การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ
การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ หมายถึง, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ คือ, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ ความหมาย, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ คืออะไร
การตัดชำ คือ การทำให้กิ่งหรือต้นพืชเกิดรากหลังจากที่ตัดกิ่งหรือต้นออกมาจากต้นแม่แล้ว การตัดชำเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชแบบหนึ่ง ซึ่งนิยมทำกับพืชประเภทไม้ดอก ไม้ประดับ เป็นส่วนใหญ่แต่ก็อาจใช้กับการขยายพันธุ์ไม้ผลบ้างบางชนิดแบบต่างๆ ของการตัดชำ (types of cuttings) เราอาจจะใช้ส่วนต่างๆ ของต้นพืชนอกเหนือจากดอกหรือผลมาตัดชำได้ เช่น อาจจะใช้ต้น กิ่ง รากหรือใบ ดังนั้นแบบของการตัดชำจึงขึ้นอยู่กับส่วนของพืชที่จะนำมาตัดชำ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการ ตัดชำโดยใช้ต้นเท่านั้น
๑. การตัดชำโดยต้นหรือกิ่ง (stem cut-tings) เป็นวิธีการตัดชำที่มีความสำคัญและนิยมกันกว้างขวางกว่าการใช้ส่วนอื่นๆ ของต้น แบ่งการตัดชำวิธีนี้เป็นวิธีการย่อยๆ โดยพิจารณาอาหารที่มีอยู่ในกิ่งและชนิดของเนื้อไม้เป็น ๔ แบบ ซึ่งวิธีการใดฃจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของปีรวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกัน ผู้ตัดชำจะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงจะทำให้การตัดชำได้ผลดี
๑.๑ การตัดชำแบบใช้กิ่งแก่ไม่มีใบ ได้แก่การนำส่วนของต้นหรือกึ่งพืชที่แก่หรือเจริญมาแล้วนานๆ มาตัดชำ แต่ส่วนใหญ่จะใช้กิ่งที่มีอายุไม่เกิน ๑ ปี เป็นกิ่งที่ไม่มีใบติด สีผิวของกิ่งเป็นสีน้ำตาลลักษณะกิ่งแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นกิ่งที่อยู่ในระยะพักตัวหรือหยุดเจริญ การตัดชำกิ่งแบบนี้อาจปฏิบัติเป็นขั้นๆ ดังนี้
ก. เลือกกิ่งที่มีลักษณะดังกล่าวและมีขนาดโตราวครึ่งนิ้วหรือขนาดดินสอดำ
ข. ตัดกิ่งเป็นท่อนๆ โดยให้แต่ละท่อนยาวราว ๘ นิ้ว
ค. ตัดปลายและโคนกิ่งให้เฉียง ทำมุมกับกิ่งประมาณ ๔๕-๖๐ องศา
ง. ตัดปลายกิ่งให้เฉียงขึ้นทางตาบน และห่างตาประมาณ ๑/๔-๑/๒ นิ้ว
จ. ตัดให้รอยตัดโคนกิ่งผ่านข้อ หรือใต้ข้อเล็กน้อย
ฉ. ถ้ามีการใช้ฮอร์โมนช่วยการออกราก ก็จะจุ่มโคนกิ่งลงในสารละลายฮอร์โมนลึกประมาณ ๑/๒ นิ้ว
การปักชำ
ก. ปักกิ่งที่ตัดเรียบร้อยแล้วลงในวัตถุปักชำซึ่งอาจเป็นทราย ถ่านแกลบ หรือทรายผสมถ่านแกลบก็ได้ โดยจัดปักให้กิ่งเอนเล็กน้อยประมาณ ๖๐องศา และห่างกันประมาณ ๓-๔ นิ้ว
ข. ปักกิ่งให้ลึกลงไปในวัตถุปักชำ ๒ ส่วนใน ๓ ส่วน หรือมีตาเหลือประมาณ ๑-๒ ตา
ค. จัดปักให้ตาบนสุดหงายหรือตั้งขึ้น
ง. รดน้ำให้โชก และคอยรดน้ำต่อไปให้วัตถุปักชำชื้นอยู่เสมอ จนกระทั่งกิ่งตัดชำออกรากมากพอจึงย้ายปลูกได้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๔-๖ สัปดาห์
๑.๒ การตัดชำกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน การตัดชำกิ่งแบบนี้ มักจะใช้สำหรับการตัดชำไม้ผลบางชนิดที่ออกรากไม่ยากนัก เช่น การตัดชำชมพู่ ฝรั่ง ส้มบางชนิด มะกอกน้ำ รวมทั้งไม้ประดับบางอย่างที่ออกรากค่อนข้างยาก กิ่งพืชที่จะใช้ในการตัดชำแบบนี้ก็คือ เป็นกิ่งที่มีการเจริญมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งอาจมีอายุ ๒-๓ เดือน มีใบเขียวเข้ม สีผิวของกิ่งเริ่มมีลายสีน้ำตาลอ่อนหรือสีครีมเป็นบางส่วน ลักษณะกิ่งกลมและมีเนื้อไม้แข็ง การตัดกิ่งแบบนี้ ปฏิบัติดังนี้
ก. เลือกกิ่งให้มีลักษณะดังกล่าว และมีขนาดโตประมาณ ๑/๔-๑/๒ นิ้ว แล้วแต่ชนิดของพืช
ข. ตัดกิ่งออกเป็นท่อนๆ ให้มีความยาวของแต่ละท่อนประมาณ ๖ นิ้ว การตัดปฏิบัติเช่นเดียวกับการตัดชำแบบใช้กิ่งแก่ (ข้อ ๓, ๔)
ค. ริดใบบริเวณโคนกิ่งออกประมาณ ๑ ใน ๓ ส่วนของกิ่ง
ง. กรีดเปลือกโคนกิ่งเป็น ๒ รอย ตรงข้ามกัน โดยให้รอยกรีดยาวประมาณ ๑/-๑ นิ้ว ทั้งนี้เพื่อช่วยให้โคนกิ่งมีเนื้อที่ออกรากได้มากขึ้น
จ. ใช้ฮอร์โมนช่วยการออกราก โดยจุ่มกิ่งลงในสารละลายฮอร์โมนเช่นเดียวกับการตัดชำแบบกิ่งแก่
การปักชำ
ก. ปักกิ่งในกระบะพ่นหมอก หรือในที่ที่จะรักษาให้ใบสดอยู่ได้ เช่น ในกระถางแล้วสวมกระถางด้วยถุงพลาสติก หรือคอยพรมน้ำเลี้ยงใบให้สดติดอยู่กับกิ่งจนกระทั่งกิ่งเกิดราก
ข. ปักกิ่งตรงๆ ลงในวัตถุปักชำ ๑ ใน ๓ ส่วน หรือเท่าที่ริดใบโคนกิ่งออก
ค. ปักกิ่งให้ห่างกันประมาณ ๔" x ๔" หรือพอให้ใบเริ่มชนกันหรือทับกันบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อมิให้ใบบังแสงกันเอง และถ้าเห็นว่าใบไหนโตเกินไปก็อาจตัดให้สั้นลงได้
ง. รดน้ำให้โชก แล้วคอยดูแลให้ใบสดติดอยู่กับกิ่ง จนกว่ากิ่งจะเกิดรากมากพอจึงถอนย้ายซึ่ง จะใช้เวลาประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ ๑.๓ การตัดชำกิ่งอ่อน การตัดชำแบบใช้กิ่งอ่อน เป็นวิธีการตัดชำกิ่งพืชพวกไม้ดอกไม้ประดับทั่วๆ ไป ที่ออกรากง่ายดังเช่น การปักชำยี่โถ กุหลาบ มะลิ ดอนย่า เป็นต้นส่วนวิธีการตัดชำทำคล้ายกับการตัดชำแบบการใช้กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ผิดกันที่ว่าการตัดชำแบบนี้มักจะใช้กิ่งที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกิ่งยอดๆ วิธีการตัดชำอาจทำได้ดังนี้
- ใช้กิ่งยอด หรือกิ่งรองยอดที่ใบเจริญเต็มที่แล้ว และลักษณะกิ่งค่อนข้างกลม
- ตัดกิ่งเป็นท่อนๆ ยาว ๓-๖ นิ้ว แล้วแต่ชนิดของพืช การตัดปฏิบัติเช่นเดียวกับการตัดชำกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน
การปักชำปฏิบัติเช่นเดียวกับการปักชำกิ่ง กึ่งแก่กึ่งอ่อน ซึ่งการตัดชำแบบนี้จะใช้เวลาในการออกรากราว ๒-๓ สัปดาห์
๑.๔ การตัดชำไม้เนื้ออ่อน การตัดชำไม้เนื้ออ่อนเป็นการตัดชำพืชบางชนิดที่มีเนื้อไม้ฟ่ามเปลือกหนา ต้นค่อนข้างจะชุ่มน้ำ (succulent) ดังเช่นการตัดชำมะเขือเทศ รักเร่ เบญจมาศ คาร์เนชัน และเวอร์บีนา เป็นต้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่มีเนื้ออ่อนและชุ่มน้ำ ฉะนั้น การชอกช้ำหรือโอกาสที่กิ่งจะเน่าเสียหายจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ การใช้วัตถุปักชำจึงต้องควรคำนึงถึงการระบายน้ำให้มาก และต้องระวังขณะตัดไม่ให้ชอกช้ำง่าย ที่สำคัญก็คือ ต้องใช้วัตถุปักชำที่ใหม่หรือปราศจากเชื้อโรคที่จะทำให้เกิดโรคเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปักชำต้นคาร์เนชัน วิธีการตัดชำปฏิบัติเช่นเดียวกับการตัดชำแบบใช้กิ่งอ่อน แต่อาจใช้ขนาดกิ่งที่สั้นกว่า ปกติมักใช้กิ่งยาวไม่เกิน ๓ นิ้ว และไม่ต้องทำแผลโคนกิ่ง สำหรับอายุการออกรากในการตัดชำกิ่งพืชพวกนี้ โดยทั่วไปจะเกิดรากเร็วกว่าการใช้กิ่งอ่อน ปกติใช้เวลาราว ๑-๒ สัปดาห์เท่านั้น
ปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากดี
ทั้งสภาพภายในกิ่ง และสภาพแวดล้อมภายนอก มีส่วนอยู่มากที่จะทำให้กิ่งเกิดรากดีหรือไม่ดีซึ่งในการตัดชำผู้ปฏิบัติจะต้องคัดเลือกทั้งสภาพภายในกิ่งและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเกิดราก และการเกิดยอด จึงจะทำให้การตัดชำนั้นได้ผลดีสภาพดังกล่าว ได้แก่
ก. สภาพภายในกิ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีอยู่ในกิ่งตัดชำนั้นเอง ได้แก่สภาพดังต่อไปนี้
๑. การเลือกกิ่ง ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
๑.๑ เลือกกิ่งที่มีอาหารมาก เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่งสำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ อาหารจะสะสมอยู่ภายในกิ่ง ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน ๑ ปี) อาหารยิ่งสะสมอยู่ภายในกิ่งมาก ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน รวมทั้งการตัดชำพืชพวกไม้เนื้ออ่อน อาหารจะมีอยู่ที่ใบบนกิ่ง ถ้ากิ่งยิ่งมีใบมาก ก็แสดงว่าอาหารภายในกิ่งยิ่งมีมาก การเกิดรากและ แตกยอดก็ง่ายขึ้น
๑.๒ อายุของต้นพืชที่จะนำมาตัดชำควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด)เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากๆ
๑.๓ เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกบริเวณที่เป็นโคนกิ่ง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบควรเลือกบริเวณปลายกิ่งหรือส่วนยอดของกิ่งควรเลือกตัดโคนกิ่งให้รอยตัดอยู่บริเวณที่เป็นข้อหรือใต้ข้อเล็กน้อย เพราะที่ข้อมีอาหารมากกว่าบริเวณที่เป็นปล้อง ซึ่งจะทำให้การออกรากเกิดมากขึ้น ควรเลือกใช้กิ่งที่เป็นกิ่งใบ (vegetative shoots) คือกิ่งที่อยู่ในระยะการเจริญ ซึ่งจะช่วยให้เกิดรากง่ายกว่าใช้กิ่งดอกหรือกิ่งที่อยู่ในระยะการออกดอกและติดผล
๑.๔ การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ คือ เป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการตัดชำฃกิ่งอ่อนนั้น อาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญ นั้นมีความแข็ง (firmness) พอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สำหรับการตัดชำไม้ผลหรือไม้ประดับบางชนิดที่ออกรากค่อนข้างยากการใช้กิ่งที่แข็ง กลม และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อยจะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อน
๒. การปฏิบัติบางอย่างต่อกิ่งตัดชำ
๒.๑ การเลือกกิ่งที่มีตาและใบ ถ้าเป็นกิ่งแก่ควรเลือกกิ่งที่มีตา เพราะจะช่วยให้ออกรากได้ ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตานั้นอยู่ในระยะเริ่มเจริญส่วนการตัดชำแบบกิ่งอ่อนหรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ใบบนกิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเกิดราก เพาะใบช่วยสร้างอาหารและฮอร์โมนช่วยการออกรากให้แก่กิ่งตัดชำ
๒.๒ การจัดวางกิ่งตัดชำให้ถูกต้องตามหัวท้ายของกิ่ง ในการตัดชำต้น รากจะออกที่โคนกิ่ง และแตกยอดที่ปลายกิ่ง ส่วนการตัดชำรากก็จะเกิดรากที่ปลายท่อนราก และจะเกิดยอดที่โคนท่อนรากฉะนั้นในการวางกิ่งตัดชำ ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งหรือต้น จึงต้องเอาโคนกิ่งปักลงในวัตถุปักชำ ส่วนการตัดชำราก จะเอาโคนท่อนรากโผล่ขึ้นและเอาปลายท่อนรากปักลง การปักกิ่งกลับทิศทางจะไม่ทำให้ตำแหน่งของการเกิดรากและแตกยอดต้องเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่จะทำให้กิ่งไม่เกิดรากและเกิดยอด
๒.๓ การทำแผลโคนกิ่ง แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับพืชที่เกิดรากเฉพาะที่แผลรอยตัดแห่งเดียว นอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย
๒.๔ การใช้ฮอร์โมนและสารบางอย่างช่วยการออกราก
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น คือช่วยให้เกิดรากมาก ออกรากไวและรากเจริญได้เร็วขึ้น สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่างๆ นั้นมักจะมีสารฮอร์โมนอยู่สองชนิด คือ ไอบี เอ (IBA) หรือชื่อเต็ม คือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และ เอ็นเอเอ (NAA) หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีนอะซีติก (naphthaleneaceticacid) สารฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่เสื่อมช้าคือไม่สูญเสียง่าย แต่ในการใช้มีข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การใช้ฮอร์โมนกับพืชใด ควรจะรู้ความเข้มข้นที่แน่นอนและให้พอเหมาะกับพืชนั้นๆ เพราะการใช้ฮอร์โมนที่อ่อนไปจะไม่ได้ผลเลย (เหมือนจุ่มน้ำ)ส่วนการใช้ฮอร์โมนที่แรงเกินไปจะเป็นการทำลายกิ่งคือ โคนกิ่งจะไหม้ดำ (เหมือนจุ่มกิ่งในน้ำกรด)
นอกจากจะมีการใช้ฮอร์โมนทำให้กิ่งพืชออกรากแล้ว ยังมีการใช้สารอื่นๆ รวมทั้งแร่ธาตุบางอย่างในการตัดชำพืชบางชนิดอีกด้วย เช่น มีการใช้วิตามิน บี ๑ (B1) ช่วยการเจริญของปลายราก และการใช้โบรอน (boron) ใส่ลงในวัตถุปักชำ จะช่วยให้กิ่งตัดชำของพืชบางชนิดออกรากดีขึ้น
ข. การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก
๑. การจัดความชื้นในอากาศรอบๆ กิ่งตัดชำความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับ การตัดชำกิ่งพืชที่มีใบซึ่งได้แก่ การตัดชำแบบใช้กิ่งอ่อน กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน การตัดชำไม้เนื้ออ่อน รวมทั้งการตัดชำใบด้วย โดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สดและติดอยู่กับกิ่งตลอดไป แต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบๆ ใบสูงพอ น้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมาและใบก็จะไม่เหี่ยว ด้วยเหตุนี้การตัดชำกิ่งมีใบจึงต้องรักษาความชื้นของอากาศรอบๆ ใบ ให้สูงอยู่ตลอดเวลาซึ่งเราอาจทำได้โดยคอยรดน้ำที่พื้นที่ข้างๆ กระบะปักชำเสมอๆ หรือคอยพรมน้ำกิ่งตัดชำบ่อยๆ ฉีดหรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลาหรือเป็น ระยะ ซึ่งวิธีการหลังนี้อาจใช้คนช่วยฉีดพ่น หรือโดยการใช้เครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติ (autometic mist) ก็ได้
๒. อุณหภูมิกับการออกรากของกิ่งตัดชำโดยปกติ อุณหภูมิที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากได้ดีจะอยู่ระหว่าง ๗๐ องศา - ๘๐ องศา ฟ. สำหรับบ้านเราอุณหภูมิที่จำเป็นในการการออกรากในพืชทั่วๆ ไปจะไม่ค่อยเป็นปัญหา เช่น กุหลาบ สามารถออกรากได้ดีไม่ว่าปักชำในฤดูหนาว ฤดูฝนหรือฤดูร้อนก็ตามเว้นแต่ในพืชบางชนิดที่เจริญได้ดีในฤดูร้อน เช่น ในมะลิ จะออกรากได้ดีในฤดูร้อนหรือฤดูฝน แต่จะไม่ค่อยออกรากหรือออกรากยากเมื่อปักชำในฤดูหนาว
๓. แสงสว่างกับการออกรากแสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่งพืชที่ต้องมีใบติดและการตัดชำใบ เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหาร รวมทั้งสร้างสารฮอร์โมนเพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ ฉะนั้นในกิ่งตัดชำที่มีใบและเป็นพืชชอบแดด การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไร ก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้นเท่านั้น ส่วนพืชที่ไม่ทนแสง (แสงแดด) เช่น พืชที่ใช้ประดับในอาคาร (house plants) การพรางแสงให้กับกิ่งโดยให้เหลือแสงเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างน้อยที่สุด ๑๕๐-๒๐๐ แรงเทียน จะช่วยให้กิ่งเหล่านี้ออกรากได้ดี
ส่วนการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ รวมทั้งการตัดชำราก ซึ่งจะออกรากได้ดีในที่มืด แต่จะต้องการแสงเพิ่มขึ้นเมื่อกิ่งเกิดยอด ในทางปฏิบัติจึงควรปักชำกิ่งแก่และปักชำรากไว้ในที่ที่มีแสงราว ๓๐ เปอร์เซ็นต์
๔. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำการออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้น (moisture) และอากาศ (areation) ที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้นและมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วย วัตถุที่จะช่วยให้การออกรากเกิดได้ดี จะต้องดูดความชื้นได้มาก และมีอากาศผ่านได้สะดวก และโดยที่พืชแต่ละชนิดต้องการอากาศมากน้อยต่างกัน ฉะนั้นการที่จะใช้วัตถุใดเหมาะกับพืชใด จึงต้องศึกษาและทดลองในแต่ละพืชไป สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไป ได้แก่ทรายหยาบ ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน
การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ หมายถึง, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ คือ, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ ความหมาย, การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่นๆ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!