บริเวณที่จัดว่าอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยนั้นคือที่ราบลุ่มของลำน้ำปิง ยม น่าน ตอนล่าง ซึ่งอยู่ในจังหวัดตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร สุโขทัย และกำแพงเพชร ลงมาถึง แม่น้ำเจ้าพระยานับตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์มาจนถึงอ่าวไทย โดยมีจังหวัดเพชรบุรีเป็นฐานทางด้าน ตะวันตก และจังหวัดชลบุรี
ทางตะวันออกความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มในภาคกลางนี้เหมาะแก่การเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดี ทุกๆปีแม่น้ำและลำน้ำหลายสายจะพัดพาโคลนตะกอนมาทับถมพื้นที่ราบลุ่มในฤดูน้ำ ทำให้เกิดปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะกับการเพาะปลูกอย่างค่อนข้างถาวร ไม่จำเป็นต้องโยกย้ายพื้นที่ทำการเพาะปลูก อย่างการทำไร่บนที่สูงตามภูเขาในบริเวณที่ราบลุ่มนี้ จึงเหมาะกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของมนุษย์เหตุนี้บรรดาบ้านเมืองในภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีการตั้งถิ่นฐานตามริมฝั่งแม่น้ำและลำน้ำหลายสายโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเมืองนั้นมักเกิดขึ้นตรงที่มีลำน้ำหลายสายมาบรรจบกันหรือไม่ก็ตรงคลองที่ขุดมาบรรจบกับแม่น้ำใหญ่ โดยเฉพาะในสมัยหลังที่ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่นๆ (ดูรายงานของผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา๒๕๒๔)
หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานในภาคกลาง ได้ชี้ให้เห็นในสมัยโบราณบ้านเมืองเกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใน เขตภาคกลางตอนล่างก่อน เพราะมีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนที่เคยตั้งชุมชนอยู่ตามที่ราบชายเขาทางด้านตะวันตก และตะวันออกลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำของแม่น้ำลำคลอง จนเกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นในสมัยทวาราวดี คือประมาณพุทธศตวรรษที่๑๑-๑๒ ลงมา ตัวอย่างของเมืองใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็ได้แก่ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี จังหวัด-ครปฐม เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองพระรถจังหวัดชลบุรี
การก่อตั้งบ้านเรือนสมัยประวัติศาสตร์ในบริเวณที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่า มีการเริ่มสร้างบ้านเมืองขึ้นมาทันที แต่สันนิษฐานว่าบรรดาเมืองโบราณเหล่านี้มีรากฐานสืบเนื่องมาจากแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น แหล่งชุมชนตามบริเวณลำน้ำจระเข้สามพันใกล้เมืองอู่ทอง แหล่งโคกพลับที่จังหวัดราชบุรี แหล่งบ้านท่าแค และที่เขาวงพระจันทร์ที่จังหวัดลพบุรี แหล่งโคกพนมดีที่จังหวัดชลบุรี (ดูชิน อยู่ดี ๒๕๑๙, สด แดงเอียด ๒๕๒๑ : ๑๗-๒๕, สุรพล นาถะพินธุ ๒๕๒๗ : ๒๐-๒๗, พรชัย สุจิตต์ และ ดำรงเกียรติ นกสกุล ๒๕๒๒ : ๗๑-๗๙)
เมื่อแม่น้ำลำคลองเกิดตื้นเขิน ผู้คนก็โยกย้ายเมืองมาตั้งริมลำน้ำใหม่ที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ดีกว่า ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยหลังๆลงมาเกิดเมืองต่างๆ เช่น เมืองสุพรรณบุรี เมืองแพรกศรีราชา เมืองอยุธยา เมืองเพชรบุรี และเมืองราชบุรี ขึ้นมาแทนที่เมืองเก่าๆ ที่มีมาแต่สมัยทวาราวดี เมืองที่คงสืบเนื่องเรื่อยมาก็คงมีแต่เพียงเมืองละโว้ หรือลพบุรีเท่านั้น เพราะแม่น้ำและลำคลองในบริเวณนี้ยังคงใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ดี ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลางตอนล่าง ก็ยังเป็นบริเวณที่อยู่ติดกับทะเลในอ่าวไทย แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงสู่ทะเลต่างก็มีบทบาทเป็นเส้นทางที่เรือเดินทะเลแล่นเข้ามายังบ้านเมืองภายในได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดเมืองท่าสำคัญหลายแห่งที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมมาแต่โบราณในช่วงระยะแรกๆ ไม่ว่าเมืองนครปฐมโบราณ(นครชัยศรี) เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว เมืองศรีมโหสถล้วนแต่เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่ติดต่อกับภายนอกได้ทั้งนั้น ในสมัยต่อมา เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองอยุธยา ต่างก็เจริญขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะเมืองอยุธยานั้นได้กลายมาเป็นทั้งเมืองท่าและเมืองหลวงของราชาณาจักร ในเวลาเดียวกันเมื่อกรุงศรีอยุธยาโรยร้างไปเพราะการทำลายของพม่าข้าศึก ก็เกิดนครธนบุรี และกรุงเทพมหานครขึ้นมาแทนที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ (ศรีศักร วัลลิโภดม ๒๕๒๕: ๗๗๓)
ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในอดีตอุดมด้วยทรัพยากรที่เป็นแร่ธาตุและของป่า ซึ่งชาวบ้านสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิต และส่งออกเป็นสินค้าไปยังภายนอกได้อีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ คือ ในบริเวณที่สูงและภูเขาในเขตจังหวัดลพบุรีเรื่อยไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ มีแร่เหล็ก และแร่ทองแดง มีการตั้งแหล่งชุมชนถลุงแร่ และหลอมโลหะกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น แหล่งถลุง และหลอมทองแดง ในบริเวณ เขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี และแหล่งถลุงเหล็ก ครั้งสมัยทวาราวดีถึงอยุธยาที่บ้านดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี (ดู สุรพล นาถะพินธุ ๑๙๘๘: ๑๐๗-๑๒๔, พรชัย สุจิตต์ ๒๕๒๘: ๒๑๒๖) ส่วนป่าเขาทางด้านตะวันตกในเขตจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร และตาก ก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยบรรดาของป่าที่ได้จากสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ในป่า สิ่งของเหล่านี้เป็นสินค้าออกที่สำคัญ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ส่วนในบริเวณภาคกลางตอนเหนือตั้งแต่เขตจังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปจนถึงตากและอุตรดิตถ์นั้น ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็เป็นทางผ่านสัญจรไปมาของคนโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองที่มีขนาดใหญ่โตในสมัยทวาราวดีและลพบุรีตอนต้นเลยพอมาถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ จึงมีการขยายตัวทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ และจากที่มีหลายกลุ่มหลายเหล่าจากทางเหนือ ทางตะวันตก และตะวันออกเคลื่อนย้ายสัญจรผ่านไปมาเพื่อทำการค้าขายกับบ้านเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น อันได้แก่ เมืองพุกาม และเมืองมอญในประเทศพม่า เมืองพระนครในประเทศกัมพูชาและเมืองเวียงจันทน์ที่เป็นปากทางติดต่อไปยังประเทศญวนทางด้านตะวันออกและตะวันตกเฉียงเหนือ รวมทั้งแคว้นหริภุญชัย และโยนกทางเหนือการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้เกิดการสร้างบ้านเมืองขึ้นในบริเวณภาคกลางตอนเหนือ เกิดเป็นแว่นแคว้นสุโขทัย มีเมืองสำคัญเกิดขึ้นและเพิ่มขึ้นตั้งแต่ตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมืองสำคัญเหล่านี้ ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย สองแคว กำแพงเพชร นครชุม ทุ่งยั้ง พระบาง (นครสวรรค์) เป็นต้น (ศรีศักร วัลลิภดม ๒๕๓๒)
สภาพการตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางตอนบนก็คล้ายคลึงกันกับบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั่นคือ บรรดาเมืองสำคัญๆ จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ที่เป็นเส้นทางคมนาคม ดูเหมือนมีแต่เพียงเมืองสุโขทัยเพียงเมืองเดียวที่ตั้งอยู่ตีนเขา ใกล้กับลำน้ำเล็กๆ ห่างไกลจากแม่น้ำยม แต่เมืองนี้ก็ดำรงอยู่ไม่นานประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ก็โรยร่างเปิดโอกาสให้เมืองสำคัญใหม่ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำขึ้นมาแทน คือ เมืองสองแควหรือพิษณุโลกริมฝั่งแม่น้ำน่าน เมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัยริมฝั่งแม่น้ำยม และเมืองนครชุมและกำแพงเพชรริมฝั่งแม่น้ำปิง เป็นต้น ถ้าหากมีการเปรียบเทียบกันระหว่างภาคกลางตอนบนกับภาคกลางตอนล่าง โดยตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดการตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางตอนบนจึงเกิดขึ้นทีหลังบริเวณตอนล่างในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช้านานแล้ว ก็คงจะตอบโต้ได้โดยไม่ยากว่า ในสมัยโบราณตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ลงมานั้นจำนวนประชาชนในดินแดนประเทศไทยมีน้อยในขณะที่แผ่นดินและที่ทำกินมีอย่างเหลือเฟือ ผู้คนมีสิทธิ์ และโอกาสที่จะเลือกปักหลักตั้งรกรากบนบริเวณที่ดีกว่าหรืออุดมสมบูรณ์กว่า ซึ่งก็แน่นอนว่าบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลางตอนล่างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบบริเวณภาคกลางตอนบนอย่างมากมาย เหตุนี้ผู้คนจึงเลือกที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามากกว่า
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางภูมิศาสตร์ของผู้คนที่สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่ในบริเวณภาคกลางทั้งสองเขตนี้ มีลักษณะที่ง่ายไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาดัดแปลงหรือควบคุมธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะชุมชนมักตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีใช้ตลอดปี และเมื่อถึงฤดูกาลก็มีฝนตกทำให้มีการเพาะปลูกพืชพันธุ์ทางเศรษฐกิจได้สม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องมีการชลประทานน้ำเพื่อส่งเสริมให้การเพาะปลูกได้ผลดี เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ในจดหมายเหตุของบาทหลวง เดอ ซัวซีได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๒๒๘ พร้อมกับคณะทูตเดอโชมองค์และพำนักอยู่ในเมืองไทยร่วม ๓ เดือนได้เขียนอธิบายไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะเสด็จไปประทับที่ละโว้ในช่วงฤดูน้ำหลาก เพราะในระยะเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาจะถูกน้ำท่วมเจิ่งนองไปหมด (สันต์ ท. โกมลบุตร ๒๕๑๖: ๓๓๘, ๔๒๗) ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้นผู้คนที่อยู่รอบๆ พระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงสามารถปลูกข้าวอย่างง่ายๆ ได้โดยการหว่านลงบนที่นาหลังจากไถแล้ว และปล่อยให้ต้นข้าว โตเองในยามที่น้ำไหลท่วมที่นาเมื่อถึงฤดูกาล ไม่มีการจัดการทดน้ำและชลประทานแต่อย่างใดเหตุนี้ เมื่อเกิดฝนฟ้าแล้งขึ้นบางปีจึงเกิดข้าวยากหมากแพง