พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๘ และมีการทำสวนทุเรียนในตำบลบางกร่าง ในคลองบางกอกน้อยตอนใน มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๗
ในระยะต้น เป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี ๓ พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด ผู้ที่หากิ่งตอนจากพันธุ์ดีทั้ง ๓ พันธุ์ไม่ได้ ก็ต้องใช้เมล็ดของทั้ง ๓ พันธุ์นั้นเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย เป็นผลดีต่อการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนมาจนถึงปัจจุบัน
ดังได้กล่าวข้างต้น ปัญหาที่เกษตรกรไม่สามารถหากิ่งตอนจากพันธุ์ดีได้ จึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจึงมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๗ จนกระทั่งก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นับเป็นเวลากว่า ๘๗ ปี ทำให้เกิดทุเรียนพันธุ์ลูกผสมขึ้นมากมาย และมีการขยายพันธุ์ปลูกในที่ต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ ทำให้ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ หลายพันธุ์ในเขตจังหวัดนนทบุรีและธนบุรีสูญหายเพราะสวนล่ม แต่ก็ยังมีหลายสวนที่รอดพ้นมาได้ จึงกลายเป็นแหล่งพันธุ์ที่เหลืออยู่ แต่เนื่องจากการขยายพันธุ์ปลูกทำได้ไม่รวดเร็วพอ เกษตรกรจึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้ได้ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมเพิ่มเติมจากที่มีเหลืออยู่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการขาดความรู้และหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นทุเรียนพันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติ ไม่สามารถทราบเชื้อสายพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ ขาดการบันทึกประวัติเป็นลายลักษณ์อักษรทางวิชาการ การตั้งชื่อพันธุ์ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ อาจใช้ชื่อของผู้ที่เพาะเมล็ด ชื่อสถานที่ หรือตำแหน่งที่ต้นพันธุ์นั้นงอกหรือเจริญเติบโต ลักษณะรูปทรงของผล สี รสชาติ ฯลฯ ที่เป็นลักษณะที่เด่นชัดเป็นตัวกำหนดในการตั้งชื่อ ประกอบกับมีการกระจายการปลูกทุเรียนไปยังภาคต่างๆ ทำให้มีการกระจายพันธุ์ไปยังแหล่งปลูกใหม่เป็นจำนวนมาก รายชื่อพันธุ์ทุเรียน ที่รวบรวมได้จากเอกสารจึงมีเป็นจำนวนมากถึง ๒๒๗ พันธุ์ ซึ่งในจำนวน ๒๒๗ พันธุ์นี้ อาจมีหลายๆพันธุ์ที่เป็นพันธุ์เดียวกัน แต่มีการกำหนดชื่อพันธุ์ขึ้นใหม่ จึงเป็นการซ้ำซ้อน สับสน และไม่สามารถใช้ประโยชน์ ในเชิงวิชาการได้เท่าที่ควร
การบรรยายลักษณะประจำพันธุ์ที่มีผู้เคยศึกษาและดำเนินการไว้นั้น ไม่มีข้อบ่งชี้ที่สามารถกำหนดวัดเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน การบรรยายโดยทั่วไปประกอบด้วย
๑. การบรรยายประวัติพันธุ์โดยสังเขป ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ ของไทยเกิดจากการเพาะเมล็ด และเป็นทุเรียนพันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติทั้งสิ้น
๒. การบรรยายลักษณะต้น บ่งชี้ถึงขนาดความสูงใหญ่ของทรงพุ่มเมื่อโตเต็มที่ การเจริญเติบโตเร็วหรือช้า อุปนิสัยหลังจาก การให้ผลหลายปี รวมทั้งลักษณะของกิ่งก้าน สาขาที่เห็นจากภายนอก
๓. การบรรยายลักษณะใบ บ่งชี้ขนาด รูปร่าง สีสัน และลักษณะเด่นชัดบางอย่าง ที่ได้จากการสังเกต
๔. การบรรยายลักษณะผล บ่งชี้ขนาด รูปร่าง ลักษณะหนาม ลักษณะพู ลักษณะขั้วผล และลักษณะเด่นชับางอย่างที่ได้จากการสังเกต
๕. การบรรยายลักษณะเนื้อ บ่งชี้ความ หนาบาง สี และความละเอียด
๖. การบรรยายลักษณะของรสชาติและกลิ่น เน้นที่ความหวานมัน และกลิ่นที่ฉุนมากน้อยเพียงใด
๗. การบรรยายลักษณะเมล็ด เน้นที่จำนวนเมล็ดเต็ม หรือเมล็ดลีบ
จากการสำรวจและสัมภาษณ์เกษตรกร ในแหล่งปลูกดั้งเดิม ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพฯ สภาพสวนโดยทั่วไปจะปล่อย ตามธรรมชาติ มีการจัดการน้อย เป็นสวนเก่าแบบยกร่อง มีคันคูกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว ๘x๘ เมตร หรืออาจจะถี่กว่าถ้ามีเนื้อที่น้อย ไม่มีการขยายสวน ส่วนมากจะปลูกพืชแซมในสวนทุเรียน เช่น หมาก มะพร้าว มะนาว มะกรูด มะม่วง ชมพู่ กระท้อน กล้วย ฯลฯ พันธุ์ทุเรียนจะเป็นพันธุ์ปลูกดั้งเดิมเป็นส่วนมาก เช่น กำปั่น ลวง ทองย้อย และกบต่างๆ ส่วนพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า เช่น ชะนี หมอนทอง และก้านยาวมีบ้างไม่มาก การดูแลรักษา การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้สารกำจัดโรคและแมลงตลอดจนการจัดการอื่นๆมีน้อยมาก นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป เช่น ดิน น้ำ อากาศ แสงแดด ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมการทำสวน หรือการเจริญเติบโตของทุเรียน จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงสภาพการทำสวนที่ไม่สามารถ พัฒนาหรืออนุรักษ์ต่อไปได้
สวนทุเรียนในเขตจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด สภาพสวนเป็นแบบไร่ ปลูกเป็นแปลงใหญ่ ไม่มีการยกร่อง ส่วนมากปลูกเฉพาะพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า ได้แก่ พันธุ์ชะนี หมอนทอง และก้านยาว ส่วนพันธุ์ปลูกดั้งเดิมจะเหลือน้อยมาก คือสวนละ ๒-๕ พันธุ์ พันธุ์ละ ๑-๓ ต้น บางสวนไม่มีการปลูกหรือโค่นทิ้งทั้งหมด เนื่องจากพันธุ์ปลูกดั้งเดิมให้ผลผลิตที่ขายไม่ได้ราคา และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
ปัจจุบัน มีการปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมากในทุกภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครพนม ภาคกลาง ที่จังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี ภาคใต้ ที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และตรัง ภาคตะวันออก ที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และตราด จากสถิติการเพาะปลูก และพื้นที่การปลูกทุเรียน อาจกล่าวได้ว่าจังหวัดจันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และตราด เป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ