แผนผังและรูปแบบ
ปราสาทขอมจะมีการออกแบบการก่อสร้างอย่างมีระเบียบ เนื่องจากคติการสร้างดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยทั่วไปจะมีแผนผัง ๒ แบบ แบบแรก คือ แผนผังแบบล้อมรอบจุดศูนย์กลาง ซึ่งมีปราสาทประธานอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยระเบียงคด อาจมีสระน้ำและกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ส่วนใหญ่ ได้แก่ ศาสนสถานที่สร้างอยู่บนพื้นราบ เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินพิมาย ส่วนแผนผังแบบที่ ๒ คือ แผนผังแบบตรงเข้าสู่จุดศูนย์กลาง ได้แก่ ศาสนสถานที่อยู่บนภูเขา มีบันไดทางเดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นระยะๆ นำขึ้นไปสู่ปราสาทประธานที่อยู่บนยอดเขา เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเขาพระวิหาร
รูปแบบของปราสาทขอมที่สมบูรณ์นั้นจะประกอบด้วยกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน ตรงกลางกำแพงมีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน เรียกว่า “โคปุระ” ถัดเข้าไปมีสระน้ำ อาจเป็นรูปคล้ายตัวซี (C) ในกรณีที่มีทางเข้า ๒ ทาง หรือรูปคล้ายตัวแอล (L) ในกรณีที่มีทางเข้า ๔ ทาง จนถึงกำแพงชั้นในที่ล้อมรอบ ปราสาทประธานซึ่งเรียกว่า “ระเบียงคด” โดยมีโคปุระทั้ง ๔ ด้านเช่นเดียวกัน ภายในระเบียงคดเป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน ซึ่ง อาจเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ หรือเป็น ปราสาทหมู่ ๓ หลัง ๕ หลัง หรือ ๖ หลัง ก็ได้ อาจมีอาคารขนาดเล็กมีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า “บรรณาลัย” เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้านหน้าปราสาทประธาน ปราสาทขนาดใหญ่ เช่น ปราสาทหินพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง จะมีส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ “ทางดำเนิน” มักประดับด้วยเสาตั้ง เป็นแนวตลอดทางเดินเรียกว่า เสานางเรียง หรือ เสานางจรัล มี “สะพานนาคราช” ซึ่งมีผังเป็นรูปกากบาท ราวสะพานทำเป็นลำตัวของพญานาค ๕ เศียร หันหน้าออกแผ่พังพาน ทั้ง ๔ ทิศ เปรียบเสมือนเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ หากเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะมีทางเดินเป็นขั้นบันไดทอดขึ้นไปสู่บริเวณที่ตั้งของปราสาทประธาน
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
ส่วนฐาน โดยทั่วไปแล้วปราสาทขอม มักตั้งอยู่บนฐานบัวเตี้ยๆ ต่อมาในสมัยของศิลปะแบบบายน ฐานบัวนี้ได้พัฒนามาเป็นรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า “ฐานบัวลูกฟัก” หมายถึง ฐานบัวที่มีการประดับท้องไม้ด้วยแถบสี่เหลี่ยมคล้ายกับลูกฟัก
ส่วนกลาง ได้แก่ ส่วนของอาคารทรงสี่เหลี่ยม ภายในเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพ เรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” (หรือเรือนธาตุ) ส่วนนี้จะทำเป็นอาคารเพิ่มมุมเพื่อจะออกมุข และรับกับซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าของห้อง ครรภคฤหะมีที่ยื่นออกมาเรียกว่า มณฑป มีตัวเชื่อมส่วนนี้เรียกว่า อันตราละ (มุขกระสัน) ส่วนของประตูมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
- เสาติดผนัง คือ วงกบกรอบประตู เป็นเสาสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักของส่วนบน นิยมสลักลวดลายอย่างงดงาม เช่น ลายก้าน ต่อดอก
- เสาประดับกรอบประตู จะอยู่ด้านหน้าวงกบกรอบประตู ทำขึ้นเพื่อการประดับตกแต่งมากกว่าการรับน้ำหนัก ดังนั้น ตัวเสาประดับกรอบประตูจึงใช้เป็นหลักฐาน สำคัญอย่างหนึ่งในการกำหนดอายุของศาสนสถานแห่งนั้นๆ ตามหลักของวิวัฒนาการทางศิลปะ เช่น ในระยะแรกจะเป็นเสากลมแบบอินเดีย ต่อมาทำเป็นเสาแปดเหลี่ยม รวมทั้งการแบ่งส่วนของเสาและการสลักลวดลาย ก็บอกถึงวิวัฒนาการได้เช่นกัน
- ทับหลัง หมายถึง แท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่อยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าในลักษณะเดียวกับขื่อ เพื่อรับน้ำหนักของชั้นหลังคาทับหลังมี ๒ ประเภท คือ ทับหลังจริง ซึ่งอยู่ชั้นใน ทำหน้าที่รับน้ำหนักชั้นหลังคาอย่างแท้จริง และทับหลังประดับซึ่งอยู่ชั้นนอก เป็นงานประดับสถาปัตยกรรม ซึ่งนิยมสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่องต่างๆ ทับหลังจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการกำหนดอายุศาสนสถานแห่งนั้น และเป็นตัวบอกได้ว่า ศาสนสถานนั้นสร้างขึ้น ในศาสนาและลัทธิใด โดยเฉพาะชิ้นที่สำคัญที่สุดได้แก่ ทับหลังที่อยู่ด้านหน้าของห้องครรภคฤหะ เหตุที่เชื่อว่าทับหลังใช้เป็นตัวกำหนดอายุได้ดีที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นพร้อมกับตัวปราสาท และสลักด้วยศิลาจึงเป็นสิ่งที่คงทนถาวร รวมทั้งมีภาพเล่าเรื่อง และลวดลายประดับที่สามารถบอกวิวัฒนาการได้เป็นอย่างดี
- หน้าบัน คือ ส่วนของหลังคารูปทรงสามเหลี่ยมเหนือทับหลังในลักษณะ เดียวกับหน้าจั่ว ตัวกรอบหน้าบันนิยมทำเป็นตัวนาคและเศียรนาค เรียกว่า ซุ้มโค้งเข้า โค้งออกแบบขอม ตัวหน้าบันนิยมสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่อง โดยทั่วไปจะสัมพันธ์กับภาพเล่าเรื่องบนทับหลัง ซึ่งใช้เป็นตัวบอกอายุสมัย และบ่งบอกว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาและลัทธิใดด้วยเช่นกัน
ส่วนยอด ได้แก่ ส่วนยอดของปราสาทเหนือส่วนเรือนธาตุขึ้นไป ที่ทำเป็นหลังคา ซ้อนชั้นลดหลั่นกัน เรียกว่า “ชั้นวิมาน” หรือ ชั้นบัญชร” โดยทั่วไปจะมี ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีนาคปัก หมายถึง หัวพญานาคประดับที่มุมประธาน แต่ละด้านประดับด้วย “บันแถลง” หมายถึง รูปจั่วหรือซุ้มหน้าต่าง เป็นรูปสัญลักษณ์ของวิมานซึ่งเป็นที่สถิตของเทวดา ส่วนยอดสุดเป็นรูปกลีบบัวเรียก บัวทรงคลุ่ม รองรับส่วนยอดที่เรียกชื่อว่า กลศ (กะ-ละ-สะ) มีรูปร่างคล้ายหม้อน้ำเทพมนตร์ในศาสนาฮินดู
แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม หมายถึง, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คือ, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ความหมาย, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คืออะไร
แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม หมายถึง, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คือ, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ความหมาย, แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!