การละเล่นพื้นเมือง คือ การละเล่นที่แสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เป็นกิจกรรมบันเทิงที่แฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ อันเนื่องด้วยวัฒนธรรมและประเพณีสะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อของสังคมที่สืบทอดมาแต่โบราณ
ประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกไว้ว่า คนไทยมีการละเล่นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กล่าวว่า "...ใครใคร่จักมักเล่น เล่นใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน..." และในสมัยอยุธยา ก็ได้กล่าวถึงการแสดงเรื่อง มโนห์ราไว้ในบทละครครั้งกรุงเก่า ซึ่งกล่าวถึงการละเล่นในบทละครนั้น ได้แก่ ลิงชิงหลักและปลาลงอวน
ประเพณีและวัฒนธรรมไทยสมัยก่อน มักสอดแทรกความสนุกสนานบันเทิงควบคู่ไปกับการทำงาน ทั้งในชีวิตประจำวัน ในเทศกาลงานบุญและตามระยะเวลาแห่งฤดูกาล เรียกกิจกรรมบันเทิงว่าเป็นการละเล่น ครอบคลุมการเล่นลักษณะต่างๆ ทุกโอกาสไว้ในความหมายเดียวกันว่าคือ การแสดง การมหรสพ กีฬาและนันทนาการ
การแสดง หมายถึง การละเล่นที่รวมทั้งที่เป็นแบบแผนและการแสดงทั่วไปของชาวบ้าน ในรูปแบบของการร้อง การขับ การบรรเลง การฟ้อนรำซึ่งประกอบด้วยดนตรี เพลงและนาฏศิลป์
มหรสพ หมายถึง การแสดงที่ฝ่ายบ้านเมืองจะเรียกเก็บค่าแสดงเป็นเงินภาษีบำรุงแผ่นดินตามพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๐๔ เป็นต้นมา ประกาศมหรสพว่าด้วยการละเล่นหลายประเภท ดังนี้ ละครไทย ละครชาตรี ละครแขก งิ้ว หุ่นไทย หุ่นจีน หุ่นต่างๆ หนังไทย หนังตะลุง หนังแขก หนังจีน หนังต่างๆ เพลง สักวา เสภา ลิเก กลองยาวลาวแพน มอญและทวายรำ พิณพาทย์ มโหรีกลองแขก คฤหัสถ์สวดศพ และจำอวด
กีฬาและนันทนาการ คือ การเล่นเพื่อความสนุกสนานตามเทศกาลและเล่นตามฤดูกาลและการละเล่นเพื่อการแข่งขัน หรือกิจกรรมที่ทำตามความสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และผ่อนคลายความตึงเครียด
การละเล่นมีทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่การละเล่นของเด็กจะเริ่มตั้งแต่เป็นทารกแบเบาะ จนกระทั่งเจริญวัย มีการเล่นง่ายๆ อยู่ภายในบ้านการเล่นสนุกนอกบ้าน และการเล่นที่นำอุปกรณ์การเล่นมาจากวัสดุธรรมชาติ เป็นการเล่นที่มุ่งเพื่อการพัฒนาร่างกาย สมอง และจิตใจตามวัย
ส่วนการละเล่นของผู้ใหญ่ มีความซับซ้อนในวิธีการเล่นตามประเภทของการแสดง มีทั้งมุ่งแสดงเพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นพิธีกรรมการเฉลิมฉลองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหา-กษัตริย์ การสมโภชในงานของพระศาสนา และการสังสรรค์สนุกสนานบันเทิงของชาวบ้าน เพื่อความรื่นเริงในการชุมนุมกันเป็นหมู่คณะเมื่อร่วมกันทำงาน โดยเฉพาะการทำนา และเล่นเพื่อความครึกครื้นตามประเพณีเทศกาลตรุษสารทและยามว่างในฤดูกาล
การละเล่นพื้นเมืองเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ ทุกภาคของประเทศจะมีการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภาคหลายอย่างต่างๆ กัน นับตั้งแต่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ การละเล่นเกือบทุกชนิดมักจะมีอุปกรณ์ที่เกื้อกูลกัน ๓ อย่าง คือ ดนตรี เพลงและการฟ้อนรำ ซึ่งล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากการละเล่นพื้นบ้าน ผสมผสานกับอิทธิพลของหลวงหรือส่วนกลาง การละเล่นหลายอย่างเล่นแพร่หลายกันอยู่ทั่วทุกภาค อาจผิดแปลกกันไปบ้างในส่วนปลีกย่อยของลีลาการร่ายรำ สำเนียงของบทร้อง ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องบังคับการแสดงอาจไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ในโครงสร้างหลักอันเป็นองค์ประกอบของการละเล่น จะแสดงลักษณะของความเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง และมีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันตามยุคสมัย สามารถจำแนกลักษณะของการละเล่นพื้นเมืองได้เป็นประเภท ดังนี้
๑. การเล่นเพลงและระบำรำฟ้อน
๒. การเล่นเข้าผี
๓. การกีฬาและนันทนาการ
การเล่นเข้าผี คือ การเชิญวิญญาณสิ่งที่ประสงค์จะให้มาเข้าทรงผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เป็นสื่อเพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง ในรูปแบบต่างๆ เล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชาย มักเล่นในเทศกาลสงกรานต์ แต่ละภาคมีการละเล่นต่างๆ กัน
ภาคกลาง ได้แก่ การเล่นแม่ศรี ลิงลม ผีกะลา ผีนางกวัก ฯลฯ
ภาคใต้ เรียกการเข้าผีว่า การเล่นเชื้อ ได้แก่ เชิญผีช้าง ผีหงส์ ผีมดแดง เป็นต้น
ภาคเหนือ เป็นการฟ้อนเชิญผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย มาเซ่นไหว้ตามประเพณี ส่วนการเล่นผีที่เรียกว่า นายเด้ง คือการเล่นแม่ศรีอย่างภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เชิญผีปู่ย่าตายายมาเซ่นไหว้เช่นเดียวกับภาคเหนือ