สัตว์เลี้ยงที่ถือว่ามีความสำคัญและสามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกร คือ
สัตว์ปีกที่มีการเลี้ยงกันในแง่ของการค้าคือ
๑. ไก่
๒. เป็ด
๓. ห่าน
๔. ไก่งวง
๕. นกกระทา
๑. ไก่ ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงในบ้านรา เป็นไก่ที่เจริญเติบโตช้า ให้ไข่น้อย และมีลำตัวค่อนข้างเล็ก แต่มีความทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี
ปัจจุบันมีผู้นำไก่จากต่างประเทศมาเลี้ยงในรูปของการค้ากันมาก จนถึงกับมีการส่งเนื้อไก่ออกไปขายต่างประเทศจำนวนมาก ไก่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
ก. ไก่เนื้อ ไก่เนื้อ คือไก่ที่เลี้ยงประมาณ ๘ สัปดาห์หรือ ๕๖ วัน ก็จะส่งตลาดหรือเข้าโรงฆ่า เป็นไก่ที่มีการเจริญเติบโตเร็วและมีเนื้อมาก หากมีการให้อาหารตามคุณภาพที่กำหนด
ไก่เนื้อที่นำเข้ามาเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นไก่ลูกผสมที่ผลิตจากบริษัทต่างๆ ในต่างประเทศ โดยประเทศของเรายังไม่สามารถผลิตไก่เนื้อที่มีคุณภาพดีเท่าต่างประเทศได้
ไก่เนื้อที่นำเข้ามาส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งเมื่อเลี้ยงแล้วผสมพันธุ์ ลูกที่ออกมาก็จะนำไปเลี้ยงเป็นไก่เนื้อส่งโรงฆ่า แต่มีบางฟาร์มได้นำปู่ย่าตายายมาเลี้ยงเพื่อนำมาผลิตพ่อแม่พันธุ์ แล้วจึงขยายเป็นไก่เนื้ออีกครั้ง
ข. ไก่ไข่ ไก่ไข่ในระยะเริ่มแรกที่นำเข้ามาเลี้ยง เมื่อประมาณ ๔๐ ปีจนถึงเมื่อประมาณ ๑๕ ปีที่แล้วมา ส่วนใหญ่เป็นไก่พันธุ์แท้ซึ่งได้แก่ไก่พันธุ์โรดไอส์แลนด์แดง และพันธุ์เล็กฮอร์นขาวเป็นหลัก แต่ต่อมาได้มีการนำไก่ไข่ลูกผสมจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ใดเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์แท้ก็ว่าได้ นอกจากไก่ของหน่วยงานของรัฐบาล
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำไก่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้น้อมเกล้าฯ ถวายไข่ฟักจำนวนหนึ่ง และได้พระราชทานให้กรมปศุสัตว์นำไปฟักและเลี้ยงขยายพันธุ์ ปรากฏว่าไก่พันธุ์นี้เลี้ยงได้ดีในบ้านเรา กินอาหารได้ทุกอย่างมีการเจริญเติบโตดี ตัวผู้น้ำหนักประมาณ ๕กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ และตัวเมียหนักประมาณ ๒.๐-๒.๕ กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ และมีไข่ดกกว่าไก่พื้นเมืองมาก
ในการปรับปรุงให้ไก่พื้นเมืองมีคุณภาพดีขึ้น ไก่เซี่ยงไฮ้จำนวนหนึ่งได้ถูกนำไปผสมข้ามพันธุ์กับไก่พื้นเมือง ซึ่งปรากฏว่าไก่ลูกผสมที่ผลิตออกมาเลี้ยงง่าย โตเร็ว น้ำหนักมาก และให้ไข่ดกกว่าไก่พื้นเมืองมาก
๒. เป็ด เป็ดพื้นเมืองของเรามีเลี้ยงมากที่นครปฐม สมุทรปราการและชลบุรี จึงมักเรียกชื่อเป็ดพื้นเมืองตามแหล่งที่เลี้ยงว่าเป็ดนครปฐม เป็ดปากน้ำ และเป็ดชลบุรี เป็นต้น
เป็ดพื้นเมืองตัวค่อนข้างเล็ก การเจริญเติบโตช้า แต่มีไข่ดกดีพอสมควร มักจะพบบ่อยๆ ว่าเป็ดพื้นเมืองไข่เกิน ๒๐๐ ฟองต่อปีแต่ไข่มีขนาดเล็ก
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้มีการนำเป็ดจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงในบ้านเราในระยะหลังๆ
เป็ดที่นำเข้ามาเลี้ยงในบ้านเราแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
ก. เป็ดไข่ เป็ดไข่ที่นำเข้ามาเลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่ เป็นเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์เป็นเป็ดที่มีอัตราการไข่ค่อนข้างสูง บางตัวไข่ถึง ๓๐๐ ฟองต่อปี แต่บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องโรคจึงได้มาผสมข้ามพันธุ์กับเป็ด พื้นเมือง ปรากฏว่าเป็ดลูกผสมกากีแคมเบลล์ให้ไข่ดกและไข่ใหญ่กว่าเป็ดพื้นเมืองมาก จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป
ข. เป็ดเนื้อ เป็ดเนื้อที่นำเข้าเลี้ยงในบ้านเรามีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมมากที่สุดคือเป็ดพันธุ์ปักกิ่ง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้พระราชทานไข่เป็ดพันธุ์ปักกิ่งซึ่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนน้อมเกล้าฯ ถวาย ให้กรมปศุสัตว์นำไปฟักและเลี้ยงขยายพันธุ์ ปรากฏว่าเป็ดนี้ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา แต่บางครั้งก็ยังมีปัญหาเรื่องโรค จึงผสมเป็ดระหว่างพันธุ์ปักกิ่งกับพันธุ์พื้นเมืองก็ปรากฏว่าเป็ดลูกผสมดังกล่าวมีการเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา และมี
น้ำหนักมากเมื่อถึงอายุส่งตลาด
๓. ห่าน ห่านที่เลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นห่านจีน มีทั้งชนิดตัวสีขาวและสีน้ำตาลห่านกินอาหารได้ทุกชนิดทั้งหญ้า ผัก เมล็ดพืช ปลา หรือ อาหารผสม แต่เนื่องจากคนไทยยังไม่ค่อยนิยมบริโภคจึงมีการเลี้ยงค่อนข้างจำกัด
๔. ไก่งวง ไก่งวงสามารถกินอาหารต่างๆ ได้คล้ายกับห่าน เกษตรกรมักจะเลี้ยงปล่อยให้หาอาหารกินเอง
ไก่งวงที่เลี้ยงในบ้านเรามีทั้งชนิดสีขาวและสีเทาปนน้ำตาล แต่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก ยกเว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมากกว่าภาคอื่นๆ เพราะคนไทยยังไม่นิยมบริโภคไก่งวงมากนัก
๕. นกกระทา นกกระทาที่เลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่นำมาจากประเทศญี่ปุ่น และเลี้ยงเพื่อเอาไข่เป็นหลัก มีการเลี้ยงกันบ้างในภาคกลางแต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร