋ยอกโอ้หวังวิตกโอ้อกเอ๋ย ไฉนฤานี้จึ่งเฉยนี้ฤาไฉน
ไกลสถานที่สถิตย์ที่สถานไกล แค้นใจเจบด้วยอาไลยเจบใจแค้น
นอกจากเพลงยาวกลบทและกลอักษรแล้ว ที่เสาข้างประตูพระระเบียงพระอุโบสถชั้นนอก ก็มีโคลงกลบท ๓๘ บท ผู้นิพนธ์ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับที่แต่งเพลงยาว
ถอนออกดั่งนี้
จำไปไกลเสน่หน้อง นอนเหงา จ่อนอ
จำแม่เจียมจิตรเนา แต่ห้อง
สมรแม่พี่ห่างเยาว์ แต่จิตร์
สมรมิ่งพี่จากน้อง จากนี้เวรหลัง