ประวัติการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
มนุษย์รู้จักการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ปีแล้ว จีนเป็นชาติแรกที่นำเส้นใยไหมมาทอเป็นอาภรณ์เครื่องนุ่งห่ม และเป็นผู้ผูกขาดทำสินค้าผ้าไหมส่งไปขายต่างประเทศเป็นเวลานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี ความลับเรื่องไหมจึงได้แพร่ไปถึงประเทศญี่ปุ่น ประมาณ พ.ศ. ๗๓๘ และที่ยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลีประมาณ พ.ศ. ๑๘๑๘ ในอินเดียไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ได้รับความรู้นี้ไปจากจีน หรือคิดค้นขึ้นเอง แต่เชื่อว่า อินเดียมีการเลี้ยงไหมมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือ ไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ปี เพราะมีบันทึกในพุทธบัญญัติไว้ว่า ห้ามสาวกของพระพุทธเจ้าบิณฑบาตผ้าที่ใช้ทำที่รองนั่ง (สันถัต) ที่ทำจากไหม
สำหรับวิชาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเมืองไทยสันนิษฐานว่าได้รับมาจากจีน ในสมัยโบราณที่ไทยเสียดินแดนให้แก่จีนก็อพยพถอยร่นลงมายังตอนใต้ของแหลมอินโดจีน ซึ่งคนไทยที่อพยพสมัยนั้น คงจะนำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไหมติดตัวมาด้วย และได้เลี้ยงไหมสืบต่อกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า-อยู่หัวทรงสนพระทัยในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตราธิการดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงไหม โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ซึ่งมี ดร. โทยามา เป็นหัวหน้าคณะให้มาสร้างสถานีเลี้ยงไหมปลูกหม่อน ณ ตำบลทุ่งศาลาแดง กรุงเทพฯ และได้ยกแผนกไหมขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ แล้วขยายงานจัดตั้งสาขาขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ - ๒๔๔๘ ได้ตั้งสาขาขึ้นอีกที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด กิจการก้าวหน้าเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ การส่งเสริมการเลี้ยงไหมจึงชะงักและล้มเลิกไป เพราะมีอุปสรรคนานาประการ เช่น ไหมเป็นโรคตายเป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๘ ทางราชการได้กลับมาสนใจการเลี้ยงไหมอีกครั้งหนึ่ง โดยฟื้นฟูอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นการใหญ่ จัดตั้งโรงสาวไหมกลางขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์กลางของกสิกรไหมในเขตภาคตะ-วันออกเฉียงเหนือ ๑๔ จังหวัด ในระยะนั้นมีรายงานของกรมเกษตรและการประมงว่ามีกสิกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอยู่ถึง ๓๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน การส่งเสริมการเลี้ยงไหมในระยะนั้นเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เพราะขาดกำลังทรัพย์และกำลังคน รังไหมที่ผลิตได้ก็มีคุณภาพต่ำมาก โรงสาวไหมกลางก็ต้องหยุดกิจการไป ประกอบทั้งมีสงครามเอเชียบูรพาด้วย จึงทำให้การเลี้ยงไหมชะงักไปเกือบ ๓๐ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลจึงได้หันมาส่งเสริมกันใหม่อีก งานด้านส่งเสริมดำเนินเรื่อยๆมา โดยจัดตั้งหมวดส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้นที่ปากช่องพุทไธสง หนองคาย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา กรมกสิกรรรมจึงโอนงานมาดำเนินการขยายสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้นอีก ๒ แห่ง คือ สถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหม ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดบุรีรัมย์และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นตามแผนโคลัมโบก่อตั้งศูนย์วิจัยและอบรมไหมนครราชสีมาขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างจริงจัง และเป็นศูนย์กลางวิชาการเรื่องหม่อน ไหมที่จะนำไปส่งเสริมให้กสิกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามแผนใหม่ให้ได้ผลดีเช่นเดียวกับต่างประเทศ นอกจากนี้ สถานศึกษาในระดับสูง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิทยาลัยเกษตรกรรมต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้เปิดสอนวิชาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมความรู้ในระดับการศึกษาชั้นสูงควบคู่กันไปด้วย
ปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพนี้มี ๕ ประการ คือ
๑. หม่อน ต้องมีพันธุ์หม่อนที่ดีและปริมาณมากพอ
๒. ไหม ต้องมีพันธุ์ไหมที่ดี แข็งแรง โตเร็ว ทนทานต่อโรค ให้ผลผลิตสูง
๓. วิธีการเลี้ยง ต้องดัดแปลงวิธีเลี้ยงที่ทำให้ไหมโตเร็วแข็งแรง ประหยัดแรงงาน
๔. โรคและแมลงศัตรูของหม่อนและไหม ต้องควบคุมโรคและแมลงต่างๆ ที่ทำความเสียหายแก่หม่อนหรือไหมให้ได้
๕. การจัดการ การวางแผนการเลี้ยงที่ถูกต้อง กล่าวคือการดูแลสวนหม่อนระยะไหน ควรปฏิบัติตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยอย่างไร และกะระยะเวลาเริ่มเลี้ยงไหมตอนไหน ต้องกระทำให้สัมพันธ์กับสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต และระยะที่มีใบหม่อนมากเพียงพอในขณะที่เลี้ยง ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไป
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หมายถึง, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คือ, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ความหมาย, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คืออะไร
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หมายถึง, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คือ, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ความหมาย, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!