เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย
เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย หมายถึง, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย คือ, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย ความหมาย, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย คืออะไร
เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจ หรือยังไม่ได้สำรวจอย่างจริงจังโดยนักอนุกรมวิธานพืช จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบเฟิร์นและพืชกลุ่มใกล้เคียง ที่ไม่เคยมีรายงานว่าพบในประเทศไทยมาก่อน หรืออาจจะเป็นชนิดใหม่ของโลก พืชเหล่านี้อาจจะขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้วโดยที่ยังไม่มีคนค้นพบ เนื่องจากอาจจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก เช่น ตามหน้าผาสูงชันที่ยากจะค้นพบ หรืออาจเป็นชนิดที่มีขนาดเล็กและไม่มีใครสังเกตเห็น ตัวอย่างของเฟิร์นชนิดใหม่ของประเทศไทยที่ไม่มีอยู่ในการศึกษาพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยโดยศาสตราจารย์ตากาวา และศาสตราจารย์อิวัทซูกิ เช่น ชายผ้าสีดาเขากวาง (Platycerium ridleyi) ซึ่งพบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย และประเทศในคาบสมุทรมลายู เป็นเฟิร์นอิงอาศัยเกาะอยู่เดี่ยวๆ ตามคบไม้สูงๆ (มากกว่า ๒๕ เมตร) ทำให้สังเกตได้ยาก นอกจากจะพบต้นที่เกาะอยู่กับขอนไม้ล้ม หรือมีใบร่วงลงมา เฟิร์นใบซิกแซก (Acrorumohra subreflexipinna) เป็นเฟิร์นที่ขึ้นบนดิน พบบริเวณภูเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๕๐ เมตร บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ในพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การยึดครองของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จึงเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับการสำรวจทางพฤกษศาสตร์ กูดหินจิ๋ว (Leptochilus minor) เป็นเฟิร์นที่มีขนาดเล็กขึ้นเกาะตามก้อนหิน ตามลำธารในป่าดิบชื้นและทึบของภาคใต้ซึ่งมีทากชุกชุม จึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พลาดการสำรวจโดยนักพฤกษศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา กูดใบแดง (Pronephrium rubicundum) เป็นเฟิร์นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งใบของเฟิร์นชนิดนี้เมื่อแห้งจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง มีการกระจายพันธุ์ในคาบสมุทรมลายู พบในป่าดิบชื้นบริเวณใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซียเนื่องจากขึ้นบริเวณที่ค่อนข้างรกและอยู่ในที่ร่มจึงอาจทำให้ตกการสำรวจ เฟิร์นกระดุม (Pellaeatimorensis) พบขึ้นบนดิน บริเวณภูเขาทางภาคตะวันออกของประเทศ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐ เมตร เฟิร์นสกุลนี้มีการกระจายพันธุ์ในคาบสมุทรอินโดจีน และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกไม่เคยมีรายงานว่าพบเฟิร์นสกุลนี้ในประเทศไทยมาก่อน เฟิร์นโซ่ภูหลวง (Woodwardia harlandii) พบขึ้นบนดินเป็นเฟิร์นชนิดที่สองของสกุลWoodwardia ที่พบในประเทศไทย มีการกระจายพันธุ์ในคาบสมุทรอินโดจีน พบบนภูเขาสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนกูดเกี๊ยะแคระ (Pteridium aquilinumssp. latiusculum) เป็นชนิดย่อยชนิดที่สามที่พบบนภูเขาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นชนิดเดียวกับกูดเกี๊ยะ และกูดกิน มักจะขึ้นปะปนอยู่กับกูดเกี๊ยะ แต่มีขนาดเล็กกว่า ใบมักจะยาวไม่เกิน ๑ เมตร จึงทำให้เข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกับกูดเกี๊ยะ
เฟิร์นชนิดใหม่ที่เพิ่งพบในประเทศไทย คือเฟิร์นก้านดำใบนวล (Adiantum latifolium) เป็นเฟิร์นซึ่งมีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ห่างไกลคือ แถบอเมริกากลางและตอนเหนือของอเมริกาใต้ ได้มีผู้นำเฟิร์นก้านดำชนิดนี้ไปปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศมาเลเซีย และกลายเป็นเฟิร์นป่าของประเทศมาเลเซียในระยะเวลาต่อมา ปัจจุบันพบเฟิร์นชนิดนี้เป็นวัชพืชในสวนยางแถบจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เช่น ที่อำเภอเบตง และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
เฟิร์นที่พบในประเทศไทยและน่าจะเป็นชนิดใหม่ของโลก คือ เฟิร์นปีกแมลงทับ (Microsorum sp.) มีผู้หาของป่านำมาขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร เนื่องจากใบมีสีสวยงามคือ สีเขียวปนน้ำเงินคล้ายสีปีกแมลงทับ จึงได้รับความนิยมและมีราคาแพง กระตุ้นให้มีการนำออกจากแหล่งธรรมชาติมาขายเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นเฟิร์นที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการแยกต้น จึงทำให้มีผู้ต้องการน้อยลง และต่อมาไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป จากการตรวจหาชนิดของเฟิร์นปีกแมลงทับพบว่า อยู่ในสกุลเดียวกับกระปรอกสิงห์ (Microsorum punctatum) แต่เป็นชนิดใหม่ของประเทศไทย ปัจจุบันกำลังรอการพิสูจน์ว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก เฟิร์นปีกแมลงทับพบขึ้นในที่ร่มตามเพดาน หรือร่องหินแตกของเขาหินปูนในภาคใต้
ในอนาคต ถ้าได้มีการสำรวจในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะพบเฟิร์นและพืชกลุ่มใกล้เคียงกับเฟิร์น ที่เป็นชนิดใหม่ของประเทศไทยและชนิดใหม่ของโลกเพิ่มขึ้น
เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย หมายถึง, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย คือ, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย ความหมาย, เฟิร์นชนิดใหม่ของไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!