ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การสหกรณ์, การสหกรณ์ หมายถึง, การสหกรณ์ คือ, การสหกรณ์ ความหมาย, การสหกรณ์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
การสหกรณ์

          ประวัติการสหกรณ์ของไทย
          "สหกรณ์"  เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใช้เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่  ๖ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า cooperation แปลว่า การร่วมกันทำงาน การทำงานด้วยกัน หรือการร่วมมือกัน 
          สหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทย คือ  สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ จดทะเบียนสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม  พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๙ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์ในสมัยแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ขนาดเล็ก และมีวัตถุประสงค์เพื่อความจำเป็นเฉพาะอย่างเพียงอย่างเดียวหรือที่เรียกว่า "สหกรณ์เอกประสงค์" กล่าวคือมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาทุนมาให้สมาชิกกู้ เพื่อนำไปไถ่ถอนหนี้เก่าและใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ โดยมีเพื่อนสมาชิกเป็นหลักประกันร่วมกัน สมาชิกทั้งหมดของสหกรณ์รับผิดชอบหนี้สินของสหกรณ์ร่วมกันอย่างไม่จำกัดจำนวน  โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาล จึงเรียกสหกรณ์ในสมัยแรกๆ นี้อีกอย่างหนึ่งว่า สหกรณ์หาทุน
          การดำเนินงานของสหกรณ์ประสบความสำเร็จ      เป็นประโยชน์แก่ชาวนาที่เป็นสมาชิกรัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ให้เจริญขึ้นจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ ขึ้น 
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช   ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้นำสหกรณ์การเกษตร  สหกรณ์นิคม  และสหกรณ์ประมงทั่วประเทศ  ณ  ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ว่า "...คำว่า สหกรณ์ แปลว่า การทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันลึกซึ้งมาก เพราะว่าจะต้องร่วมมือกันในทุกด้านทั้งในด้านงานการที่ทำด้วยร่างกาย   ทั้งในด้านงานการที่ทำด้วยสมอง และงานการที่ทำด้วยใจทุกอย่างนี้ขาดไม่ได้ ต้องพร้อม..."          สหกรณ์ที่แท้จริงจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักการสหกรณ์ ๖ ประการคือ
          ๑. การเข้าเป็นสมาชิกโดยความสมัครใจ สหกรณ์เป็นองค์การธุรกิจซึ่งต้องการช่วยเหลือคนจึงไม่สร้างข้อกีดกันหรือข้อจำกัดในเรื่องสังคมการเมือง หรือศาสนาของบุคคลมาเป็นเงื่อนไขการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ถ้าหากเขาสามารถดำเนินงานร่วมกัน และใช้บริการของสหกรณ์ได้ โดยสุจริตใจ รวมทั้งยอมรับกติกา กฎเกณฑ์ และความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกด้วยความเต็มใจ สหกรณ์ก็พร้อมที่จะรับเข้าเป็นสมาชิกทั้งสิ้นเพราะสหกรณ์ต้องการรวมคนเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
          ๒. การควบคุมตามแบบประชาธิปไตย สหกรณ์เป็นองค์การที่กลุ่มบุคคลร่วมมือกันจัดตั้งขึ้น  การมีสิทธิในการเป็นเจ้าของกิจการ จึงมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน    ดังนั้นสมาชิกทุกคนจึงมีสิทธิในการเลือกหรือได้รับเลือกเป็นกรรมการเช่นเดียวกัน  และโดยที่สหกรณ์มุ่งหวังที่จะรวมคนมากกว่าการรวมทุน  สหกรณ์จึงถือว่า การมีส่วนร่วมของสมาชิกมีความสำคัญต่อสหกรณ์เท่ากัน การออกเสียงเพื่อการลงมติใดๆ ก็ตาม สมาชิกแต่ละคนจะมีสิทธิในการออกเสียงได้คนละหนึ่งเสียง และมติของที่ประชุมยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่
          ในการบริหารงานสหกรณ์ สมาชิกจะเลือกเพื่อนสมาชิกจำนวนหนึ่งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อให้ทำหน้าที่แทนสมาชิกในฐานะที่สหกรณ์เป็นนิติบุคคล
          ๓. การจ่ายเงินปันผลตามหุ้นในอัตราจำกัด สหกรณ์อาจจ่ายเงินปันผลตามหุ้นให้แก่ สมาชิกได้ในอัตราที่จำกัด โดยถือว่าเป็นเพียงดอกเบี้ยสำหรับเงินที่สมาชิกนำมาลงทุนในสหกรณ์เท่านั้น
          ๔. การจำแนกเงินส่วนเกิน  ธุรกิจต่างๆ ที่สหกรณ์กระทำนั้นเป็นธุรกิจตามความต้องการของสมาชิกที่สหกรณ์จะต้องบริการให้แก่สมาชิก ดังนั้นเมื่อสหกรณ์มีเงินส่วนเกินจากการดำเนินธุรกิจหรือเงินกำไร จึงถือว่า เงินนี้เป็นของบรรดาสมาชิกทั้งสิ้น   เนื่องจากสมาชิกทั้งหลายเป็นเจ้าของสหกรณ์ หากจะมีการจำแนกเงินส่วนเกินนี้ จึงควรต้องตกเป็นของสมาชิก ในวิธีที่จะไม่ทำให้สมาชิกคนหนึ่งคนใดได้เปรียบคนอื่นๆ และการจำแนกเงินส่วนนี้จะต้องเป็นไปตามมติของที่ประชุมสมาชิกสหกรณ์ เช่น จัดสรรไว้เป็นเงินทุนในการดำเนินการต่อไป หรือเป็นทุนสวัสดิการสงเคราะห์ หรือเป็นทุนการศึกษาแก่สมาชิก หรือเป็นเงินทุนเพื่อจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ทั้งเพื่อครอบครัวสมาชิก และเพื่อชุมชน หรือเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกกระทำกับสหกรณ์
          ๕. การส่งเสริมการศึกษา ความสำเร็จของสหกรณ์ขึ้นอยู่กับสมาชิกเป็นอย่างมาก ถ้าสมาชิกได้รับข้อมูลหรือความรู้ตามความเป็นจริงเกี่ยวกับสหกรณ์ของเขาอยู่เสมอ ก็จะเข้าใจและไว้วางใจในการจัดการของสหกรณ์ จึงให้ความร่วมมือทั้งแรงกายและความคิด สหกรณ์จำเป็น    ต้องสนับสนุนให้สมาชิกมีความรู้ในทุกสาขาไม่เพียงแต่เรื่องสหกรณ์เท่านั้น ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพจะก่อให้เกิดการประสานเพื่อความอยู่ดีกินดีของสมาชิก ฝ่ายจัดการของสหกรณ์ก็จำเป็นต้องมีความรอบรู้ในด้านหลักการบริหารธุรกิจ ตลอดจนจะต้องรอบรู้ถึงหลักการและวิธีการสหกรณ์  และการประกอบอาชีพของสมาชิกด้วย เพื่อที่จะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
          ๖. ความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ สหกรณ์ทุกแห่งควรจะมีความร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างแข็งขัน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งอุดมการณ์ของความอยู่ดีกินดีและมีสันติสุข  โดยมีองค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศเป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือกันระหว่างประเทศ  ทั้งนี้เนื่องจากเกือบทุกประเทศทั่วโลก ได้ยอมรับว่าสหกรณ์เป็นวิธีการทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

การสหกรณ์, การสหกรณ์ หมายถึง, การสหกรณ์ คือ, การสหกรณ์ ความหมาย, การสหกรณ์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu