ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรศรีวิชัยเคยครอบครองพื้นที่นี้อยู่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปจนสุดแหลมมลายู มีชุมชนโบราณในพื้นที่ดังกล่าวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เมืองไชยา เมืองตะกั่วป่า เป็นต้น การศึกษาเครื่องปั้นในภาคใต้ ได้เคยมีการขุดค้นแหล่งผลิตที่บ้านปะโอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ โดยกรมศิลปากร จากการศึกษาพบว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นชุมชนในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘
เครื่องปั้นในแหล่งบ้านปะโอ เป็นเครื่องปั้นเนื้อดินมีสีค่อนข้างขาวไปจนถึงสีส้มนวลเนื้อค่อนข้างแข็งเนื่องจากเผาไฟแรงสูง งานที่ผลิตจากแหล่งนี้ ได้แก่ จานแบบ จานเชิง กระปุกหม้อ กุณฑี เป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นจานแบนและกระปุกไม่มีการตกแต่งตัวภาชนะ ส่วนภาชนะประเภทอื่นมีการตกแต่งตัวภาชนะด้วยการขูดขีดเป็นลายต่างๆ ทำลวดลายด้วยการเซาะเนื้อภาชนะเป็นร่อง หรือเขียนด้วยสีแดงเป็นเส้นรอบตัวภาชนะ หรือลายกดเป็นรูปลิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับหม้อ
ภาชนะที่เตาเผาแห่งนี้ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากคือ กุณฑี หรือกาน้ำรูปร่างกลม คอคอดสั้นปากผาย มีพวย ที่ก้นมีเชิงสำหรับให้ตั้งกับพื้นได้ที่ปากของกุณฑีบางใบทำขอบหยัก เพื่อความสวยงาม การตกแต่งที่ตัวภาชนะมีหลายแบบ เช่น เซาะร่องเนื้อภาชนะเป็นลวดลาย เขียนสีแดงเป็นเส้นรอบตัวภาชนะ ที่พวยนั้นนอกจากทำเป็นรูปกรวยแหลมแล้ว บางใบยังทำเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปเขาสัตว์ เป็นต้น