ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ศาสนาสิกข์, ศาสนาสิกข์ หมายถึง, ศาสนาสิกข์ คือ, ศาสนาสิกข์ ความหมาย, ศาสนาสิกข์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ศาสนาสิกข์

          ศาสนาสิกข์  เป็นศาสนาของชาวอินเดียประมาณ  ๖  ล้านคน เป็นศาสนาที่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม มีความสมัครสมานสามัคคีกันโดยตั้งเป็นลัทธิศาสนาใหม่ขึ้นมา และกำหนดให้มีพระเป็นเจ้าองค์เดียว  สำหรับมนุษยชาติทั้งปวง ไม่มีพระเป็นเจ้าของฮินดูองค์หนึ่ง ของมุสลิมองค์หนึ่ง  หรือของคริสต์ศาสนิกชนองค์หนึ่งอีกต่อไป
          ผู้ที่นับถือศาสนาสิกข์  และผ่านวิธี  "ปาหุล"  ตามแบบศาสนาแล้วก็จะได้นามว่า"สิงห์" ต่อท้ายชื่อเหมือนกันทุกคน เมื่อทำพิธีแล้วก็จะได้รับ "กกะ" หรือสิ่งที่ขึ้นต้นด้วยอักษร  "ก"  ๕ ประการ คือ (๑)  เกศ  ได้แก่การไว้ผมยาวโดยไม่ต้องตัดเลย   (๒) กังฆาหวีขนาดเล็ก    (๓) กฉา กางเกงขาสั้น  (๔) กรา  กำไลมือทำด้วยเหล็ก  และ (๕) กฤปานดาบ
          ศาสนาสิกข์มี   ศาสดา  หรือ "คุรุ" รวมทั้งหมด  ๑๑  องค์ด้วยกัน องค์แรกซึ่งนับว่าสำคัญที่สุด   ชื่อ คุรุนานัก (พ.ศ. ๒๐๑๒-๒๐๘๒)  ท่านผู้นี้เกิดที่แคว้นปัญจาบ บิดาชื่อ   กาลุ   มารดาชื่อ  ตฤปตา  แม้ท่านจะเกิดในวรรณะกษัตริย์  แต่ก็ยากจน เมื่ออายุได้ ๗ ขวบบิดาส่งเข้าศึกษาในโรงเรียน     ท่านได้แสดงความสามารถในการไต่ถามครูบาอาจารย์ถึงความรู้เรื่องพระเป็นเจ้า และมีความรู้แตกฉานในคัมภีร์พระเวทตั้งแต่อายุยังน้อย   อายุได้๙  ขวบก็ได้ศึกษาความเป็นมาและศาสนาของเพื่อนบ้าน จนสามารถโต้เถียงเรื่องศาสนากับบรรดาคณาจารย์เก่าๆ  ได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มีผู้เชื่อว่าท่านสามารถสั่งสอนคนได้ตั้งแต่อายุ  ๙  ขวบ  ต่อมาท่านก็แต่งงานกับนางสุลักขณี มีบุตร  ๒  คน  ชื่อ  ศรีจันทร์  กับ  ลักษมิทา
          ต่อมาวันหนึ่งขณะที่ท่านทำสมาธิอยู่ในป่า   ท่านได้รับปรากฏการณ์ทางจิต และได้เห็นพระเป็นเจ้า    เมื่อกลับมาบ้านแล้ว   ก็ลงมือแจกทานแก่คนจน ให้ยาและรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ได้ป่วย  ท่านมีลูกศิษย์ทั้งที่เป็นฮินดูและมุสลิมมากมาย ท่านได้เดินทางไปสั่งสอนตามเมืองต่างๆ ทั้งในอินเดีย  ลังกา  อาระเบีย รวมทั้งเมืองเมกกะและแบกแดดด้วยหลักคำสอนที่ท่านนำไปสอนก็คือ "สามัคคี  เสมอภาค  ศรัทธา  และภักดีในพระเป็นเจ้า"
          คุรุองค์ต่อมาอีก  ๙  องค์   มีนามตามลำดับดังนี้   คือ   อังคัท  อมรทาส  รามทาส   อรชุนหริโควินท์  หริไร  หริกฤษัน  เตฆพหทุร์  และ  โควินทสิงห์
          ศาสนาสิกข์  แยกออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ๒ นิกายด้วยกัน  คือ
          ๑.   นิกายนานักปันถี  หมายถึง  ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของคุรุนานักซึ่งเป็นคุรุองค์แรก
          ๒.   นิกายนิลิมเล  หมายถึง  นักพรตผู้ปราศจากมลทิน  นับถือคุรุโควินทสิงห์ซึ่งเป็นคุรุองค์สุดท้าย
          หลักคำสอนที่สำคัญๆ  ของศาสนาสิกข์ก็คือ   สอนให้นับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียวในเรื่องการสร้างโลกก็เชื่อว่า  เดิมมีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้น ต่อมาก็มีหมอก   ก๊าซ หมุนเวียนเป็นเวลาหลายล้านปีจึงได้เกิดมีแผ่นดิน  ดวงดาว  น้ำ  อากาศ ฯลฯ แล้วก็มีสิ่งที่มีชีวิตเกิดขึ้นมาถึง ๘,๔๐๐,๐๐๐   ชนิด  และสอนว่าโลกมีอยู่มากต่อมาก ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์ก็มีอยู่มากมายเช่นกัน  อากาศและอวกาศก็กว้างใหญ่ไพศาลสุดที่จะรู้ทั่วถึงได้
          นอกจากนั้นศาสนาสิกข์ถือว่า  วิญญาณเป็นอมตะไม่รู้จักดับสูญ ถ้าใครไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอีกก็ต้องชำระจิตของตนให้หมดจดจากกิเลส
          ศาสนาสิกข์ส่งเสริมให้ยกฐานะผู้หญิงให้เท่าเทียมผู้ชาย    ให้ผู้หญิงมีสิทธิในการศึกษาร่วมสวดมนตร์ หรือเป็นผู้นำในการสวดมนตร์ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย   สอนให้คนมีความเสมอภาคกัน และมีเสรีภาพซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของสังคม  นอกจากนั้น  คุรุนานัก ซึ่งมองเห็นภัยที่ประเทศชาติกำลังได้รับจากคนต่างชาติและคนในชาติเดียวกัน จึงได้ประกาศธรรมะเพื่อความดำรงอยู่แห่งชาติ    เร้าใจผู้ฟังให้มีความสามัคคี มีความรักชาติ   โดยไม่เกลียดชาติอื่น  และคุรุโควินทสิงห์ก็สอนให้ชาวสิกข์เป็นทหารหาญยอมเสียสละเลือดเนื้อเพื่อชาติ  ทั้งคุรุบางองค์ก็ได้เคยเสียสละชีวิตเพื่อชาติมาแล้ว
          ในประเทศไทยมีวัดสิกข์  ๑๔  วัด  และมีศรีคุรุสิงหสภาซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนจักรเพชรกรุงเทพมหานคร  เป็นศุนย์กลางในการประกอบศาสนกิจต่างๆ ของชาวสิกข์ และใช้เป็นสถานที่เพื่อประกอบพิธีการสมรส  การจัดงานเลี้ยงต่างๆ นอกจากนั้น  เมื่อชาวสิกข์เกิดทะเลาะกัน  และไม่อาจตกลงกันได้ คณะกรรมการบริหารของสภาก็จะช่วยตัดสินให้ปัจจุบันนี้ชาวสิกข์ได้กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ โดยมีอาชีพทางด้านธุรกิจการค้าตามจังหวัดใหญ่ๆ หลายจังหวัด

ศาสนาสิกข์, ศาสนาสิกข์ หมายถึง, ศาสนาสิกข์ คือ, ศาสนาสิกข์ ความหมาย, ศาสนาสิกข์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu