ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ หมายถึง, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ คือ, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ ความหมาย, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔

          เมื่อวันที่  ๑  ตุลาคม  พุทธศักราช  ๒๔๑๑  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชชนกดังนั้น เมื่อถึงวันที่ ๑  ตุลาคม พุทธศักราช  ๒๔๓๖  จึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรรจบครบรอบ  ๒๕  ปีบริบูรณ์  ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงมหามงคลพิเศษสมัยนี้ว่า  พระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ตลอดมาจนถึงแผ่นดินพระองค์ รวม ๓๘ พระองค์ ที่ทรงดำรงรัชกาลถึง ๒๕  ปีขึ้นไป  มีเพียง ๙  พระองค์เท่านั้นควรบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์นั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เผดียงพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรมเปรียญและเจ้าอธิการ  ตามพระอารามในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี  จังหวัดอ่างทองที่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยก่อน หรือพระบรมวงศานุวงศ์ในพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ได้ทรงสร้างแล้วปฏิสังขรณ์สืบมา จำนวน  ๓๘ รูป  เจริญพระพุทธมนต์  วันที่ ๓๐ กันยายน  และ  ๑ ตุลาคม  พุทธศักราช  ๒๔๓๖  ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับพระราชทานฉันแล้วมีเทศนา ๑ กัณฑ์ และขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาททำซุ้มลับแลไฟเป็นเครื่องประดับสำหรับสักการะได้พระราชอุทิศถวายจำเพาะแด่พระเจ้าแผ่นดิน องค์ละซุ้ม  และตกแต่งโคมรูปต่างๆ  เป็นเครื่องประดับเพิ่มเติมอย่างงดงามยิ่ง

          อนึ่ง ในมหามงคลพิเศษสมัยที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ  ๒๕  ปี บริบูรณ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญเงินเป็นที่ระลึกพระราชทานชื่อว่า  “เหรียญรัชดาภิเษกมาลา” เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท

          ครั้นถึงวันที่  ๕  ธันวาคม  พุทธศักราช  ๒๔๓๖  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบรมราชาภิเษก  นับทางจันทรคติได้  ๒๕  ปีบริบูรณ์  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชดาภิเษก  ณ  พระบรมมหาราชวัง  ตั้งแต่วันที่  ๑-๘  ธันวาคม  พุทธศักราช  ๒๔๓๖  โดยจัดรูปแบบพระราชพิธีทำนองเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ มีวันตั้งน้ำวงด้าย (สายสิญจน์รอบมณฑลพระราชพิธี)  เจริญพระพุทธมนต์ ๓ วัน สรงพระมูรธาภิเษก  ประทับพระที่นั่งอัฐทิศ  รับน้ำอภิเษก  ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐพราหมณ์อ่านมนต์เปิดประตูไกรลาส  ไม่มีการถวายพระสุพรรณบัฏและเครื่องสิริราช กกุธภัณฑ์แล้วเสด็จออกรับคณะทูตานุทูตถวายชัยมงคลทรงตั้งพระราชาคณะ  ๓  รูปเป็นมงคลฤกษ์คณะสงฆ์สวดถวายชัยมงคล  ณ  พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เสด็จออกให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคล  มีพระธรรมเทศนา  ๕  กัณฑ์  เจ้าพนักงานตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียร ๓ วัน  และเสด็จพระราชดำเนินศาลายุทธนาธิการให้ทหารบกทหารเรือเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัว

          ดังนั้น  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรรจบครบ ๒๕ ปีบริบูรณ์ ในวันที ๙ มิถุนายนพุทธศักราช  ๒๕๑๔  รัฐบาลและประชาชนชาวไทยสำนึกโนพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ  เห็นชอบเป็นสมานฉันท์ในอันที่จะร่วมกันแสดงความจงรักกักดี  จัดงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกขึ้นเฉลิมฉลองเป็นราชสักการะ  แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในอาญาประชาราษฎร์  มีพระราชดำริว่า  บ้านเมืองยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ  ควรมุ่งพัฒนาเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน  และไม่ควรจัดงานให้มโหฬาร  ด้วยทรงเกรงว่าจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  จึงพระราชทานพระราชกระแสปรากฏแก่รัฐบาลว่า “ขอให้ทำโดยประหยัด  ”รัฐบาลจึงน้อมเกล้าฯ รับพระราชกระแสสนองพระราชประสงค์  โดยจัดงานเน้นหนักไปในทางที่เป็นการพัฒนาบ้านเมือง  เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชน  เป็นต้นว่าสร้างโรงเรียน  ตั้งทุนเพื่อการศึกษาและวิจัย  สร้างถนน  และจัดทำของที่ระลึก  ส่วนพระราชพิธีรัชดาภิเษกมีแต่  เพียงเสด็จออกมหาสมาคมทรงรับคำถวายพระพรในมหามงคลสมัยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ส่วนงานเฉลิมฉลองที่สำคัญ คือ การสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษก  และงานสโมสรสันนิบาตของรัฐบาล

          การเสด็จออกรับคำถวายพระพรในมหามงคลสมัยเถลิงถวัลยราชสมบัติบรรจบครบ ๒๕ ปี มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๔

          วันที่  ๙  มิถุนายน  พุทธศักราช  ๒๕๑๔  เวลา  ๑๐.๓๐ น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร  ณ  พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระบรมมหาราชวังเสด็จออกมหาสมาคมทรงรับคำถวายพระพรในมหามงคลสมัยเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแพ  แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายชัยมงคลแทนพระบรมวงศานุวงศ์ จอมพลถนอม  กิตติขจร  นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต้นไม้ทองเงิน  ธูปเทียนแพแล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายชัยมงคลแทนคณะรัฐมนตรี  ข้าราชการ  ทหาร  พลเรือนพันเอก นายวรการบัญชา ประธานรัฐสภาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแพ  แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายชัยมงคลแทนสมาชิกรัฐสภา จบแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ  แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

          พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล  กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายชัยมงคลด้วยคำอันเป็นที่น่าจับใจยิ่ง ตอนหนึ่งความว่า

          “เมื่อ ๒๕ ปีโพ้น  ต่อหน้ามหาสมาคมกอปรด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี  พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่  และข้าราชการผู้ใหญ่  พระราชาพระองค์หนึ่งตรัสมีความโดยสังเขปว่า  ‘ข้าพเจ้าขอขอบใจที่ได้มอบราชสมบัติให้  ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ  และเพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างเต็มความสามารถขอให้ท่านจงร่วมกันทำดังกล่าว’  แล้วก็เสด็จก้าวไปจากมหาสมาคมนั้น ครั้นแล้วก็ทรงหันกลับมาใหม่  แล้วตรัสอย่างหนักแน่นว่า  ‘และด้วยใจสุจริต’  พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นคือ  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดวงมณี  ดวงประทีป  และดวงใจของมวลชนชาวไทย  พระราชกระแสรับสั่งและสีพระพักตร์ตอนที่รับสั่งนั้น เป็นที่ซาบซึ้งจับจิตและตื้นตันใจต่อผู้ที่มีวาสนาได้เห็นได้ฟังอย่างยากยิ่งที่จะพรรณนาให้ถูกต้องได้ เพราะว่าประการแรก ขณะนั้นทรงมีพระชนม์เพียง ๑๘  พรรษา อีกทั้งขณะนั้นเป็นยามที่ตื่นตระหนก และยามเศร้าหมองอย่างสุดที่พระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดจะพึงเผชิญในชีวิต อีกทั้ง เป็นกาลเวลาที่บ้านเมืองกำลังปั่นป่วนมิอาจที่จะทรงทราบหรือทรงเดาได้ว่า เหตุการณ์ภายในประเทศต่อไปแม้เพียงในชั่วโมงข้างหน้า  วันข้างหน้า จะเป็นอย่างไรประการที่สอง พระราชกระแสและพระสุรเสียงตลอดจนสีพระพักตร์ในขณะรับสั่งนั้น แสดงถึงความจริงจัง  ความแน่ชัด  และความเด็ดขาด เห็นได้ชัดว่า เป็นพระราชกระแสรับสั่งที่มาจากเบื้องลึกสุดของพระราชหฤทัย จึงเป็นพระราชปฏิญาณที่แน่นอนและเด่นชัด และเห็นได้ว่า เป็นพระราชดำรัสที่รับสั่งโดยมิได้ทรงตระเตรียม แต่ง หรือเขียนไว้ก่อน จึงไม่มีผู้ใดได้เตรียมบันทึกพระราชกระแสนั้นไว้...”

           ส่วนงานเฉลิมฉลองอันเนื่องมาจากพระราชพิธีดังกล่าวที่สำคัญ คือ การสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ในวันที่  ๘  มิถุนายน  พุทธศักราช ๒๕๑๔  ณ  ถนนราชดำเนินกรุงเทพมหานคร  โดยจัดกำลังทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ เพื่อให้เหล่าทหาร  ตำรวจ  และอาสาสมัครพลเรือน  ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีและเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความพร้อมเพรียงความเข้มแข็งในแสนยานุภาพแห่งกำลังกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้นำกองทัพไทย

           อีกงานหนึ่ง  คือ งานสโมสรสันนิบาตเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ณ  ทำเนียบรัฐบาล  ในวันที่  ๑๐  มิถุนายน  พุทธศักราช  ๒๕๑๔  โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ

          ส่วนวัตถุอนุสรณ์ที่สำคัญ คือ เหรียญรัชดาภิเษก เช่นเดียวกับที่เคยทำในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้ประดับร่วมกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ นอกจากนั้น ยังมีเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกครองราชย์ครบ  ๒๕  ปี  เป็นเหรียญชุดมี  ๓  ราคา  อนุสรณ์สถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนรัชดาภิเษก ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวม ๙ โรง  และถนนรัชดาภิเษกในกรุงเทพมหานคร เป็นถนนวงแหวนรอบเมืองชั้นกลาง เพื่อให้รถจากต่างจังหวัดสามารถผ่านกรุงเทพมหานครได้โดยไม่ต้องเข้ามาในกลางเมือง

          แม้พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช  ๒๕๑๔ จะผ่านไปอย่างเรียบง่ายและประหยัดแล้วก็ตาม แต่ทุกปีในรัชกาลที่ผ่านไป ประชาชนชาวไทยก็ได้ประจักษ์และตระหนักซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวไทย  ด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้า  ยากยิ่งที่สามัญชนผู้ใดจะประพฤติปฏิบัติเทียบเท่าได้  ดังนั้น  ปวงอาณาประชาราษฎร์จึงมีความจงรักภักดีในพระองค์ท่านอย่างยิ่งใหญ่มากล้น  เหนือประชาชนของประเทศใดในโลกนี้จะมีต่อพระประมุขของเขา  ทุกคนจึงพร้อมใจกันเป็นสมานฉันท์ที่จะขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้อภิบาลให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระเกษมสำราญผ่านพ้นพระโรคาพยาธิ  มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน  เป็นฉัตรแก้วคุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมราษฎรของพระองค์ตลอดกาลนาน

พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ หมายถึง, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ คือ, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ ความหมาย, พระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu