มนุษย์ต้องการปัจจัยสี่ที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งประกอบด้วยอาหาร ที่อยู่อาศัยเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค นอกเหนือจากนี้เราจะพบว่า ยังมีปัจจัยที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตในปัจจุบันคือ ยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง มนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยานพาหนะในการเดินทาง เพื่อการติดต่อผู้คนและประกอบอาชีพ เริ่มต้นมาจากความจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นสิ่งช่วยในการเดินทาง ต่อมาจึงได้พัฒนาให้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตาม วัตถุประสงค์ของการใช้งาน และความต้องการของผู้ใช้ ในปัจจุบัน มนุษย์จึงมียานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางมากมายหลายประเภท อาทิเช่น รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก รถไฟ เรือ และเครื่องบิน เป็นต้น
สังคมไทยในชนบทส่วนใหญ่เป็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม ประชากรมีรายได้จากการทำมาหาเลี้ยงชีพของตน ซึ่งถือได้ว่า เป็นการหาเลี้ยงชีพในลักษณะของ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งหมายถึง การดำรงชีวิตอุ้มชูตัวเองให้ได้มีพอเพียงกับตัวเอง มีความเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน และหากมีบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ในที่ไม่ห่างไกลและไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก ดังนั้น ราษฎรหรือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจึงมีรายได้ในลักษณะพออยู่พอกิน และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
ยานพาหนะประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมของคนไทยคือ รถจักรยานยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นยานพาหนะที่ให้ความคล่องตัวในการเดินทางสูงมีขนาดเล็กเหมาะกับการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีระยะทางไม่ไกลนัก มีความปลอดภัย และที่สำคัญคือ มีราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พบว่า ๘๕% (หรือ ๘๕ คันใน ๑๐๐ คัน) ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เป็นผู้มีภูมิลำเนาหรือตั้งรกรากอยู่ที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพมหานคร และพบว่า ๗๖% (หรือ ๗๖ คันใน ๑๐๐ คัน) ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ รถจักรยานยนต์ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นในสังคมเมืองที่มีความแออัดและคับคั่งไปด้วยการจราจร เนื่องจากรถจักรยานยนต์ทำให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทางสูง มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และประหยัดน้ำมัน
การพัฒนาของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯของประเทศ จะเป็นไปตามแผนงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และดำเนินการตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยรัฐบาลได้กำหนดให้มีชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ ร้อยละ ๙๐ สำหรับตัวรถจักรยานยนต์ และร้อยละ ๗๐ สำหรับชิ้นส่วนเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์