ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้โครงข่ายประสาทเทียมในระบบรู้จำอักขระแล้ว โครงข่ายประสาทเทียมยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆเช่น การนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อนำความรู้ที่โครงข่ายประสาทเทียมสังเคราะห์ได้ไปใช้ในการทำนายแนวโน้มของค่าดัชนีต่างๆ การใช้โครงข่ายประสาทเทียมในการตรวจจับสัญญาณเสียงสะท้อนในการพูดคุยผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกล เพื่อที่จะได้ลบเสียงสะท้อนนั้นออก การใช้โครงข่ายประสาทเทียมในการตรวจจับคุณลักษณะเฉพาะต่างๆ ของระดับโครโมโซม หรือเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และการใช้งานด้านธุรกิจ ด้านวิศวกรรมด้านการแพทย์ และด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆอีกมากมาย
โดยส่วนใหญ่แล้ว การใช้งานโครงข่ายประสาทเทียมในปัจจุบัน จะเป็นการนำเอาแนวคิดและหลักการในการทำงานของโครงข่ายประสาทเทียมมาจำลองขึ้นในรูปของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ซึ่งถึงแม้ว่าการทำงานจะมีประสิทธิภาพต่ำ อันเนื่องมาจากรูปแบบการประมวลผลที่เป็นลำดับขั้นก็ตาม แต่ก็ทำให้สามารถทำงานที่มีประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะงานที่ไม่มีความวิกฤตในเรื่องของเวลา และไม่สามารถแก้ไขได้โดยตรง ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
การสร้างโครงข่ายประสาทเทียมขึ้นมาเป็นคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งเลยนั้น ยังคงมีข้อจำกัดอีกมาก ทั้งในทางทฤษฎีและทางวิศวกรรม แต่ก็มีผู้ผลิตโครงข่ายประสาทเทียมสำหรับการใช้งานเฉพาะด้านออกมาแล้ว ในรูปของวงจรรวม(integrated circuit) เรียกว่าเป็น ชิปโครงข่ายประสาทเทียม (neural network chip) ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโครงข่ายประสาทเทียมกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ คงจะสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างคอมพิวเตอร์ที่มี "ปัญญา" คือมีความฉลาดและสามารถคิดได้เอง