ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน หมายถึง, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน คือ, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ความหมาย, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน คืออะไร
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน คือ จารึกสรรพวิชาอันบ่งบอกถึงภูมิปัญญาของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์อันสืบเนื่องมาแต่อยุธยา ได้จารลงบนแผ่นศิลารายรอบวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่การที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของจารึก จำเป็นต้องกล่าวถึงประวัติของวัดพอเป็นสังเขปดังนี้ วัดพระเชตุพนวิมล-มังคลารามซึ่งต่อไปนี้จะกล่าวถึงเพียงสั้นๆว่า วัดพระเชตุพนเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีชื่อว่า วัดโพธาราม ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทอดพระเนตรเห็นวัดเก่านี้ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวังมีสภาพทรุดโทรมปรักหักพัง จึงมีพระราชศรัทธาให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ โดยเริ่มจากการถมดินบริเวณวัด ซึ่งเป็นที่ลุ่มถึง ๒ ครั้ง หลังจากปรับสภาพบริเวณให้มั่นคงแข็งแรงโดยใช้ระยะเวลาถึง ๔ ปี จึงเริ่มต้นการก่อสร้าง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ๒๕ องค์ ศาลาการเปรียญ พระวิหาร ศาลาราย และศาสนสถานอีกหลายแห่งเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปชำรุดที่ประดิษฐานที่วัดในจังหวัดสุโขทัย อยุธยา พิษณุโลก สวรรคโลก และลพบุรี รวม ๑,๒๔๘ องค์ มาซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ให้สมบูรณ์ แล้วนำมาประดิษฐานในพระ-อุโบสถ พระวิหาร และพระระเบียง
พระพุทธรูปองค์สำคัญในจำนวนนี้ที่ควรกล่าวถึง คือ พระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีสภาพที่ชำรุดเกินกว่าจะปฏิสังขรณ์ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ พร้อมด้วยพระบรมธาตุ ฉลองพระเขี้ยวแก้ว ฉลองพระเขี้ยวทอง และฉลองพระเขี้ยวนาก เพื่อสักการบูชาสืบไป พระมหาเจดีย์องค์นี้มีสีเขียว และได้รับการสมมติว่าเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ พระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งที่ได้อัญเชิญจากวัดศาลาสี่หน้า มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ได้รับนามว่า พระพุทธเทวปฏิมากร
หลักฐานจากจารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑ ได้ระบุไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรม ฝาผนังไว้ตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
๑. พระระเบียงรอบพระมหาเจดีย์ศรี-สรรเพชดาญาณ เขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์
๒. บริเวณศาลาราย ๑๗ หลัง เขียนภาพเรื่องอรรถกถาชาดกทั้ง ๕๕๐ พระชาติ (ที่ถูกต้องมีจำนวน ๕๔๗ พระชาติ) ตำรายา และเรื่องฤาษีดัดตน
๓. พระอุโบสถ เขียนภาพเรื่องทศชาติ ท้าวมหาชมพู และเทพชุมนุม
๔. พระวิหารทิศตะวันออก เขียนภาพ เรื่องมารผจญ พระวิหารทิศตะวันออก มุขหลัง เขียนภาพเรื่องพระโยคาพจร อสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐
๕. พระวิหารทิศใต้ เขียนภาพเรื่องเทศนาพระธรรมจักร และเทศนาดาวดึงส์
๖. พระวิหารทิศตะวันตก เขียนภาพเรื่องพระเกศธาตุ
๗. พระวิหารทิศเหนือ เขียนภาพเรื่องไตรภูมิ
ภาพจิตรกรรมที่นายช่างทั้งปวงได้บรรจง สร้างเพื่อเป็นเครื่องประดับแผ่นดินนั้น ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้ว่า มีจารึก กำกับเรื่องราวเพื่อบ่งบอกให้ผู้ชมได้เข้าใจเรื่องหรือไม่ แม้แต่จารึกที่บันทึกรายละเอียด ของการสถาปนาวัดพระเชตุพน ครั้งเมื่อแรกสร้างก็มิได้ยืนยัน ในทัศนะของผู้เขียนเข้าใจว่า จารึกกำกับภาพจิตรกรรมนี้อาจจะยังไม่ได้กระทำเพราะความเร่งรีบ
ใน พ.ศ. ๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนอีกครั้งหนึ่ง เพราะศาสนสถานและถาวรวัตถุที่พระบาทสมเด็จ-พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างไว้นั้นได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่วยกันรวบรวมและแต่งสรรพวิชาลงบนจารึก เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้มีโอกาสแสวงหาความรู้ได้้้อย่างเสรีโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่วงการศึกษาของไทยได้ขยายขอบเขตจากบุคคลชั้นสูงของประเทศมาสู่สามัญชน และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง หากจะกล่าวว่า เสรีภาพทางการศึกษาของปวงชนชาวไทยได้เริ่มต้นขึ้นที่วัดพระเชตุพนก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก
การจารึกที่วัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๓ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ
๑. อธิบายภาพจิตรกรรม ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
๒. เสนอองค์ความรู้ใหม่ องค์ความรู้ใหม่ในที่นี้ก็คือ ความรู้ทางเวชศาสตร์หรือตำรายา ความรู้ทางอักษรศาสตร์และวรรณคดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิตกว่าจะสูญหายเพราะขาดผู้มีความรู้เนื้อหาของจารึกวัดพระเชตุพน อาจแบ่งได้เป็นหมวดและรายละเอียด ดังนี้
๑. พระพุทธศาสนา
๒. วรรณคดีร้อยกรองและร้อยแก้ว
๓. อักษรศาสตร์
๔. เวชศาสตร์
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน หมายถึง, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน คือ, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ความหมาย, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!