เครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งที่จะมีผลทำให้การจัดการหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสบผลสำเร็จก็คือกฎหมาย ทั้งนี้เพราะต้องอาศัยกฎหมายเพื่อการกำหนดนโยบายการจัดการให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลักความสมดุลของธรรมชาติ มีความสอดคล้องกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ วิธีการ ประสานงานขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบและข้อกำหนดอย่างชัดเจนด้วย
เดิมทีประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพียงฉบับเดียวที่ครอบคลุมเรื่องการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๘ และฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๒๑ แต่พระราชบัญญัติฯฉบับนี้ มิได้มีกลไกที่เป็นระบบที่จะช่วยให้มีการ เปลี่ยนแปลงนโยบายและแผนที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปสู่ภาคปฏิบัติที่ได้ผลขาดความต่อเนื่องในการติดตามตรวจสอบโครงการที่ได้ดำเนินงานไปแล้ว ขาดอำนาจในการลงโทษและการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และประเด็นที่สำคัญก็คือ
ไม่มีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมที่จะต้องรับภาระในการแก้ไข นอกจากนั้น ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดทำเครือข่ายการทำงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้มีการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐบาล เอกชนและองค์กรเอกชนอย่างมีระบบ รวมทั้งยังไม่ได้ มีการกระจายอำนาจออกไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้เพียงพอด้วย
ปัจจุบันมีการตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นกฎหมายที่จะเอื้ออำนวยต่อการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งพระราช-บัญญัติฯ ฉบับนี้ได้มีผลทำให้เกิดมาตรการ การดำเนินงานต่าง ๆ อาทิเช่น การปรับองค์กรให้มีเอกภาพทั้งในการกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมการควบคุมมลพิษ การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมออกสู่จังหวัดและ
ท้องถิ่น การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดการพิจารณาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งก่อนและหลังโครงการพัฒนา การกำหนดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของประชาชนและเอกชน ที่จะมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิ่ง แวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การนำมาตรการด้านการเงินการคลังมาใช้เป็นมาตรการเสริมเพื่อให้เป็นแรงจูงใจ และมาตรการบังคับให้ส่วนราชการท้องถิ่น องค์กรเอกชน และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการ "ผู้ก่อให้เกิดมลพิษ ต้องมีหน้าที่เสียค่าใช้จ่าย" การกำหนดหรือจำแนกพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย เร่งด่วน เพื่อการคุ้มครองอนุรักษ์และควบคุมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำหนดความรับผิดชอบทางแพ่ง การต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนกรณีทำให้เกิดการแพร่กระจายมลพิษ และการเพิ่มบทลงโทษในการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดขึ้นด้วย ทั้งในรูปของการปรับและการระวางโทษจำคุกเป็นต้น
นอกจากนี้แล้วยังมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ซึ่งมีบทบัญญัติบางมาตราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับอาทิเช่น พระราชบัญญัติโรงงาน ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติสาธารณสุข ๒๕๓๕ พระราช-บัญญัติวัตถุอันตราย ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติแร่พ.ศ. ๒๕๑๐ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.๒๕๑๘ พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๐๓ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๓ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้น รวมทั้งยังมีประกาศกระทรวงกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความตามมาตราในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ข้างต้นอีกด้วย