แม่แบบแบบขั้นน้ำตกนี้จัดว่าเป็น แม่แบบของกระบวนการการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Softwaredevelopment mode) แบบแรกของโลก จึงมีผู้ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก แต่เมื่อผ่านไปหลาย ๑๐ ปีผู้ใช้หลายคนพบว่า โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ หลายโครงการที่ใช้แม่แบบแบบนี้ประสบความล้มเหลวได้ง่าย ปัญหาที่เด่นชัดที่สุดคือผู้ใช้ไม่ทราบว่า ตนเองต้องการอะไร และมักจะเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของซอฟต์แวร์บ่อย ๆ
เมื่อมีการว่าจ้างให้พัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ว่า-จ้างมักจะเซ็นชื่อรับรองว่า นี่คือข้อกำหนดซึ่งตรงกับที่เขาต้องการแล้ว แต่ปรากฏว่า เมื่อผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทำงานเสร็จเรียบร้อยตรงตามข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างอย่างเคร่งครัด แต่ความต้องการของผู้ว่าจ้างกลับเปลี่ยนแปลงไป ผลก็คือ ผู้ว่าจ้างไม่ยอมตรวจรับงาน และไม่ยอมจ่ายเงิน หรือขอให้แก้ไขซอฟต์แวร์จนกว่าจะพอใจ และถึงแม้ว่าจะยอมจ่ายเงิน ผู้ว่าจ้างก็ไม่สามารถนำซอฟต์แวร์ไปใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการได้ ปัญหานี้เคยทำให้โครงการซอฟต์แวร์ระดับพันล้านบาทของไทยต้องล้มเหลว เนื่องจากไม่มีใครกล้าเซ็นรับรองเอกสารที่ระบุข้อกำหนดความต้องการของผู้ใช้และเอกสารที่ระบุคุณลักษณะซอฟต์แวร์
การพัฒนาซอฟต์แวร์ตามแม่แบบแบบขั้นน้ำตกเปรียบเทียบได้กับการวัดตัวเด็กเล็กเพื่อใช้ ตัดเสื้อหลาย ๑๐ ตัว แต่รอส่งมอบพร้อมกันทุกตัวซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือน กว่าจะได้เสื้อ เด็กก็โตขึ้นแล้ว เสื้อจึงคับไป ทั้งที่ช่างได้ตัดเสื้อตามขนาดที่วัดไว้ทุกอย่าง หากไม่มีการว่าจ้างต่อเนื่องเพื่อให้ช่างแก้เสื้อให้มีขนาดที่เด็กสามารถใส่ได้ผู้ว่าจ้างก็จะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
ผลการวัดตัวเด็กเปรียบเสมือนข้อกำหนดของซอฟต์แวร์ ตัวเด็กก็เสมือนองค์กรที่ว่าจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังนั้น วิธีการว่าจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์โดยมีข้อกำหนดซอฟต์แวร์เสร็จสมบูรณ์ตายตัว ก่อนจะเริ่มว่าจ้างพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นวิธีที่ยึดถือปฏิบัติในปัจจุบัน จึงไม่สอดคล้องกับวิวัฒนาการของซอฟต์แวร์ เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้ซอฟต์แวร์นั้นเปลี่ยนไปได้ทุกระยะและโจทย์ปัญหาที่ตั้งใจจะให้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็เปลี่ยนไปได้ทุกระยะเช่นกัน
ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลายจึงหันมาหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ตรงตามที่ผู้ใช้ต้องการ มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับวิวัฒนาการของซอฟต์แวร์มากขึ้น ตัวอย่างได้แก่