ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม หมายถึง, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คือ, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ความหมาย, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
แผนผัง  รูปแบบ  และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

          แผนผังและรูปแบบ
          ปราสาทขอมจะมีการออกแบบการก่อสร้างอย่างมีระเบียบ เนื่องจากคติการสร้างดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยทั่วไปจะมีแผนผัง ๒ แบบ แบบแรก คือ แผนผังแบบล้อมรอบจุดศูนย์กลาง ซึ่งมีปราสาทประธานอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยระเบียงคด อาจมีสระน้ำและกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ส่วนใหญ่ ได้แก่ ศาสนสถานที่สร้างอยู่บนพื้นราบ เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินพิมาย ส่วนแผนผังแบบที่ ๒  คือ แผนผังแบบตรงเข้าสู่จุดศูนย์กลาง ได้แก่ ศาสนสถานที่อยู่บนภูเขา มีบันไดทางเดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นระยะๆ นำขึ้นไปสู่ปราสาทประธานที่อยู่บนยอดเขา เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเขาพระวิหาร

          รูปแบบของปราสาทขอมที่สมบูรณ์นั้นจะประกอบด้วยกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน ตรงกลางกำแพงมีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง  ๔ ด้าน เรียกว่า “โคปุระ” ถัดเข้าไปมีสระน้ำ อาจเป็นรูปคล้ายตัวซี (C) ในกรณีที่มีทางเข้า ๒ ทาง หรือรูปคล้ายตัวแอล (L) ในกรณีที่มีทางเข้า ๔ ทาง จนถึงกำแพงชั้นในที่ล้อมรอบ ปราสาทประธานซึ่งเรียกว่า “ระเบียงคด”  โดยมีโคปุระทั้ง ๔ ด้านเช่นเดียวกัน  ภายในระเบียงคดเป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน ซึ่ง อาจเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ  หรือเป็น ปราสาทหมู่ ๓ หลัง  ๕ หลัง หรือ ๖ หลัง ก็ได้ อาจมีอาคารขนาดเล็กมีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า “บรรณาลัย” เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้านหน้าปราสาทประธาน ปราสาทขนาดใหญ่  เช่น  ปราสาทหินพิมาย  และปราสาทพนมรุ้ง จะมีส่วนที่เพิ่มขึ้น  ได้แก่ “ทางดำเนิน”  มักประดับด้วยเสาตั้ง เป็นแนวตลอดทางเดินเรียกว่า เสานางเรียง หรือ เสานางจรัล มี  “สะพานนาคราช” ซึ่งมีผังเป็นรูปกากบาท  ราวสะพานทำเป็นลำตัวของพญานาค ๕ เศียร  หันหน้าออกแผ่พังพาน ทั้ง  ๔  ทิศ     เปรียบเสมือนเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ หากเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะมีทางเดินเป็นขั้นบันไดทอดขึ้นไปสู่บริเวณที่ตั้งของปราสาทประธาน

          องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
          ส่วนฐาน  โดยทั่วไปแล้วปราสาทขอม มักตั้งอยู่บนฐานบัวเตี้ยๆ  ต่อมาในสมัยของศิลปะแบบบายน ฐานบัวนี้ได้พัฒนามาเป็นรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า “ฐานบัวลูกฟัก” หมายถึง ฐานบัวที่มีการประดับท้องไม้ด้วยแถบสี่เหลี่ยมคล้ายกับลูกฟัก

         ส่วนกลาง  ได้แก่  ส่วนของอาคารทรงสี่เหลี่ยม ภายในเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพ เรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” (หรือเรือนธาตุ) ส่วนนี้จะทำเป็นอาคารเพิ่มมุมเพื่อจะออกมุข และรับกับซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าของห้อง ครรภคฤหะมีที่ยื่นออกมาเรียกว่า มณฑป มีตัวเชื่อมส่วนนี้เรียกว่า อันตราละ (มุขกระสัน) ส่วนของประตูมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

            - เสาติดผนัง คือ วงกบกรอบประตู เป็นเสาสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักของส่วนบน นิยมสลักลวดลายอย่างงดงาม เช่น  ลายก้าน ต่อดอก
            - เสาประดับกรอบประตู จะอยู่ด้านหน้าวงกบกรอบประตู ทำขึ้นเพื่อการประดับตกแต่งมากกว่าการรับน้ำหนัก ดังนั้น  ตัวเสาประดับกรอบประตูจึงใช้เป็นหลักฐาน สำคัญอย่างหนึ่งในการกำหนดอายุของศาสนสถานแห่งนั้นๆ ตามหลักของวิวัฒนาการทางศิลปะ เช่น ในระยะแรกจะเป็นเสากลมแบบอินเดีย ต่อมาทำเป็นเสาแปดเหลี่ยม รวมทั้งการแบ่งส่วนของเสาและการสลักลวดลาย ก็บอกถึงวิวัฒนาการได้เช่นกัน
            - ทับหลัง หมายถึง แท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่อยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าในลักษณะเดียวกับขื่อ เพื่อรับน้ำหนักของชั้นหลังคาทับหลังมี  ๒  ประเภท  คือ ทับหลังจริง ซึ่งอยู่ชั้นใน ทำหน้าที่รับน้ำหนักชั้นหลังคาอย่างแท้จริง และทับหลังประดับซึ่งอยู่ชั้นนอก เป็นงานประดับสถาปัตยกรรม ซึ่งนิยมสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่องต่างๆ ทับหลังจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการกำหนดอายุศาสนสถานแห่งนั้น และเป็นตัวบอกได้ว่า ศาสนสถานนั้นสร้างขึ้น ในศาสนาและลัทธิใด โดยเฉพาะชิ้นที่สำคัญที่สุดได้แก่ ทับหลังที่อยู่ด้านหน้าของห้องครรภคฤหะ เหตุที่เชื่อว่าทับหลังใช้เป็นตัวกำหนดอายุได้ดีที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นพร้อมกับตัวปราสาท และสลักด้วยศิลาจึงเป็นสิ่งที่คงทนถาวร  รวมทั้งมีภาพเล่าเรื่อง และลวดลายประดับที่สามารถบอกวิวัฒนาการได้เป็นอย่างดี
            - หน้าบัน คือ ส่วนของหลังคารูปทรงสามเหลี่ยมเหนือทับหลังในลักษณะ เดียวกับหน้าจั่ว ตัวกรอบหน้าบันนิยมทำเป็นตัวนาคและเศียรนาค เรียกว่า ซุ้มโค้งเข้า โค้งออกแบบขอม ตัวหน้าบันนิยมสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่อง โดยทั่วไปจะสัมพันธ์กับภาพเล่าเรื่องบนทับหลัง ซึ่งใช้เป็นตัวบอกอายุสมัย และบ่งบอกว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาและลัทธิใดด้วยเช่นกัน

         ส่วนยอด ได้แก่  ส่วนยอดของปราสาทเหนือส่วนเรือนธาตุขึ้นไป ที่ทำเป็นหลังคา ซ้อนชั้นลดหลั่นกัน เรียกว่า “ชั้นวิมาน” หรือ  ชั้นบัญชร”  โดยทั่วไปจะมี  ๕  ชั้น แต่ละชั้นมีนาคปัก  หมายถึง  หัวพญานาคประดับที่มุมประธาน แต่ละด้านประดับด้วย  “บันแถลง” หมายถึง รูปจั่วหรือซุ้มหน้าต่าง เป็นรูปสัญลักษณ์ของวิมานซึ่งเป็นที่สถิตของเทวดา ส่วนยอดสุดเป็นรูปกลีบบัวเรียก บัวทรงคลุ่ม รองรับส่วนยอดที่เรียกชื่อว่า กลศ  (กะ-ละ-สะ)  มีรูปร่างคล้ายหม้อน้ำเทพมนตร์ในศาสนาฮินดู

แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม หมายถึง, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คือ, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ความหมาย, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu