ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระบรมราชจักรีวงศ์, พระบรมราชจักรีวงศ์ หมายถึง, พระบรมราชจักรีวงศ์ คือ, พระบรมราชจักรีวงศ์ ความหมาย, พระบรมราชจักรีวงศ์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระบรมราชจักรีวงศ์

          ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บ้านเมืองมีความระส่ำระสาย และเกิดจลาจลขึ้น พระยาสรรค์กับพวกเข้าควบคุมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นำไปกักขังไว้ในพระอุโบสถวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)  ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงตำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (หรือบางแห่งเรียกว่าพระเจ้ากษัตริย์ศึกบ้าง เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกบ้าง) กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เสด็จยกกองทัพไปปราบจลาจลที่ประเทศกัมพูชาดังนั้น ในกรุงธนบุรีจึงขาดผู้มีกำลังและความสามารถอันเป็นหลักที่พึ่งของบ้านเมือง เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทราบเหตุจลาจล จึงรีบเลิกทัพกลับเข้ามายังกรุงธนบุรี เมื่อเสด็จถึง ข้าราชการสมณชีพราหมณ์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ต่างก็ชื่นชมยินดี พากันออกไปต้อนรับและอัญเชิญเข้าในพระราชวัง และกราบทูลเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปกครองแผ่นดิน เพื่อให้เป็นร่มโพธิ์คุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชนสืบไปเมื่อพระองค์ทรงรับอาราธนาแล้ว ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๖  เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ ขณะพระชนมพรรษาได้ ๔๖ พรรษาเศษ และสถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นใหม่ คือ  “พระราชวงศ์จักรี” นับเป็นพระราชวงศ์กษัตริย์ลำดับที่ ๘  ของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี

          บรรพบุรุษแห่งพระราชวงศ์จักรีนี้สืบทอดมาจากนายทหารมอญ ที่ได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในครั้งที่ทรงประกาศอิสรภาพเมื่อ พุทธศักราช ๒๑๒๗ แต่เรื่องราวหลังจากนั้นขาดช่วงหายไป และมาปรากฏอีกครั้งหนึ่ง คือ  พระวิสุทสุนทร (ปาน) ราชทูตไทยที่ออกไปเจริญพระราชไมตรีกับราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศสซึ่งพระวิสุทสุนทรมีเชื้อสายเกี่ยวเนื่องอยู่ทั้งในราชตระกูลแห่งพระราชวงศ์สมเด็จพระมหาธรรราชาธิราช  คือ  พระราชวงศ์สุโขทัยและพระราชวงศ์อยุธยาเก่า  ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาจึงได้รับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง เรียกกันว่าเจ้าพระยาโกษา (ปาน)  ท่านผู้นี้มีบุตรชายสืบสกุลโดยตรงต่อลงมาอีกสามชั้นบุรุษ จนถึงชั้นที่ ๔ มีนามว่า ท่านทองตี  หรือสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

          อันนามพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น ได้สันนิษฐานกันว่า อาจมาจากตำแหน่งพระยาจักรีแห่งชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเคยทรงดำรงมาแต่ก่อน หรือตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงครองอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อทรงใช้เป็นพระนามพระราชวงศ์แล้วไม่ปรากฏว่า ได้พระราชทานนามตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีนี้ให้แก่ขุนนางผู้ใดอีกเลย

          การเริ่มก่อสร้างพระนครขึ้นใหม่ในขณะนั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะบ้านเมืองยังบอบช้ำ ยากจนขาดแคลนทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ เมื่อทรงปราบดาภิเษกแล้ว มีพระราชดำริให้ย้ายข้ามมาสร้างพระนครขึ้นใหม่ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ด้วยทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเดิม มีลำแม่น้ำใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตกเละด้านใต้ ไม่เป็นเมืองอกแตกที่มีลำน้ำผ่านกลางเมืองอย่างเมืองพิษณุโลก หรือกรุงธนบุรี  ซึ่งหากมีศึกสงครามจะทำให้ป้องกันยาก นอกจากนี้ ทางฝั่งตะวันออกยังสามารถขยายพระราชวัง และขยายเมืองออกไปได้ง่ายกว่ากรุงธนบุรี

          ภายหลังจากที่ทรงประดิษฐานพระราชวงศ์ขึ้นแล้ว จึงทรงสถาปนาพระยศเจ้านายในพระราชวงศ์  ขุนนาง  ข้าราชการทั้งวังหลวงและวังหน้า  ตลอดจนพระเถรานุเถระเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นกำลังในการปกป้องและกอบกู้บ้านเมือง ตลอดจนฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

          พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  อาจแบ่งได้เป็น  ๒  ฝ่าย คือ
          ๑.  ฝ่ายพระราชอาณาจักร
          ๒.  ฝ่ายพุทธจักร

          ฝ่ายพระราชอาณาจักร
          ๑.  ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้พวกเราชาวไทยได้อยู่กันด้วยความสงบสุขมาจนทุกวันนี้ นับเป็นเวลานานถึง ๒๑๔ ปี ในปีกาญจนาภิเษกนี้
          ๒.  ได้ทรงกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวไทยให้คงคืนดังเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง โดยทรงงานพระราชสงครามปกป้องการรุกรานจากอริราชศัตรูถึง ๗ ครั้ง ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นเมืองที่ถูกทำลายล้างโดยสิ้นเชิงดังเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่กลับรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคงยืนยาวได้ต่อมาตลอดจนขยายพระราชอาณาเขตของประเทศไทยออกไปอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังจะเห็นว่า ทิศเหนือตลอดถึงเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้ง เมืองลื้อเมืองสิบสองปันนา และเมืองหลวงพระบาง ทิศตะวันออกสุดเขตแดนประเทศกัมพูชาออกไปจนถึงเขตแดนประเทศเวียดนาม ทิศตะวันตกจรดเขตแดนพม่า และทิศใต้จรดเมืองไทรบุรีประเทศมาเลเซีย
          ๓. โปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระราชกำหนดกฎหมายให้ถูกต้องบริบูรณ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยโปรดให้ประทับตราพระราชสีห์ของเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก และตราพระคชสีห์ของเจ้าพระยากลาโหม กับตราบัวแก้วของเจ้าพระยาพระคลัง ในพระราชกำหนดกฎหมายนั้น ซึ่งคนรุ่นต่อมาเรียกกันว่า “กฎหมายตราสามดวง”
          ๔. โปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ เพื่อให้เป็นหลักฐานเละเกียรติยศอันสำคัญของบ้านเมืองที่มีอดีตผ่านมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ ยังได้ทรงฟื้นฟูศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรมด้านต่างๆ

          ฝ่ายพุทธจักร
          ๑. ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ในเมืองต่างๆ หลายแห่ง และเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวพุทธทั้งปวง จากเมืองเวียงจันทน์มาประดิษฐาน ณ กรุงเทพมหานคร
         ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตนี้เคยประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยมาก่อน และได้ไปประดิษฐานในเมืองต่างๆ หลายแห่ง อาทิ  เมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงราย เมืองนครลำปางเมืองนครเชียงใหม่ และเมืองเวียงจันทน์ จวบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเป็นจอมทัพขึ้นไปปราบเจ้าบุญสารเมืองเวียงจันทน์ จนได้รับชัยชนะ จึงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาสู่กรุงธนบุรีเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๒ และต่อมาเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ชาวไทยได้สักการะบูชามาจนทุกวันนี้ และมหาชนคนไทยมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยพระเดชานุภาพของพระแก้วมรกต มักบันดาลให้ประเทศไทยรอดพ้นจากเหตุการณ์ร้ายมาตลอดทุกยุคสมัยพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนี้  ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่พระบารมีของพระราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด
          ๒. ได้ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านศาสนวัตถุและพระธรรมวินัย ซึ่งบกพร่องและเสื่อมทรามไปตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าครั้งที่ ๒ ให้กลับเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมพระสงฆ์ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้ถูกต้อง สำหรับใช้เป็นหลักฐานในการศึกษา และอบรมสั่งสอนขุนนางข้าราชการ  อาณาประชาราษฎร์ ให้ดำเนินชีวิตถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ตลอดจนทรงซ่อมสร้างวัดวาอารามหลายแห่งขึ้นไว้ตามกำลังของบ้านเมืองโนขณะนั้น

          พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีแต่ละพระองค์ ทรงบริหารราชการแผ่นดินให้เจริญรุ่งเรืองด้วยพระราชปณิธานที่แตกต่างกันออกไปบ้าง คือ

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานอันเป็นแนวปฏิบัติของพระองค์ และสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีพระองค์ต่อ ๆ มาด้วยว่า
          “ตั้งใจจะอุปถัมภก
           ยอยกพระพุทธศาสนา
           จะป้องกันขอบขันฑสีมา
           รักษาประชาชนแลมนตรี”
ทรงปกป้องพระราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการรุกรานของอริราชศัตรู ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร  ตลอดจนฟื้นฟูบ้านเมืองและการพระศาสนา นิติราชประเพณี ให้สถิตสถาวรมาจนทุกวันนี้

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงตั้งพระราชปณิธานว่า
          “เหมือนเขาเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก
            แต่น้ำผักต้มขมก็ชมหวาน
           ถึงยามชืดจืดกร่อยทั้งอ้อยตาล
           เคยโปรดปรานเปรี้ยวเค็มรู้เต็มใจ”
ทรงเร่งฟื้นฟูงานด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมไทย ให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงที่สุดทัดเทียมกับครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนทรงบูรณะและก่อสร้างวัดวาอารามหลายแห่ง

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงกำหนดพระราชปณิธานว่า
          “การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้
การงานสิ่งใดของเขาที่ควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา  แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
          ทรงมุ่งเน้นสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชาติและประชาชน โดยประกอบการพาณิชย์กับชาติต่างๆ  ป้องกันพระราชอาณาจักรจากอริราชศัตรู โดยทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทรงรู้ทันเหตุการณ์โลกกับทรงเป็นผู้ชักนำเจ้านายในพระราชวงศ์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน

           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานว่า
           “ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปภายหน้าขอให้พร้อมใจกันเลือกหาเอาเถิด  จะเป็นพี่เป็นน้องเป็นลูกเป็นหลานก็ตาม สุดแต่ว่าท่านผู้ใดจะมีปรีชาญาณควรจะรักษาแผ่นดินไว้ได้ก็ให้ยกขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน จะได้ทำนุบำรุงแผนดิน พระราชวงศ์
และราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป ขอให้เอาความดีความเจริญเป็นที่ตั้ง แต่ต้องรับฎีการ้องทุกข์ของราษฎรเหมือนอย่างที่ฉันรับมาก่อน”
           สรุป ทรงเจริญวิเทโศบายไปในโลกกว้างเพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ ทรงนำวิทยาการสมัยใหม่ของโลกทางตะวันตกเข้ามาใช้ในบ้านเมือง และปกป้องมิให้ผู้มีอำนาจปกครองกระทำการกดขี่ข่มเหงไพร่ฟ้าประชาชน

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงตั้งพระราชปณิธานว่า
          “ความเชื่อมั่นในใจเรามีอยู่เป็นนิตย์ว่าพระราชอาณาจักรนี้ได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก็ดีแลที่เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ในภายหน้าก็ดี อาศัยความรักใคร่ไมตรีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับประชาชน เป็นกำลังอันสำคัญของบ้านเมือง”
          ทรงปรับปรุง และปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองให้ทันสมัยในทุกๆ ด้าน  โดยทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากจตุสดมภ์ ซึ่งใช้มานานกว่า ๔ ศตวรรษ  ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงรัชสมัยของพระองค์ มาเป็นระบบบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบของกระทรวงเสนาบดี ทรงปรับปรุงกิจการทหารให้ทันสมัยในทุก  ๆ  ด้าน  โดยทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากจตุสดมภ์  ซึ่งใช้มานานกว่า ๔ ศตวรรษ  ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงรัชสมัยของพระองค์ มาเป็นระบบบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบของกระทรวงเสนาบดี ทรงปรับปรุงกิจการทหารให้ทันสมัย ในด้านสังคม ทรงยกเลิกการหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้าฯ ทรงให้เลิกทาส  ทรงปรับปรุงกฎหมายและการศาลที่ล้าหลัง ทรงจัดวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบ้านเมือง เช่น ประปา ไฟฟ้า ถนน ไปรษณีย์โทรเลข  รถไฟ  และการสาธารณสุข  ทรงเป็นผู้นำในการเสด็จประพาสประเทศในแถบทวีปยุโรป  เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศไทยมากขึ้น  ทรงเน้นสามัคคีธรรมของบุคคลในชาติ  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยจนได้รับพระราชสมัญญานามตั้งแต่ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพว่า  “พระปิยมหาราช”

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงตั้งพระราชปณิธานอันแน่วแน่ว่า
          “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมแก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
          สรุป  ทรงมอบแก่นแท้หรือวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทยโดยทรงยินยอมเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงตั้งพระราชปณิธานว่า
          “ข้าพเจ้ายินดีมากที่ได้กลับมาเยี่ยมเมืองไทย  ซึ่งข้าพเจ้ารักและคิดถึงอยู่เสมอ ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลาย ที่ได้มาต้อนรับข้าพเจ้าและขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้รัฐธรรมนูญทั่วถึงกัน”
          ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจให้ประชาชนชาวไทยมีความสมัครสมานสามัคคีปรองดองกัน ในขณะที่ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ และแม้แต่ภายหลังที่สงครามโลกยุติลงในฐานะองค์พระประมุขของรัฐ ได้ทรงรักษาศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของประเทศไว้ได้โดยมิให้ตกต่ำลงและทรงบำรุงขวัญของประชาชนทุกหมู่เหล่ามิให้เสื่อมเสียไปตามผลของสงครามโลกที่ยุติลง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  ทรงตั้งพระราชปณิธานว่า
          “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
          พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่นับว่าโดดเด่นที่สุด  มีพระเกียรติยศแผ่ไพศาลไปทั่วโลกทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนของพระองค์มากที่สุด จึงทำให้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

          ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าแต่ละพระองค์จะมีพระราชปณิธานประการใดก็ตาม แต่โดยรวมแล้วก็จะทรงเห็นแก่ความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์และความมั่นคงก้าวหน้าของประเทศชาติเป็นที่ตั้งเท่านั้น และทรงประพฤติพระราชจรรยาของพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ ทศพิธราชธรรม สังคหวัตกุและจักรวรรดิวัตร อันเป็นเครื่องให้พระบรมราชจักรีวงศ์สถิตสลาพร ยิ่งกว่าพระบรมราชวงศ์อื่นใดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย  ทรงโอบอ้อมอารีปราศจากการอาฆาตจองเวรและริษยา ทรงยึดมั่นมิให้ผู้เป็นใหญ่กดขี่ข่มเหงผู้น้อย เลิกการประหัตประหารยื้อแย่งราชสมบัติ  อันจะเป็นเหตุให้พระราชวงศ์มัวหมอง และท้ายที่สุดทรงสมัครสมานพระบรมวงศานุวงศ์  ตลอดจนข้าราชการให้กลมเกลียวอยู่ในสามัคคีธรรมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

         นอกจากพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์จะทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองแล้ว  พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์  ก็ทรงมีส่วนร่วมในการรับสนองพระบรมราชโองการมาพัฒนาบ้านเมืองบ้าง ทรงร่วมกันรักษาเอกราชและอธิปไตยเป็นอย่างมากด้วยโดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ก็ได้อาศัยพระสติปัญญาของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และพระองค์อื่นๆ

        พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงดำเนินพระราชจรรยาอย่างงดงามมาโดยตลอดจึงทำให้พระราชวงศ์นี้มี “มหาราช”  ซึ่งเป็นที่ยอมรับของพสกนิกรถึง  ๓  พระองค์ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ
        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

         นอกจากนี้  สิ่งหนึ่งอันเป็นเครื่องแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ก็คือ สัญลักษณ์ตรารูปจักร และรูปตรี แม้ว่าพระราชลัญจกรประจำรัชกาลจะเปลี่ยนไป แต่สัญลักษณ์ตรารูปจักรและรูปตรีนั้นยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  ด้วยเป็นตราสำหรับพระบรมราชวงศ์ซึ่งปกครองแผ่นดินไทยโดยเฉพาะ

         ดังนี้อาจเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ล้วนแต่ทรงดำรงพระองค์ในฐานะประมุขของรัฐ  ที่ทรงสามารถปรับ เปลย่นเข้ากับ กระแสโลกและเหตุการณ์บ้านเมืองได้ทุกยุคทุกสมัย ยามใดที่บ้านเมืองต้องเผชิญกับพฤติการณ์ต่างๆ ทุกพระองค์ก็จะทรงเห็นแก่ประเทศชาติยิ่งกว่าประโยชน์สุขของพระองค์เอง ดังที่ปรากฏมาแล้วในอดีต เนื่องจากทุกพระองค์ทรงเคร่งครัดยึดมั่นในราชนิติมาโดยตลอด จึงนับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระราชวงศ์จักรีดำรงมั่นยืนนานกว่าพระราชวงศ์ทั้งหลายในประวัติศาสตร์ชาติไทยและมีราชสกุลแผ่ไพศาลอยู่ในปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น  ๑๓๑  มหาสาขา  สมาชิกในราชสกุลทุกมหาสาขาล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวงศ์  ในขณะเดียวกันพระราชวงศ์ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์  ดังนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลจึงทรงเป็นประมุข หรือประธานของพระราชวงศ์ตลอดมาตามลำดับกัน

พระบรมราชจักรีวงศ์, พระบรมราชจักรีวงศ์ หมายถึง, พระบรมราชจักรีวงศ์ คือ, พระบรมราชจักรีวงศ์ ความหมาย, พระบรมราชจักรีวงศ์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu