ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

นาฏศิลป์, นาฏศิลป์ หมายถึง, นาฏศิลป์ คือ, นาฏศิลป์ ความหมาย, นาฏศิลป์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
นาฏศิลป์

          นาฏศิลป์ เป็นศิลปวัฒนธรรมสาขาหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองของไทยเรา ความงดงามของท่าร่ายรำตามจังหวะและทำนองเพลง ตลอดจนการแสดงสื่อความหมายด้วยบทเจรจา ท่าทาง และคำร้องเป็นลำนำ ช่วยให้ผู้ชมได้ชื่นบานสนุกสนาน ได้อิ่มเอมกันสุนทรียรส และเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับการแสดง นาฏศิลป์ไทยจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปู่ ยา ตา ยาย ได้ถ่ายทอดไว้ให้สมควรที่เยาวชนทั้งหลายควรสนใจรับสืบทอด และรักษาไว้เป็นศรีสง่าของชาติไทยสืบไป

          ท่วงท่าของการร่ายรำนั้น เกิดขึ้นจากอิริยาบถต่างๆ ของคนในชีวิตประจำวันนั้นเอง แม้ว่ามือและแขนจะเป็นส่วนสำคัญของการรำ แต่อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นศีรษะ หน้า คอ ลำตัว เอว ขา และเท้า ก็ต้องเคลื่อนไหว  รับสัมพันธ์กันทุกส่วนจึงจะแลดูงามและสื่อความหมายได้ดี การแสดงท่ากวัก โบกสะบัด จีบคว่ำ จีบหงาย ร้องไห้ อิ่มเอม โกรธ ขับไล่ ฯลฯ ล้วนแต่มีท่ารำที่สวยงาม และดูได้เข้าใจชัดเจนทั้งสิ้น 
         เนื่องจากการร่ายรำเป็นศิลปะขั้นสูง ผู้ที่จะรำเป็นจึงต้องได้รับการฝึกหัดและฝึกฝนอย่างจริงจัง จึงจะดูนิ่มนวล กลมกลืน และงามสง่า ครูนาฏศิลป์โบราณได้ประดิษฐ์ท่ารำไว้มาก เป็นท่าหลักที่ต้องเรียนรู้ให้แม่นยำ ท่าหลักสำหรับฝึกหัดรำนี้มักเรียกกันว่า "แม่บท" เป็นท่ารำที่เลียนแบบอิริยาบถทั้งของเทพบุตร เทพธิดา คน สัตว์และธรรมชาติแวดล้อม เช่น เทพนม สอดสร้อยมาลา กวางเดินดง เมขลาล่อแก้ว ยอดตองต้องลม เป็นต้น ท่ารำบางท่าเป็นการแสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง หนุมานผลาญยักษ์ พระลักษมณ์แผลงฤทธิ์ เป็นต้น

          การรำ คือการแปลชื่อท่ารำต่างๆ มาประดิษฐ์ให้มีส่วนสัดงดงาม เรียบเรียงลำดับ ทำให้เข้ากับจังหวะและทำนองของเพลงร้องเพลงดนตรีที่บรรเลงประกอบ ตบแต่งท่ารำสำหรับเชื่อมท่าต่างๆ ให้ติดต่อกลมกลืนกันการแสดงนาฏศิลป์แบ่งออกเป็น ๒ประเภทใหญ่ๆ คือ
          ๑. ระบำ
          ๒. ละคร

         ระบำ เป็นการแสดงร่ายรำประกอบคำร้องและทำนองจังหวะดนตรีที่มุ่งความสวยงามและความบันเทิงเป็นสำคัญ ผู้แสดงจะมีเพียงคนเดียวหรือเป็นหมู่ก็ได้ การแสดงระบำต้องมีความพร้อมเพรียงและช่วยให้เกิดความสนุกสนาน

         ละคร เป็นการแสดงรำที่มีเรื่องราวดำเนินไปโดยลำดับ มีหลายประเภท เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์และโขน สำหรับโขนนั้นยังมีวิธีการแสดงที่แตกต่างกันไป เช่น โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ และโขนฉาก 
        นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการนำนาฏศิลป์แบบตะวันตกมาใช้ จึงเกิดมีละครร้อง ละครพูด ละครพูดสลับลำ และละครสังคีต การละครได้เฟื่องฟูมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มีวิวัฒนาการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

        มือ เป็นอวัยวะที่เราใช้ทำอะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เปิปข้าวเข้าปาก ใช้เขียนหนังสือ ใช้หยิบสิ่งโน้นสิ่งนี้ และใช้ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง นอกจากจะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราโดยตรงแล้ว มือยังใช้บอกให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ของเราได้ด้วย เช่น เมื่อต้องการจะให้ผู้ใดมาหาเรา ก็ใช้มือกวักให้เขาเข้ามาหาเราได้ หรือต้องการจะให้เขาออกไปก็ใช้มือโบกสะบัดออกไป ผู้นั้นก็จะรู้ความประสงค์ และออกไปตามความต้องการของเรา ถ้าเขาถือผลไม้หรือขนมอะไรมา หากเราแบมือออกไปที่เขา เขาก็จะรู้ว่าเราขอผลไม้ หรือขนมนั้นจากเขา

         นอกจากจะมีประโยชน์ในการที่จะบอกความประสงค์ของเราได้มากมายหลายประการแล้ว มือยังใช้ป้องกันตัว ถืออาวุธต่อสู้ศัตรูก็ได้ หรือแสดงความเคารพนบไหว้ผู้มีพระคุณ เช่น ครูบาอาจารย์ บิดามารดา หรือนมัสการพระพุทธรูป  พระสงฆ์ก็ได้ เวลามีความรื่นเริงเราก็ตบมือเป็นจังหวะสนุกสนาน หรือตบมือแสดงความยินดีแก่ผู้อื่นก็ได้ ในร่างกายของเรามือเป็นอวัยวะที่ใช้งานมากที่สุด 

         ถ้าเราเหยียดนิ้วทุกนิ้วให้ติดกัน เกร็งให้ตึงทั้ง ๕ นิ้ว แล้วหักข้อมือขึ้นทางหลังมือจนสุดที่จะทำได้ ท่านจะเห็นว่านี่คือต้นทางของการรำ การรำคือการใช้มือทำท่าทางต่างๆ ดัดแปลงจากท่าที่ใช้กันอยู่เป็นปกติ โดยตบแต่งให้มีส่วนสัด  กำหนดให้ยกสูงเพียงนั้นหรือต่ำลงเพียงนี้ เหยียดแขนงอแขนแค่ไหน คว่ำหรือหงายมืออย่างไร รวมความว่า แต่งมือให้รำงดงาม
         มีการกระทำอีกอย่างหนึ่ง แทรกอยู่ในการรำ ซึ่งมิใช่แบมือดังกล่าวแล้ว แต่เป็นการใช้ปลายนิ้วชี้กับปลายนิ้วหัวแม่มือเข้ามาติดกัน แล้วเหยียดนิ้วกลางนิ้วนางและนิ้วก้อยออกไปให้ห่างกัน และมีระยะห่างเท่าๆ กัน การกระทำเช่นนี้ เรียกว่า "จีบ" การจีบนี้จะแทรกอยู่ในการรำเสมอๆ มีทั้งจีบคว่ำและจีบหงาย

         มือ  เป็นส่วนสำคัญในการรำก็จริง แต่การรำก็ต้องประกอบด้วยอิริยาบถของทุกส่วนของร่างกาย ทั้งใบหน้า คอ ลำตัว เอว ขา และเท้า ซึ่งจะต้องมีส่วนสัดให้รับกันกับมือที่ทำท่านั้นๆ จึงจะแลดูงาม

         ท่ารำที่ตบแต่งจากท่าธรรมดาสามัญที่เรากระทำกันอยู่ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็มีเช่น เวลาร้องไห้ น้ำตาไหล เราก็จะเช็ดน้ำตาด้วยมือ จะเป็นมือซ้ายหรือขวา หรือแม้แต่หลังมือ อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเป็นท่ารำก็จะบัญญัติบังคับว่าจะต้องใช้มือซ้ายวาดเป็นวงเข้ามา กางหัวแม่มือกับอีก ๔ นิ้วให้ถ่างออกไป แล้วมาแตะไว้ที่หน้าผาก ก้มหน้าพอสมควร สะอึกสะอื้นให้เข้ากับจังหวะดนตรีที่บรรเลงเพลงโอด

         การเดิน โดยปกติเราจะเดินอย่างไรแกว่งแขนอย่างไรก็ได้ แต่การเดินที่อยู่ในการรำจะต้องก้าวเท้าให้มีส่วนสัดมือจะต้องกรีด กรายช้าๆ เวลาก้าวเท้าขวามาอยู่ข้างหน้า ก็ต้องกรีดมือซ้ายออกมา เวลาก้าวเท้าซ้ายมาข้างหน้าก็กรีดมือขวาออกมาทางข้างหน้า ให้แลดูงดงามเป็นสง่า



นาฏศิลป์, นาฏศิลป์ หมายถึง, นาฏศิลป์ คือ, นาฏศิลป์ ความหมาย, นาฏศิลป์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu