พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙
พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ หมายถึง, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ คือ, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ ความหมาย, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ คืออะไร
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาแต่โบราณกาล พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ตามประเพณีนิยมของชาวไทย เมื่อชายไทยอายุครบกำหนดบวช ก็มักจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และอบรมบ่มนิสัยให้เป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดี ตลอดจนได้รับการถ่ายทอดการฝึกกิริยามารยาทและระเบียบพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งยังถือว่าเป็นการสนองพระคุณบุรพการี มีบิดามารดาเป็นต้น ดังนั้นจึงปรากฏหลักฐานว่า พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ก่อนครองราชสมบัติ ทรงพระผนวชตั้งแต่พระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา แต่ที่ทรงพระผนวชเมื่อทรงดำรงสรราชสมบัติแล้วมีเพียง ๔ พระองค์ คือ พญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่ง กรุงศรีอยุธยา พระบาทสม เด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ จึงเป็นที่ปลื้มปิติยินดีแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะได้ทรงพระผนวชในพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานแล้ว เพราะทรงพระราชดำริว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติที่ประชาชนส่วนใหญ่ของพระองค์เลื่อมใส ต่อมาเมื่อทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและแนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ก็มีพระราชศรัทธายิ่งขึ้นเพราะได้ทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบด้วยเหตุผลและสัจธรรม ต่อมาระหว่างศก ๒๔๙๙ นี้ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่พระองค์ทรงนิยมนับถือโดยวิสาสะอันสนิท และทรงถือว่ามีคุณูปการต่อพระองค์มามากนั้น ได้ประชวรลง พระอาการเป็นที่น่าวิตกจนแทบไม่มีหวัง แต่เดชะบุญ หายประชวรมาได้อย่างน่าประหลาด จึงทรงพระราชดำริว่า ถ้าได้ทรงพระผนวชโดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ในอันที่จะทรงแสดงพระราชคารวะและพระราชศรัทธาโนพระองค์ท่านเป็นอย่างดี จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงพระผนวช เพื่ออุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณภายในศกนี้
จากนั้น มีพระราชดำรัสให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงแจ้งพระราชประสงค์ให้ทราบเป็นการหารือ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลแสดงความโสมนัส ขอรับพระราชภาระในการนี้ ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย พร้อมทั้งอัญเชิญกระแสพระราชดำริไปหารือกับสมาชิกรัฐสภา เพื่อที่จะทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างทรงพระผนวช
วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูตมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูริยพิมานเป็นมหาสมาคม เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช เช่นเดียวกับที่สามัญชนบอกลาบวชแก่ผู้ที่เคารพนับถือและผู้ที่คุ้นเคยจากนั้น ได้เสด็จสู่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเพื่อทรงแถลงพระราชดำริแก่ประชาชนชาวไทย
วันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นวันพระราชพิธีทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ฯ มีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ สมเด็จพระวนรัตน์ (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอนุศาสนาจารย์ และพระศาสนโสภณ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระสงฆ์นั่งหัตถบาส รวม ๓๐ รูป ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “ภูมิพโล”
เมื่อเสร็จพระราชพิธีทรงพระผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระผนวชอันขานพระนามตามหมายของสำนักพระราชวังว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวังทรงประกอบพระราชพิธีตามราชประเพณีครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช มีพระเถระฝ่ายธรรมยุตนั่งหัตถบาส ๑๕ รูป เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราชพระราชอุปัธยาจารย์ สู่วัดบวรนิเวศวิหารประทับ ณ พระตำหนักทรงพรตเป็นเวลา ๑๕ วัน ในวันนี้ ประชาชนชาวไทยจำนวนมากมายประมาณมิได้ ได้พากันมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนิน ทั้งเส้นทางมาพระบรมมหาราชวัง และเส้นทางไปสู่วัดบวรนิเวศวิหาร ทุกคนได้แสดงออกซึ่งความปิติโสมนัสอนุโมทนาชื่นชมในพระบุญญาธิการอย่างเห็นได้ชัดเจน
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสมณเพศ ได้ทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเช่นเดียวกับพระภิกษุทั่วไป โดยเวลา ๐๘.๐๐ น. เสด็จพระราชดำเนินลงพระอโบสถและเสด็จลงทำวัตรเย็นอีกครั้งหนึ่ง ทรงสดับพระวินัย และพระธรรมที่พระเถระในวัดได้ผลัดเปลี่ยนกันแสดง นอกจากนั้น ยังได้ทรงร่วมกฐินกรรมในพระราชพิธีพระกฐินหลวง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนิน และทรงชักผ้าป่าที่ไวยาวัจกรจัดถวาย
พระราชกิจสำคัญอีกประการ คือ เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเพื่อทรงมนัสการพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์พระองค์แรกที่ทรงผนวชจนทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินราชในพระอุโบสถ และทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช เสด็จพระราชดำเนินไปวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อทรงสักการะพระอัฐิพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังอนุสรณ์รังษีวัฒนา ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชชนกกรมหลวงสงขลานครินทร์ และเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
กิจสำคัญของพระภิกษุประการหนึ่งคือการออกรับบิณฑบาตจากประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้บำเพ็ญบุญในการทรงพระผนวชนี้ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อทรงรับบิณฑบาตโปรดพระบรมวงศานุวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อโปรดคณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
เช้าวันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นวันที่ ๑๔ แห่งการทรงพระผนวช ได้เสด็จพระราชดำเนินออกบิณฑบาตโดยไม่มีหมายกำหนดการ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนสายบางลำพู แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับรถวิทยุ อ.ส. (ก.ท. ส่วนพระองค์) ที่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ออกไปทางสะพานเฉลิมวันชาติ ผ่านหน้าวังสวนกุหลาบ ถนนราชวิถี ถนนพระรามที่ ๖ อ้อมไปทางสะพานควาย กลับมาทางถนนพหลโยธินและถนนพญาไท ทรงแวะรับบิณฑบาตที่บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ผู้ที่ออกมาตักบาตรเป็นปกติ ทั้งคนไทยและคนจีนที่ได้มีโอกาสถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงรู้สึกตื่นเต้นที่มีบุญอย่างยิ่งโดยมิได้คาดฝัน และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงวัดบวรนิเวศวิหาร มีคนมาถวายอาหารหน้าวัดอีก ๕-๗ ราย ซึ่งจะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ต่อไปว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระผนวชได้เสด็จพระราชดำเนินออกทรงรับบิณฑบาตจากประชาชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำพระราชพิธีลาพระผนวช ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ เวลา ๑๐.๑๕ น. เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่ทรงพระผนวชในขณะดำรงสิริราชสมบัติเป็นการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพุทธศาสนิกชนอย่างสมบูรณ์ เป็นการสนองพระเดชพระคุณพระบรมราชบุรพการี และยังเป็นการสืบทอดราชประเพณีจากสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช และที่สุด เป็นพระราชกรณียกิจที่บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวไทยชื่นชมและทวีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตราบเท่ากาลนาน
พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ หมายถึง, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ คือ, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ ความหมาย, พระราชพิธีทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!