คำว่า "เอดส์" เป็นศัพท์บัญญัติใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ นี้เอง มีต้นตอเป็นคำย่อภาษาอังกฤษ คือ AIDS ซึ่งเป็นคำย่อของคำว่า Acquired Immunodeficiency Syndrome
คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์แพทย์ ของราชบัณฑิตยสถาน ได้ประชุมพิจารณากันแล้วเห็นว่า คำว่า "เสื่อม" นั้น หมายถึง สิ่งที่เคยมีเคยดีมาก่อนอยู่แล้ว เกิดขาดไป พร่องไปในภายหลัง ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า Acquired มากกว่า คำว่า บกพร่องซึ่งไม่สามารถจะบอกได้ว่า บกพร่องตั้งแต่กำเนิด หรือบกพร่องในภายหลัง
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกาได้รับรายงานจากนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ว่ามีชายหนุ่มรักร่วมเพศ ๕ คน ป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติส คารินิไอ (Pneumocystis carinii) ภายในอีก ๑ เดือนต่อมา มีรายงานจากนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนียว่ามีหนุ่มรักร่วมเพศอีก ๒๖ รายป่วยเป็นโรคมะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา (Kaposi's sarcoma) ซึ่งโดยปกติจะเป็นโรคของคนอายุมากและนอกจาก ๒๖ ราย ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ดังกล่าวนั้นแล้ว ยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายเป็นโรคปอดบวม และติดเชื้อฉวยโอกาส* ชายหนุ่มที่ป่วยทุกรายไม่มีรายใดที่มีโรคร้ายแรงประจำตัวมาก่อน และไม่มีรายใดที่เคยได้รับยาประเภทกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทุกรายเมื่อได้รับการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ
พบว่าการทำงานของเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานโรคไม่ได้ทำหน้าที่ตามปกติ และแม้ว่าจะได้รับการรักษาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีใครรอดชีวิต ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องไปหรือเสื่อมลงไปจากที่เคยมีอยู่ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีผู้เสนอให้เรียกชื่อโรคนี้ว่า Acquired Immuno- deficiency Syndrome หรือ AIDS
อันที่จริงแล้ว เมื่อทำการศึกษาย้อนหลังพบว่าโรคนี้เกิดในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ และ พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เพิ่งจะมาครึกโครมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เพราะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ จนผิดสังเกตและตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา ก็ได้มีความเชื่อกันแล้วว่า โรคนี้จะต้องมีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมผิดปกติทางเพศคือ เกี่ยวกับพวกรักร่วมเพศ หรือพวกโฮโมเซ็กชวล และพฤติกรรมทางด้านยาเสพติดอย่างแน่นอน ต่อมายิ่งมีการพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายเลือดก็เป็น โรคนี้ ทำให้เห็นแนวทางที่แจ่มชัดขึ้นในการที่จะทำการศึกษาโรคนี้อย่างละเอียด
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิจัย ต่างก็พยายามที่จะทำงานแข่งกับเวลา เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าต้นเหตุของโรคร้ายนี้คืออะไรกันแน่
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นเวลา ๒ ปีหลังจากที่มีรายงานผู้ป่วยโรคเอดส์จากนครลอสแอนเจลิส คณะนักวิจัยจากสถาบันปาสเตอร์แห่งกรุงปารีส ก็รายงานว่าได้แยกเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งได้จากต่อมน้ำเหลืองของชายหนุ่มที่มีต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งทั่วตัวรายหนึ่ง (ซึ่งเป็นระยะหนึ่งของการดำเนินโรค ต่อไปมักจะกลายเป็นเอดส์) ไว้รัสที่แยกได้นี้ นายแพทย์ลุค มองตานิเยร์และคณะ ได้เรียกชื่อว่า Lymphadenopathy Associated Virus หรือ LAV
อีกปีหนึ่งให้หลังคือ พ.ศ. ๒๕๒๗ ดร. โรเบิร์ต แกลโล และคณะ แห่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ก็แยกเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งได้จากผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ และจากผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ เนื่องจาก ดร.แกลโล และคณะ เคยแยกเชื้อไวรัส จากผู้ป่วยมะเร็ง เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte ที่พบชุกชุมในประเทศญี่ปุ่น และเป็นมะเร็งที่พิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human T Lymphotropic Virus type ๑ หรือ HTLV-I และต่อมาแยกได้เชื้อไวรัสตัวที่สองจากผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว อีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งของ T lymphocyte เช่นกัน และให้ชื่อไวรัสตัวที่สองนี้ว่า HTLV-IIเมื่อแยกไวรัสได้ใหม่ ซึ่งก็มีความโน้มเอียงที่จะไปทำให้T lymphocyte ติดเชื้อได้เช่นกัน ดร.แกลโล จึงขนานนามไวรัสที่พบใหม่ว่าเป็น HTLV-III ผลของการติดเชื้อและมีการทำลาย T lymphocyte ลงไปพร้อมกันอย่างมากนี้เองเป็นเหตุให้เกิดภูมิคุ้มกันเสื่อมลงไป
การศึกษาวิจัยในปัจจุบันนี้ คณะนักวิจัยจะทำการติดต่อประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอยู่เสมอๆ ในไม่ช้าก็พบว่าทั้ง LAV และ HTLV-III ก็คือ ไวรัสชนิดเดียวกัน ในขั้นต้น เรียกชื่อว่า HTLV-III/LAV หรือ LAV/HTLV-III ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ตกลงกันเรียกว่าไวรัส human immunodeficiency virus (HIV) หรือ เอชไอวี
* ติดเชื้อฉวยโอกาส แปลมาจากคำว่า Opportunistic infections