เราทำไร่ทำนาปลูกพืชได้เมล็ดพืชเป็นอาหารของมนุษย์ เศษเหลือหรือวัสดุพลอยได้จากอาหารมนุษย์ นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เราปลูกข้าวได้ ข้าวเปลือก เมื่อนำข้าวเปลือกไปสีได้ข้าวสารเป็นอาหารมนุษย์ ส่วนรำ ปลายข้าว ใช้เป็นอาหารสัตว์ ต้นข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวแล้วเรียกว่า ฟาง ก็เป็นอาหารโคกระบือ เราปลูกถั่วเก็บเมล็ด นำเมล็ดไปหีบน้ำมัน น้ำมันเป็นส่วนประกอบของอาหารมนุษย์ ส่วนกากที่ได้ใช้เป็นอาหารสัตว์ เถาถั่วใช้เป็นอาหารโคกระบือ เราทำการประมง จับปลาในทะเลได้ปลาหลายชนิด ปลาที่ไม่ใช้เป็นอาหารมนุษย์ใช้ทำเป็นปลาป่นเพื่อเป็นอาหารสัตว์ยอดอ้อย ชานอ้อย กากน้ำตาลเป็นเศษเหลือวัสดุพลอยได้จากอ้อย ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบและต้นพืช ในวงศ์หญ้าและถั่วบางชนิดเป็นอาหารของสัตว์ประเภทกินหญ้า เช่น โค กระบือ ช้าง ม้า แพะและแกะ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า อาหารสัตว์ส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุพลอยได้ของอาหารมนุษย์นั่นเอง
อาหารสัตว์ หมายถึงวัตถุต่างๆ ที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ในการบำรุงร่างกายและไม่เป็นพิษต่อสัตว์ เช่น รำ ปลายข้าว เมล็ดข้าวโพด ปลาป่น กากถั่วต่างๆ มันสำปะหลัง ตลอดจน หญ้าและพืชในวงศ์ถั่วบางชนิด เรานำเอาวัสดุพลอยได้จากอาหารมนุษย์เหล่านี้มาผสมเข้าด้วยกันตามสัดส่วนที่ต้องการให้เป็นอาหารผสมสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราเลี้ยงสัตว์เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เช่น เพื่อเป็นอาหาร เพื่อใช้แรงงาน และเพื่อส่งขายในต่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ เราส่งเนื้อไก่ไปจำหน่ายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔,๘๐๐ ล้านบาท การเลี้ยงโคนมของเราก็ก้าวหน้าสามารถผลิตนมได้ประมาณวันละ ๓๐๐ ตัน ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดต่างๆ จำนวน ๔๙ โรง ผลิตอาหารได้กว่า ๓ ล้านตัน ได้อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดีทัดเทียมกับของต่างประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ดังนี้ คือ โค ๔.๗ ล้านตัว กระบือ ๕.๙ ล้านตัว สุกร ๔.๒ ล้านตัว ไก่ ๘๔ล้านตัว และเป็ด ๑๕ ล้านตัว
อาหารหยาบ เป็นอาหารสำคัญของสัตว์ประเภทกินหญ้าเป็นหลัก เช่นโค กระบือ แพะ แกะ มีสารอาหาร เช่น โปรตีน และพลังงานน้อยแต่มีสารย่อยยากหรือกากมาก เช่น ต้นหญ้าต่างๆ ต้นข้าวโพด ฟางข้าว ยอดอ้อย เถาถั่ว และใบพืชอื่นๆ ที่สัตว์กินได้ เช่น กระถิน ทองหลาง แคและใบมันสำปะหลัง เป็นต้น
อาหารข้น เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีสารอาหารเป็นองค์ประกอบอยู่มาก ย่อยง่าย มีกากหรือเยื่อใยน้อย ตัวอย่างเช่น เมล็ดธัญพืชต่างๆ เมล็ดข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หัวมัน กากถั่วต่างๆ กากเมล็ดปาล์มน้ำมัน รำข้าว และปลาป่น
อาหารข้นใช้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดได้อาหารข้นยังถูกแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มอาหารเสริมต่างๆ เช่น อาหารเสริมโปรตีน ซึ่งเป็นอาหารที่มีโปรตีนปนอยู่มาก ใช้เติมในอาหารสัตว์ให้มีปริมาณโปรตีนเพียงพอ อาจได้จากกากถั่วต่างๆ หรือปลาป่น เศษเนื้อป่น อาหารเสริมแร่ธาตุ เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบอย่างเข้มข้น เช่นกระดูกป่น เกลือ จุนสี และธาตุเหล็ก เป็นต้น อาหารเสริมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ อาหารเสริมวิตามิน เช่น น้ำมันตับปลา และวิตามินสังเคราะห์ นอกจากนั้นมีสารตัวเร่งการเจริญบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะ ใช้เติมในอาหารสัตว์เพียงเล็กน้อย ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี สารตัวเร่งนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังมีกฎหมายควบคุมการใช้ เพราะถ้าใช้มากเกินไปอาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เช่น ในกรณีการเลี้ยงสุกร อาหารเสริมที่สำคัญ ได้แก่อาหารเสริมกรดอะมิโนไลซีน กรดอะมิโนไลซีนมีในอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ จึงมีการสังเคราะห์และใช้เสริมเพิ่มเติมในอาหาร ลดค่าใช้จ่ายของอาหารโปรตีนลงได้ กรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบของโปรตีน มีหลายชนิด แต่ที่จำเป็นและขาดไม่ได้มี ๑๐ ชนิด คือ เมไทโอนีน (methionine) อาร์จินีน (arginine) ทริปโทเฟน (tryptophane) ไทรโอนีน (trionine) ฮิสทิดีน (histidine) ไอโซลูซีน (isoleucine) ลูซีน (leucine) ไลซีน (lysine) วาลีน (valine) และเฟนิลอะลานีน (phenylalanine)