หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง
หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง หมายถึง, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง คือ, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง ความหมาย, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง คืออะไร
ในการปลูกไม้ดอกประดับแปลงเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้สวยงามนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ ชนิดและพันธุ์ไม้ดอก การเตรียมต้นพันธุ์ และการเพาะพันธุ์
ก. วัสดุเพาะ ในต่างประเทศนิยมใช้พีตและเวอร์มิคิวไลต์ ส่วนในประเทศไทยมักจะเพาะในดิน แต่มักเกิดปัญหาต้นกล้าเป็นโรค เนื่องจากมีเชื้อโรคตกค้างอยู่ในดิน จึงควรเพาะในวัสดุที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค อีกทั้งไม่เป็นกรดเป็นด่างจัด มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี ในขณะเดียวกันก็กักเก็บความชื้นได้ดีด้วย ซึ่งจะหาวัสดุที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนได้ยากมาก จากการทดลองพบว่า ทรายก่อสร้างที่ร่อนเอากรวดหินออกแล้ว ผสมกับขุยมะพร้าวที่ได้จากเส้นใยของกาบมะพร้าวที่ใช้ประโยชน์แล้ว ในอัตราส่วน ๑ : ๑ และ ๑ : ๒ จะเหมาะสำหรับเมล็ดไม้ดอกทั่วๆ ไปที่มีขนาดไม่เล็กนัก หรือเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ หากเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก ดังเช่น เมล็ดบีโกเนีย และพิทูเนีย ควรเพาะในใบก้ามปูหมักที่ร่อนแล้ว ผสมกับทรายในอัตราส่วน ๒ : ๑ แทน
ข. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะ ควรเพาะในตะกร้าพลาสติกขนาด ๓๐ x ๔๕ เซนติเมตรโดยประมาณ จะสะดวกและปลอดภัยกว่าเพาะลงบนพื้นดินโดยตรง ทั้งนี้เพราะสะดวกในการเตรียมวัสดุและเตรียมการเพาะ อีกทั้งทำการเพาะได้ประณีตกว่า ดูแลได้ทั่วถึงการป้องกันมดแมลงตลอดจนศัตรูอื่น เช่น จิ้งหรีด ทำได้ง่ายกว่า สามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ ตลอดจนแสงได้ตามความเหมาะสม เพราะสามารถย้ายตะกร้าไปมาได้ เมื่อเมล็ดงอกแล้วสามารถย้ายไปไว้ในที่ที่เหมาะสมได้ง่าย และยังหนีภัยธรรมชาติได้ด้วย แม้จะทำงานขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม เช่น ต้องการเตรียมต้นกล้าเป็นหมื่นเป็นแสนต้น ก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะตะกร้าขนาด ๓๐ x ๔๕ เซนติเมตร สามารถเพาะเมล็ดได้ถึง ๕๐๐ - ๒,๐๐๐ เมล็ด ถ้าเมล็ดมีอัตราการงอกร้อยละ ๘๐ จะใช้ตะกร้าในการเพาะเมล็ดจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ เมล็ด เพื่อให้ได้จำนวนต้น ๑๐๐,๐๐๐ ต้น เพียง ๕๐ - ๒๕๐ ตะกร้าเท่านั้น หากวางตะกร้าบนกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด ๑.๒๐ x ๒.๔๐ ตารางเมตร จะใช้กระเบื้องเพียง ๒ - ๑๒ แผ่น ทั้งนี้เพราะกระเบื้อง ๑ แผ่น รองรับตะกร้าได้ถึง ๒๔ ใบ
ค. วิธีการเพาะ ให้กรุตะกร้าพลาสติกด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ก้นและด้านข้างของตะกร้า แล้วบรรจุวัสดุเพาะที่มีความชื้นพอเหมาะไม่ถึงกับแฉะ ลงไปในตะกร้าอย่างหลวมๆ ให้สูงจากก้นตะกร้าประมาณ ๘ เซนติเมตร เกลี่ยผิวหน้าวัสดุให้เรียบเสมอกันโดยตลอด แล้วใช้สันไม้หนาประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร กดลงบนวัสดุเพาะเบาๆ เพื่อทำร่องสำหรับหยอดเมล็ด แต่ละร่องห่างกันประมาณ ๒ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร ถ้าทำร่องตามทางยาวของตะกร้าจะได้ประมาณ ๑๑-๑๒ แถวต่อ ๑ ตะกร้า
การหยอดเมล็ดลงในร่องนั้น หากยังไม่ชำนาญควรฝึกทำก่อน โดยใช้ทรายละเอียดแทนเมล็ดจริง ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีการทำไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ควรหยอดให้แต่ละเมล็ดกระจายอย่างสม่ำเสมอในแต่ละร่อง กลบร่องด้วยวัสดุเพาะให้เต็ม แล้วใช้แท่งไม้หน้าเรียบลักษณะคล้ายแปลงลบกระดาน ตบบนผิววัสดุเพาะเบาๆ เพื่อให้วัสดุเพาะกระชับกับเมล็ด และทำให้ผิวหน้าวัสดุเรียบ ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ให้พอดีกับตะกร้า ปิดทับลงบนผิวหน้าวัสดุให้มิดพอดีๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำชนิดฝอย คะเนให้น้ำซึมลงไปในวัสดุเพาะมากพอ แล้วนำกระบะเพาะไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยจากสัตว์เลี้ยงและแมลงศัตรูพืช อาจวางบนร้าน หรือยกพื้นกลางแดด หลังจากนั้นรดน้ำเช้า-บ่าย วันละ ๒ เวลา เมล็ดส่วนใหญ่จะงอกภายใน ๓-๕ วัน ดังนั้นก่อนรดน้ำในตอนเช้าของวันที่ ๔ และ ๕ ควรตรวจสอบความงอก โดยการเปิดกระดาษออกดู ถ้าเมล็ดงอกในปริมาณที่มากพอใกล้เคียงกับอัตราการงอกที่กำหนดไว้ ต้องเปิดกระดาษออกทันที ถ้าวางกระบะเพาะไว้ภายในอาคาร ควรจัดให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดในช่วงเช้า และงดน้ำ ๑-๒ วัน เป็นการบังคับให้รากหยั่งลึกลงไปหาน้ำในระดับล่างของวัสดุเพาะ ทำให้รากของต้นกล้าเจริญเติบโตดี มีปริมาณรากมาก และแข็งแรงด้วย แต่ถ้าเป็นการเพาะเมล็ดในที่โล่งแจ้งกลางแดดอยู่แล้ว เมื่อเมล็ดงอกและเปิดกระดาษออกแล้ว ต้นกล้าจะได้รับแสงแดดเต็มที่โดยไม่แสดงอาการเหี่ยวเฉา หากต้นกล้าแสดงอาการเหี่ยว ไม่ควรงดน้ำ
วิธีการเพาะเมล็ดดังที่กล่าวมานี้ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดหากได้ลงมือปฏิบัติ และประสบปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการเพาะที่ดีและเหมาะสมย่อมแตกต่างกันได้ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเพาะเมล็ดโดยการทำร่องเป็นแถวๆ แทนการหว่านเมล็ดไปทั่วทั้งตะกร้า จะเป็นการแก้ปัญหาการเน่าของต้นกล้าได้
การเพาะเมล็ดเป็นแถวจะให้ผลดีกว่าการหว่านเมล็ดด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะลดความเสียหายเนื่องจากโรคโคนเน่าของต้นกล้า ทั้งนี้เพราะมีการถ่ายเทอากาศได้ดีกว่า และถ้าเกิดโรคเน่าขึ้น โอกาสที่จะลุกลามติดต่อกันเองเกิดได้ช้าลง ที่สำคัญคือ สะดวกในการย้ายต้นกล้าออกปลูก โดยสามารถย้ายทีละแถว โดยไม่ทำให้รากของต้นกล้าแถวข้างเคียงกระทบกระเทือน อีกทั้งถ้าไม่สามารถย้ายเสร็จทั้งตะกร้าภายในวันเดียวได้ ก็ไม่ทำให้ต้นกล้าที่เหลือเสียหาย
สรุปได้ว่า การเพาะเมล็ดไม้ดอกจะประสบผลสำเร็จเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการคือ
๑. เมล็ดดี เมล็ดที่นำมาเพาะจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ยังมีชีวิตอยู่
- ผ่านพ้นระยะพักตัวแล้ว
- มีความสมบูรณ์ ไม่ลีบ ไม่มีเมล็ดอื่นปะปน
- มีความงอกสม่ำเสมอ อัตราการงอกสูง
- ตรงตามพันธุ์
- งอกได้เร็ว และเจริญเติบโตดี
- ปราศจากโรคและแมลง
๒. วัสดุเพาะดี มีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของวัสดุเพาะ
๓. สภาพแวดล้อมดี คือ มีความชื้น อุณหภูมิ แสง และอากาศเหมาะสม
๔. วิธีการดี ได้กล่าวถึงวิธีการเพาะเมล็ดอย่างละเอียดไว้แล้ว แต่อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดก็ได้ หากลงมือปฏิบัติเอง อาจพบเห็นปัญหามากมายแตกต่างได้อีก โดยวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลย่อมจะแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการที่ดีและเหมาะสมจึงแตกต่างกันไปด้วย
ง. ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในการเพาะเมล็ดไม้ดอก มีดังนี้
๑. เมล็ดงอกน้อย ทั้งที่เมล็ดมีคุณภาพดี และมีอัตราการงอกสูง สาเหตุอาจเนื่องมาจากวัสดุเพาะมีความชื้นไม่เพียงพอ และไม่สม่ำเสมอทั่วกัน โดยเฉพาะในช่วงวันแรกๆ ที่เริ่มเพาะ จึงแนะนำให้รดน้ำจนชุ่ม โดยรด ๒ - ๓ ครั้งในวันแรกที่เพาะ เพื่อให้วัสดุเพาะมีความชุ่มชื้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีภายในเมล็ด และทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัวลง จนต้นอ่อนสามารถงอกออกมาได้ หรืออาจเป็นเพราะเมล็ดเหล่านั้นสูญสิ้นความงอก หรือตายไปแล้วก่อนนำมาเพาะ ซึ่งอาจเกิดจากการเก็บรักษาเมล็ดก่อนการเพาะไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น วางเมล็ดไว้ในรถยนต์ที่ปิดกระจกในระหว่างไปรับประทานอาหารกลางวันเพียง ๑ - ๒ ชั่วโมง ความร้อนภายในรถยนต์อาจสูงพอที่จะฆ่าเมล็ดเหล่านั้นได้ จึงควรตระหนักในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไว้ด้วย
๒. ต้นกล้ายืด เนื่องจากต้นกล้าได้รับแสงไม่เพียงพอ เพราะเปิดกระดาษออกช้า หรือสถานที่เพาะเมล็ดได้รับแสงน้อยไป
๓. ต้นกล้าเน่า สามารถป้องกันได้โดยการเปิดกระดาษออกทันทีหลังจากต้นกล้างอก ให้ได้รับแสงเพียงพอ ต้นกล้าจะไม่ยืดจนล้มในขณะได้รับการรดน้ำ และไม่ควรรดน้ำบ่อยครั้งเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ต้นกล้าบอบช้ำ ซึ่งง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค ควรทิ้งช่วงให้วัสดุเพาะแห้งบ้างพอหมาดๆ แต่อย่าปล่อยให้แห้งจัดจนเกิดรอยแตกแยกของวัสดุเพาะ
๔. ต้นกล้าไม่แกร่ง ทำให้เกิดปัญหาการตายของต้นกล้าหลังจากย้ายปลูก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น ต้นกล้าได้รับแสงน้อยเกินไป รดน้ำมากไป หรือมีการเร่งปุ๋ยไนโตรเจนเกินความจำเป็น ก่อนการย้ายกล้า ๒ - ๓ วัน ควรรดด้วยน้ำผสมปุ๋ยโพแทสเซียมอย่างเจือจาง จะช่วยให้ต้นกล้าแกร่งขึ้น หรืองดน้ำล่วงหน้าการย้าย ๑ วัน หรือฉีดพ่นด้วยสารชะลอการเจริญเติบโตก่อนการย้ายกล้า ๔ - ๕ วัน จะทำให้ต้นกล้าทนการขาดน้ำ และทนแล้งยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ไม่ทำให้ต้นกล้ายืด
ดูเพิ่มเติมเรื่อง ไม้ดอกหอมของไทย เล่ม ๒๒ ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) เล่ม ๒๓ และไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๒) เล่ม ๒๔
หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง หมายถึง, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง คือ, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง ความหมาย, หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!