การพิมพ์หนังสือโดยทั่วไปเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษ กระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือมีหลายชนิดแต่อาจแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ที่ใช้พิมพ์กันโดยทั่วไปเป็นสี่ชนิด คือ
๑. กระดาษปรู๊ฟหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ (newsprint) เป็นกระดาษที่ทำด้วยเยื่อไม้บดล้วน ราคาถูก แต่ขาดความทนทาน กระดาษชนิดนี้ใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่เพราะอายุการใช้งานของหนังสือพิมพ์มีอายุเพียงวันเดียว นอกจากนี้ยังใช้พิมพ์หนังสือที่ต้องการให้มีราคาถูก เช่น หนังสือฉบับกระเป๋า หนังสือแบบเรียน โดยทั่วไปในประเทศไทยก็ยังพิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟเพื่อให้มีราคาจำหน่ายย่อมเยาและเพื่อที่จะทำให้กระดาษปรู๊ฟมีคุณภาพดีขึ้นสำหรับการใช้พิมพ์งานที่ต้องการคุณภาพสูงขึ้นได้มีการขัดมันบนผิวกระดาษปรู๊ฟโดยลูกกลิ้งที่มีความร้อนขัดผิวกระดาษเป็นกระดาษปรู๊ฟมัน ทำให้กระดาษมีคุณภาพดีขึ้นสามารถนำมาใช้กับภาพสกรีนและภาพสีได้ดีขึ้น แต่ราคาก็แพงขึ้นไปด้วย
๒. กระดาษปอนด์ (woodfree paper) เป็นกระดาษที่ทำด้วยเยื่อไม้เคมี ซึ่งเกิดจากการต้มท่อนไม้ในน้ำยาเคมี ทำให้สามารถนำเอายางและสารแปลกปลอมแยกออกจากเยื่อไม้เพื่อผลิตเป็นกระดาษ ทำให้ได้กระดาษที่มีคุณ-ภาพดีและมีความทนทาน แต่ก็มีราคาสูง โดยทั่วไปกระดาษปอนด์ใช้พิมพ์หนังสือเล่ม นิตยสาร วารสาร และงานพิมพ์ที่มีคุณภาพดี การพิมพ์ภาพสีโดยทั่วไปพิมพ์บนกระดาษปอนด์จะได้สีสวยงามเหมือนต้นฉบับมากกว่ากระดาษปรู๊ฟ เพราะกระดาษปอนด์มีความขาวมากกว่ากระดาษปรู๊ฟ
๓. กระดาษอาร์ตหรือกระดาษเคลือบผิว (Arts or coated paper) เป็นกระดาษที่ผิวของกระดาษเคลือบด้วยสารเคลือบผิว อาจขัดผิวให้มีผิวมันหรือผิวด้านก็ได้และจะมีผิวเรียบเป็นพิเศษ ใช้สำหรับพิมพ์ภาพที่เป็นสกรีนเม็ดละเอียด หรือภาพที่พิมพ์เป็นภาพหลายสี ภาพสีธรรมชาติให้ได้คุณภาพสูง มีความสวยงามเป็นกระดาษที่ใช้ในการพิมพ์หนังสือนิตยสารภาพและวารสารที่มีภาพมากๆ และเน้นในคุณภาพของภาพ ใช้เป็นกระดาษพิมพ์เป็นปกของหนังสือนิตยสารและวารสาร
๔. กระดาษอื่นๆ หนังสือบางประเภทลักษณะของการใช้งานต้องใช้กระดาษพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะนำมาใช้พิมพ์ เช่น หนังสือภาพสำหรับเด็ก ต้องทนทานต่อการใช้งานของเด็กต้องใช้กระดาษหนาและมีการทรงตัวสูง อาจจะใช้กระดาษหนาเคลือบผิวเรียบทั้งสองหน้า หรือหนังสือพจนานุกรมฉบับกระเป๋า เพื่อให้พิมพ์หนังสือได้เล่มเล็กมีหน้ามากและเล่มบาง อาจต้องใช้กระดาษที่มีแผ่นบางเป็นพิเศษแต่พิมพ์แล้วรอยหมึกจะไม่ทะลุผ่านไปในหน้าตรงข้าม จึงอาจใช้กระดาษไบเบิลพิมพ์ปกหนังสือซึ่งจะต้องมีความแข็งแรงทนทานกว่าเนื้อในของหนังสือเพราะเป็นส่วนที่รักษาเนื้อในของหนังสือเอาไว้ จึงใช้กระดาษที่เรียกว่ากระดาษปกพิมพ์ หรือหากต้องการให้ปกมีความแข็งแรงขึ้นไปอีกก็อาจทำเป็นหนังสือปกแข็ง ซึ่งต้องใช้กระดาษแข็งหุ้มด้วยกระดาษหุ้มปกผ้าหรือหนังนำมาทำเป็นปกก็ได้ แล้วแต่ว่าจะต้องการให้หนังสือนั้นมีความแข็งแรงทนทานเพียงใด ยิ่งทำให้แข็งแรงทนทานมาก ต้นทุนการผลิตก็จะสูงและมีราคาแพงมากขึ้น
ความทนทานของหนังสือนอกจากจะเกิดจากชนิดของกระดาษที่ใช้พิมพ์แล้ว น้ำหนักของกระดาษก็มีความสำคัญ การวัดน้ำหนักของกระดาษในปัจจุบันวัดกันเป็นแกรม กระดาษที่มีน้ำหนักแกรมสูงกว่าย่อมจะมีความหนามากกว่ากระดาษที่มีน้ำหนักแกรมต่ำกว่า เช่น กระดาษ๘๐ แกรมย่อมหนักกว่ากระดาษ ๖๐ แกรมกระดาษจะถูกกำหนดว่ามีน้ำหนักกี่แกรมนั้นหมายถึงน้ำหนักของแผ่นกระดาษชนิดนั้นหนึ่งแผ่นมีเนื้อที่เท่ากับหนึ่งตารางเมตร นำไปชั่งแล้วมีน้ำหนักกี่แกรมก็เรียกได้ว่ากระดาษเท่านั้นแกรม เช่น กระดาษปอนด์แผ่นหนึ่งมีขนาดกว้างหนึ่งเมตรยาวหนึ่งเมตรนำไปชั่งแล้วได้น้ำหนัก ๕๐ แกรม กระดาษนั้นก็จะมีชื่อเรียกว่ากระดาษปอนด์ ๕๐ แกรม กระดาษปรู๊ฟที่ใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์และหนังสือโดยทั่วไป มีน้ำหนักระหว่าง ๔๕ - ๕๒ แกรม กระดาษปอนด์ที่ใช้ในการพิมพ์หนังสือโดยทั่วไปก็มักเป็นกระดาษปอนด์ ๕๐, ๖๐ และ ๘๐ แกรมกระดาษอาร์ตที่ใช้กันทั่วไปก็มักเป็นกระดาษอาร์ต ๑๐๐ - ๑๕๐ แกรม กระดาษปกมีน้ำหนัก๑๓๐ แกรมขึ้นไป และอาจถึง ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ แกรม
กระดาษที่จะนำมาใช้พิมพ์อาจเป็นกระดาษแผ่นหรือกระดาษม้วนก็ได้แล้วแต่ลักษณะเทคนิควิธีพิมพ์และแท่นพิมพ์ที่เลือกใช้พิมพ์ เครื่องพิมพ์บางแบบต้องใช้กระดาษแผ่นพิมพ์ซึ่งก็จะต้องตัดให้ได้ขนาดกับความสามารถพิมพ์ของแท่นพิมพ์นั้นๆ ที่จะพิมพ์ได้ กระดาษทุกแผ่นที่จะป้อนพิมพ์บนแท่นพิมพ์จะต้องตัดให้ได้ขนาดตามกำหนดและเท่ากันหมดทุกแผ่น แท่นพิมพ์บางแบบต้องใช้กระดาษม้วนพิมพ์ กระดาษม้วนที่จะนำมาป้อนพิมพ์ได้ต้องได้ขนาดคือมีหน้ากว้างของม้วนกระดาษเป็นไปตามขนาดของแท่นพิมพ์ สำหรับขนาดหน้ากว้างของแท่นพิมพ์กระดาษม้วนเดี่ยวมีขนาดหน้ากว้าง ๒๑ ๑/๒,๒๔, ๓๑, ๓๕ และ ๔๓ นิ้ว และสำหรับแท่นพิมพ์ที่เป็นขนาดใหญ่ใช้กระดาษม้วนคู่พิมพ์ก็จะมีขนาดหน้ากว้างของกระดาษกว้างเป็นสองเท่าของแท่นพิมพ์กระดาษม้วนเดี่ยว แท่นพิมพ์ที่ใช้กระดาษม้วนพิมพ์เรียกว่าแท่นพิมพ์โรตารี แท่นพิมพ์โรตารีส่วนใหญ่สามารถพิมพ์บนกระดาษทีเดียวได้สองหน้าพร้อมกัน และอาจพิมพ์หลายๆ สีพร้อมกันในแต่ละหน้าก็ได้แท่นพิมพ์โรตารีขนาดใหญ่บางแท่นอาจพิมพ์บนกระดาษหลายๆ ม้วนพร้อมกัน งานพิมพ์บนแท่นโรตารีสามารถพิมพ์ได้รวดเร็ว จึงเป็นงานที่พิมพ์เป็นจำนวนมาก และต้องการพิมพ์ให้เสร็จในเวลารวดเร็ว จึงเป็นเครื่องพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่พิมพ์เป็นจำนวนมากโดยทั่วไปและใช้ในการพิมพ์หนังสือเล่ม หนังสือแค็ตตาล็อกสินค้าที่มีปริมาณพิมพ์สูงๆ คุณภาพการพิมพ์จากแท่นพิมพ์โรตารี เมื่อเทียบกับแท่นพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยกระดาษแผ่นการพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์กระดาษแผ่นสามารถจะให้คุณภาพในการพิมพ์ได้สูงกว่า ดังนั้นงานพิมพ์ที่ต้องการคุณภาพสูงเป็นพิเศษจึงยังต้องพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์กระดาษแผ่น งานพิมพ์พิเศษต่างๆ เช่น การเดินทอง การพิมพ์โรยผงให้เส้นนูนขึ้นมา พิมพ์ดุนให้ภาพนูนสูงขึ้น การตัดกระดาษ เจาะกระดาษเป็นรูปต่างๆ เป็นงานที่ต้องพิมพ์บนแท่นพิมพ์กระดาษแผ่น
เมื่องานผ่านขั้นตอนการพิมพ์แล้วก็จะต้องนำมาพับให้แต่ละหน้าของหนังสือซ้อนกันเป็นลำดับจะได้อ่านเรียงต่อเนื่องกันไป เครื่องพิมพ์บางเครื่องจะมีเครื่องพับติดอยู่ตอนปลายของเครื่องพิมพ์ เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วก็จะพับออกมาเป็นยกพิมพ์เสร็จในตัว โดยเฉพาะแท่นพิมพ์โรตารีที่ใช้กระดาษม้วนพิมพ์ มักจะพบและตัดเป็นยกพิมพ์เสร็จออกมาจากเครื่อง หนังสือบางชนิด เช่น หนังสือพิมพ์ สามารถพิมพ์และพับเป็นเล่มสำเร็จออกมาจากแท่นพิมพ์และนำออกไปจำหน่ายจ่ายแจกได้จากปลายแท่นพิมพ์ทันที
การพิมพ์บนกระดาษแผ่น มีแท่นพิมพ์เพียงบางแบบเท่านั้นที่พิมพ์ได้ทั้งสองหน้าพร้อมกัน ส่วนใหญ่ต้องพิมพ์ทีละหน้า เมื่อพิมพ์ด้านหนึ่งของกระดาษแล้วก็ต้องกลับแผ่นกระดาษไปพิมพ์อีกด้านหนึ่ง แล้วจึงนำไปพับ กระดาษแผ่นหนึ่งอาจพับสอง สาม หรือสี่ครั้งเป็นหนึ่งยกพิมพ์ การพับอาจใช้คนพับด้วยมือหรือจะใช้เครื่องพับพับก็ได้ ในขณะนี้ค่าแรงสูงขึ้นในแผ่นหนึ่งมักพับด้วยเครื่องพับซึ่งสามารถพับได้รวดเร็ว คุณภาพในการพับดีกว่าพับด้วยมือ และค่าใช้จ่ายก็ประหยัดกว่าด้วย
กระดาษแผ่นหนึ่งเมื่อพับเป็นหน้าเรียบร้อยเรียกว่ายกพิมพ์ หนังสือเล่มหนึ่งอาจมีหลายยกพิมพ์ และอาจมีแผ่นปลิวคือกระดาษที่พิมพ์เท่ากับขนาดหน้าหนังสือพอดีไม่ต้องพับอีก ยกพิมพ์และแผ่นปลิวจะต้องนำมาจัดเรียงซ้อนกันตามลำดับเป็นเล่มหนังสือ ซึ่งเรียกว่าเก็บเล่ม การเก็บเล่มอาจใช้คนเก็บด้วยมือโดยหยิบยกพิมพ์และแผ่นปลิวมาเรียงลำดับกันเป็นเล่ม สำหรับการผลิตหนังสือเป็นจำนวนมากก็มีการใช้เครื่องจักรมาดำเนินการ คือเครื่องเก็บเล่ม ยกพิมพ์แต่ละยกจะถูกนำมาป้อนซ้อนๆกันในที่ป้อนยกพิมพ์บนเครื่องเก็บเล่ม ซึ่งที่ป้อนยกพิมพ์จะมีหลายที่ วางเรียงกันตามลำดับเป็นแถว ยกพิมพ์ที่นำมาวางบนที่ป้อนยกพิมพ์จะต้องนำมาวางเรียงลำดับกันให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นจนจบเล่มหนังสือ จะมีรางเลื่อนเดินผ่านด้านหน้าของที่ป้อนยกพิมพ์ การเก็บเล่มหนังสือแต่ละเล่มจะมีมือจับด้านหน้าแต่ละยกพิมพ์จับยกพิมพ์จากกองที่ตั้งไว้มาวางที่รางเลื่อนๆจะเลื่อนไปตามลำดับ มือจับของกองยกพิมพ์ถัดๆ ไปก็จะจับยกพิมพ์ของแต่ละกองมาตั้งซ้อนๆ กันไปตามลำดับจนครบเป็นเล่มหนังสือ หนังสือเมื่อเก็บเล่มเรียบร้อยแล้วก็จะนำไปเย็บเล่มคือการยึดยกพิมพ์และแผ่นปลิวให้ติดกันเป็นเล่ม การเย็บเล่มมีหลายวิธี คือ
๑. เย็บอกหรือเย็บมุงหลังคา เป็นการนำยกพิมพ์มาเรียงซ้อนกันโดยอ้าอกยกพิมพ์ยกหนึ่งคร่อมทับลงบนยกพิมพ์ยกถัดไป ซ้อนๆกันจนครบเล่ม นำปกคร่อมทับบนสุด แล้วเย็บติดกันเป็นเล่มโดยใช้ลวดเย็บหรือด้ายเย็บเย็บทะลุอกของทุกๆ ยกพิมพ์ หักปลายลวดตรงกลางอกยึดหนังสือให้ติดกันเป็นเล่ม หรือใช้ปลายเชือกทั้งสองข้างผูกติดกับตรงกลางอกหนังสือ หรือเย็บจักรตรงกลางอกหนังสือให้กระดาษทุกแผ่นเย็บติดกัน หนังสือเย็บอกมักเป็นหนังสือที่บาง มีหน้าหนังสือไม่มากนักส่วนดีของหนังสือเย็บอกอยู่ที่สามารถเปิดเล่มหนังสือให้กางออกได้เต็มที่
๒. เย็บสัน เป็นการนำยกพิมพ์หนึ่งตั้งซ้อนบนอีกยกหนึ่ง เรียงซ้อนขึ้นๆ ไปตามลำดับจนครบเล่ม การเย็บเล่มลักษณะนี้อาจนำแผ่นปลิวตั้งทับซ้อนรวมกันไปกับยกพิมพ์ตามตำแหน่งในเล่มของแผ่นปลิวนั้น และเย็บแผ่นกระดาษทั้งหมดติดกันด้วยลวดหรือเชือก หรือเย็บด้วยจักรเย็บ โดยเย็บด้านข้างของสันหนังสือ หนังสือเย็บสันสามารถเย็บหนังสือเป็นเล่มได้หนากว่าหนังสือเย็บอก แต่เมื่อเวลาเปิดเล่มหนังสือกางออกแล้วจะกางออกได้ไม่เต็มที่เพราะส่วนของสันหนังสือส่วนหนึ่งถูกเย็บยึดติดกันไว้ หนังสือเย็บสันจะต้องมีการปิดปกคือนำปกมาผนึกยึดติดกับสันหนังสือด้วยกาว
๓. เย็บกี่ เป็นการเย็บอกของยกพิมพ์แต่ละยกด้วยเชือกเส้นเดียวกัน เย็บจากยกพิมพ์หนึ่งไปอีกยกพิมพ์หนึ่งติดต่อกันไปจนจบเล่มการเย็บกี่นี้สามารถเย็บหนังสือที่เป็นเล่มหนาๆมีหน้ามากให้เป็นเล่มเดียวกันได้ และสามารถเปิดเล่มหนังสือทุกหน้าให้กางออกได้เต็มที่หนังสือเย็บกี่นี้จะต้องมีการปิดปกคือนำปกมาผนึกยึดติดกับสันหนังสือเช่นเดียวกับหนังสือเย็บสัน
๔. ไสสันทากาว การเก็บเล่มจัดทำอย่างเดียวกับการเย็บสันคือนำยกพิมพ์มาตั้งซ้อนกันเรียงกันเป็นเล่ม แล้วนำเล่มไปเข้าเครื่องไสสันซึ่งจะตัดหรือเลื่อยสันหนังสือให้ขาดออกโดยด้านหน้าของแผ่นหนังสือแต่ละแผ่นจะขาดออกจากกัน และใช้กาวทาสันหนังสือโดยการพลิกสันหนังสือไปทางด้านซ้ายทากาวครั้งหนึ่งและพลิกสันหนังสือไปทางด้านขวาทากาวอีกครั้งหนึ่ง ทำให้กาวไปยึดแทรกอยู่ระหว่างแผ่นหนังสือแต่ละแผ่นทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแผ่นยึดติดกับแผ่นหน้าและแผ่นหลังติดต่อกันไปทั้งเล่ม กาวที่ทาสันหนังสืออาจเป็นกาวเย็นคือกาวที่เปิดจากภาชนะบรรจุมาใช้ทาได้เลย หรือกาวร้อนซึ่งเป็นกาวที่จะต้องมีการทำให้ร้อนบนเครื่องทากาวให้กาวเหลวใช้ทาขณะที่กาวกำลังร้อนๆ การผลิตหนังสือจำนวนมากๆ โดยใช้เครื่องทากาวที่จะต้องทำให้ได้รวดเร็วและได้หนังสือที่ทนทานมาก มักจะใช้วิธีทำด้วยกาวร้อน การไสสันทากาวสามารถใช้ทำหนังสือเล่มหนาๆ ได้ และสามารถกางหน้าหนังสือออกได้กว้างเต็มที่ การไสสันทากาวทำได้รวดเร็วและค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการเย็บกี่แต่คุณภาพสู้การเย็บกี่ไม่ได้ หนังสือไสสันทากาวจะต้องปิดปกเช่นเดียวกับหนังสือเย็บกี่หรือเย็บสัน
๕. ทำเล่มหนังสือด้วยวิธีกล คือ การทำเล่มด้วยวิธีอื่นซึ่งมักไม่เป็นการยึดแผ่นกระดาษติดกันอย่างถาวร เช่น การเจาะรู ร้อยลวด ร้อยพลาสติก ยึดแผ่นกระดาษด้วยโลหะหนีบให้ติดกัน ยึดแผ่นกระดาษด้วยห่วง ด้วยสกรู เป็นต้น เป็นการทำเล่มสำหรับหนังสือที่อาจถอดเปลี่ยน เพิ่มเติม ส่วนหนึ่งส่วนใดของเล่มหนังสือได้
หนังสือที่ผลิตควรจะทำเล่มในลักษณะใดย่อมแล้วแต่ลักษณะการใช้งานของหนังสือนั้นๆ หนังสือเมื่อได้เข้าปิดปกแล้ว ก็จะมีการเจียนเล่มหรือตัดเล่ม โดยการนำเล่มหนังสือไปตัดด้านบน ด้านล่าง และด้านข้างของหนังสือออก เพื่อให้ส่วนที่เป็นสันพับของยกพิมพ์หนังสือขาดออกทำให้หนังสือสามารถเปิดออกได้ทุกหน้าตลอดเล่ม การเจียนเล่มอาจนำไปตัดเจียนบนแท่นตัดกระดาษทีละด้าน หรืออาจนำไปตัดบนเครื่องตัดสามใบมีดซึ่งสามารถตัดหนังสือออกได้ทั้งสามด้านพร้อมกัน
การผลิตหนังสือเป็นอุตสาหกรรมซึ่งต้องผลิตเป็นจำนวนมาก การเก็บเย็บเล่ม เข้าปกและเจียนเล่มหนังสือมีเครื่องจักรที่สามารถจัดทำติดต่อกันไปเสร็จเรียบร้อยในเครื่องเดียวกันเรียกว่าเครื่องเก็บเย็บเล่มหนังสือ มีทั้งเครื่องที่เก็บเล่มเย็บอก ซึ่งมักใช้ในการทำเล่มนิตยสาร และเครื่องที่เก็บเล่มเย็บสัน ซึ่งมักใช้ในการทำหนังสือเล่มโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือฉบับกระเป๋าและแบบเรียนซึ่งผลิตกันแต่ละรายการเป็นจำนวนมาก ได้มีการพัฒนาการเก็บยกพิมพ์จากการที่เก็บซ้อนตั้งทับกันขึ้นไปในแนวตั้งเป็นการเก็บเป็นม้วนยกพิมพ์คือแผ่นที่พิมพ์และทำเป็นยกพิมพ์เรียบร้อยแล้ว จะนำมาเก็บในที่เก็บซ้อนๆ กันเป็นม้วนเครื่องเก็บเย็บเล่มหนังสือที่ป้อนด้วยม้วนยกพิมพ์สามารถผลิตหนังสือได้รวดเร็วกว่าเครื่องที่ป้อนด้วยยกพิมพ์ที่เป็นตั้ง ทำให้สามารถผลิหนังสือได้รวดเร็วขึ้นมาก
หนังสือที่ผลิตออกมาเป็นนิตยสาร วารสาร และหนังสือที่ใช้งานทั่วไปที่ไม่ต้องเก็บรักษาไว้นานปกติผลิตเป็นหนังสือปกอ่อน โดยใช้ปกที่เป็นกระดาษหนากว่ากระดาษเนื้อในปกจะได้รักษาเนื้อในหนังสือไม่ให้ขาดชำรุดระหว่างการใช้งาน หนังสือที่ต้องการจะเก็บรักษาไว้นานหรือหนังสือที่ต้องใช้กันบ่อย ใช้กันมากคน เช่น หนังสืออ้างอิงและหนังสือสำหรับห้องสมุด มักจะจัดทำเป็นหนังสือปกแข็ง หนังสือปกแข็งมีสองรูปแบบคือ หนังสือปกแข็งที่มีสันตรงและหนังสือปกแข็งที่มีสันโค้ง หนังสือปกแข็งที่มีสันตรงนั้น เมื่อเก็บเย็บเล่มเนื้อในหนังสือเรียบร้อยแล้ว ก็จะเจียนเล่มเฉพาะเนื้อในให้เรียบร้อยแล้วนำมาเข้าเล่มเป็นปกแข็ง ส่วนปกแข็งที่มีสันโค้งนั้นจะต้องเอาเนื้อในที่เก็บเย็บเล่มและเจียนเล่มเรียบร้อยแล้วนั้นมาทำเป็นสันโค้งเสียก่อน โดยเอาเนื้อในเล่มหนังสือมาเข้าเครื่องหนีบเล่มไว้ และใช้เครื่องมือทุบสันทำโค้งทำให้สันหนังสือเป็นรูปโค้ง
ปกของหนังสือปกแข็งประกอบด้วยวัสดุหุ้มปก อาจเป็นกระดาษซึ่งจะพิมพ์แล้วนำมาหุ้มเป็นปกแข็ง หรือใช้กระดาษหุ้มปกแข็งซึ่งผลิตเป็นพิเศษทำผิวเลียนแบบผ้าหรือหนังหรือจะใช้ผ้าพลาสติกหรือหนังแท้หุ้มเป็นปกแข็งก็ได้ แล้วแต่ว่าจะต้องการให้ได้คุณภาพอย่างใด วัสดุหุ้มปกจะต้องคำนวณตัดให้ได้ขนาด เมื่อหุ้มทำเป็นปกแข็งแล้วไปประกอบกับเนื้อในเป็นเล่มหนังสือได้พอดี หนังสือปกแข็งจะมีกระดาษแข็งสองแผ่นเป็นปกด้านหน้าและด้านหลัง ตัดโตกว่าขนาดหน้าของหนังสือเล็กน้อยเพราะปกแข็งจะยื่นเลยแผ่นกระดาเนื้อในออกไปทั้งด้านขอบบน ขอบล่างและขอบด้านข้างของหนังสือ เพื่อกันไม่ให้แผ่นกระดาษเนื้อในกระทบกับสิ่งของต่างๆ ขณะใช้งานกระดาษแข็งจะเลือกเอาขนาดหนาหรือบางอย่างใด เป็นไปตามที่ผู้ผลิตจะกำหนด กระดาษยิ่งหนาความทนทานก็จะยิ่งมีมาก แต่ราคาก็จะแพงขึ้นนอกจากกระดาษแข็งส่วนปกสองแผ่นแล้วยังมีกระดาษรองสันปกซึ่งอาจใช้กระดาษบางลงไปกว่ากระดาษแข็งส่วนปกได้ จะตัดให้ได้ขนาดเล็กกว่าความหนาของสันหนังสือเล็กน้อย เพื่อป้องกันสันปกและเว้นช่องว่างระหว่างกระดาษแข็งรองปก และกระดาษรองสันปกเพื่อให้สะดวกแก่การเปิดปิดหนังสือ ใช้กาวผนึกกระดาษรองปกหนังสือ กระดาษรองสันหนังสือลงบนวัสดุหุ้มปกหนังสือตามตำแหน่งที่กำหนดไว้แล้วพับขอบวัสดุหุ้มปกหนังสือ ผนึกยึดกระดาษแข็งหุ้มปกและกระดาษหุ้มสันหนังสือไว้โดยรอบทั้งสี่ด้าน ก็จะได้ปกแข็งที่จะนำไปประกอบเป็นเล่มหนังสือ ปกแข็งนี้จะนำไปเดินทอง ไปดุนนูน ดุนลึก หรือพิมพ์ให้สวยงามก็อาจทำได้ก่อนนำไปเข้าเล่ม การเก็บเย็บเล่มเนื้อในหนังสือที่จะนำไปเข้าเล่มเป็นปกแข็งจะต้องมีแผ่นผนึกปกและแผ่นปลิวรองปกผนึกติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านหลังของเล่มเนื้อในการนำปกแข็งไปเข้าเล่มกับเนื้อใน ทำโดยการผนึกแผ่นผนึกปกทั้งด้านหน้าและด้านหลังติดกับแผ่นปกแข็งด้วยกาว
หนังสือปกแข็งอาจมีกระดาษหุ้มปกซึ่งพิมพ์ตามที่ออกแบบให้สวยงาม พับปลายสอดไปทางข้างหลังของปกหน้าและหุ้มอยู่ด้านนอกของปก คลุมไปตลอดจนถึงด้านหลังและพับปลายสอดไปทางด้านหน้าของปกหลัง